'อาทิตย์' ตั้งพรรคสังคมธรรมาธิปไตยทางเลือกที่ 3

'อาทิตย์' ตั้งพรรคสังคมธรรมาธิปไตยทางเลือกที่ 3

“อาทิตย์ อุไรรัตน์” ตั้งพรรคสังคมธรรมาธิปไตย ชวนประชาชนร่วมสนับสนุนทางเลือกที่ 3 มุ่งปฏิรูปโครงสร้างประเทศ ลดเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.62 นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Arthit Ourairat เชิญชวนประชาชน ที่เห็นด้วยกับอุดมการณ์และแนวทางการก่อตั้งพรรคสังคมธรรมาธิปไตย อยากให้พรรคการเมืองเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย และเชื่อมั่นว่าจะเป็นความหวังในการปฏิรูปประเทศไทยได้ โปรดเตรียมตัวเตรียมใจมาร่วมด้วยช่วยกันสร้างและก่อตั้งพรรคสังคมธรรมาธิปไตยของประชาชนให้เกิดขึ้นให้ได้

พร้อมกับเผยแพร่เนื้อหา อุดมการณ์ และแนวทางการก่อตั้งพรรค เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยระบุถึง หลักการและความสำคัญว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความผิดหวังให้แก่สาธารณชน ความเสียหายต่อประเทศชาติ และความขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างนาน โดยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงและขยายผลในมุมกว้างที่ยากจะเยียวยาได้ นำมาสู่ความถดถอยของประชาธิปไตย อันส่งผลกระทบต่อประชาชนพลเมือง ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมอย่างมีแก่นสาร ทั้งๆ ที่ประชาชนพลเมืองเป็นเจ้าของประเทศ และอำนาจอธิปไตยทั้งปวง

ดังนั้น ด้วยสถานการณ์การเมืองไทยที่ไม่สามารถหาทางออกให้กับประชาชนพลเมืองได้ จึงนำมาสู่ความจำเป็นที่จะต้องมี “พรรคทางเลือกที่สาม" (The Third Way Party) พรรคมวลชนที่เป็นพรรคทางเลือกที่สาม ระหว่างฝ่ายรัฐราชการอำนาจนิยม และฝ่ายเผด็จการรัฐสภา

โดยนายทุนเจ้าของพรรคการเมืองควรมีทัศนะและท่าทีต่อการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ชัดเจน คือ ทิศทางกระจายอำนาจ ต่อต้านการผูกขาด เพิ่มการมีส่วนร่วม และเพิ่มอำนาจประชาชน เป็นพรรคเชิงอุดมการณ์แบบสายกลาง ที่เน้นภาคปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม มีเหตุมีผล มองแบบบูรณาการ วิเคราะห์ปัญหาอย่างจำแนกแยกแยะ ไม่ตีขลุมเหมารวม ไม่ซ้ายตกขอบ ไม่ขวาสุดโต่ง สามารถเลือกใช้เครื่องมือ วิธีคิดแบบซ้ายและขวา ที่เหมาะสมกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทย และสามารถสร้างประโยชน์สุขให้กับประเทศชาติและประชาชนได้

คุณลักษณะพรรค เป็นพรรคการเมืองของประชาชนที่มุ่งปฏิรูปเชิงโครงสร้างประเทศไทย เพื่อลด “ความเหลื่อมล้ำ” และสร้าง “ความเป็นธรรมทางสังคม” และจรรโลงชาติบ้านเมืองให้เป็น “สังคมธรรมาธิปไตย” หรือ “ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรมและธรรมาภิบาล” เพื่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง

เป็นพรรคมวลชน (Mass Party) เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนพลเมืองและสมาชิกพรรคอย่างแท้จริง เชื่อมโยงกลุ่มประชาชนและกลุ่มปัญหาที่หลากหลาย ทำงานทั้งในสภา และนอกสภา เป็นพรรคที่เคลื่อนไหว ไม่ใช่เน้นแต่เลือกตั้ง เป็นพรรคที่เน้นภาคปฏิบัติการ ไม่ใช่ซ้ายตกขอบ หรือ ไม่ขวาสุดโต่ง

สำหรับอุดมการณ์พรรค ระบุว่า เป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มุ่งสร้างความเป็นธรรมในสังคมทุกมิติ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบ การปฏิรูปประเทศทุกด้าน บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนพลเมือง โดยมุ่งสู่สังคมธรรมาธิปไตย

1. เป็นสังคมที่กำกับด้วยหลัก “ธรรม” หรือ ศีลธรรม (Guided by Morality) และดำเนินการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) 2. เป็นสังคมที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของการเป็นพลเมืองเจ้าของประเทศ ด้วยองค์ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะของการเป็นพลเมืองที่รู้เท่ากัน และคิดเป็นแยกแยะเป็น 3. เป็นสังคมที่รักษาและพัฒนาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพและยั่งยืน (Environmental Quality) 4. เป็นสังคมที่เสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม (Social Justices) ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่างๆ ยกระดับให้เสมอเหมือนกันทั้งพื้นที่ และกลุ่มคนโดยไม่มีถิ่นฐานใดและกลุ่มผู้คนใดตกหล่น หรือถูกทอดทิ้ง (Social Equalization) 5. เป็นสังคมที่มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงและเป็นธรรม 6. เป็นสังคมที่ปราศจากความกลัวและการบิดเบือนข้อเท็จจริง

อุดมการณ์พรรคสังคมธรรมาธิปไตย ระบุว่า จะสร้างสรรค์สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ดังนี้

1.มิติด้านสังคม = สังคมสวัสดิการเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน (productive walfare)
2.มิติด้านการเมือง = เป็นการเมืองธรรมาธิปไตย ที่กำกับด้วยคุณธรรม ศีลธรรมและธรรมาภิบาล 3.มิติด้านเศรษฐกิจ = เป็นเศรษฐกิจเสรีและเป็นธรรม ลดการผูกขาด มุ่งแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

สำหรับภารกิจเร่งด่วน ภารกิจในระยะกลาง และภารกิจในระยะยาว ระบุว่า ภารกิจเร่งด่วน เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน แก้ไข ยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมผลักดันให้เกิดความสมานฉันท์ ปรองดองของประชาชนในชาติ โดยใช้กระบวนการยุติธรรมและหลักนิติรัฐ ภารกิจในระยะกลาง (2-3 ปี) เสนอรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เป็นรัฐธรรมนูญที่รองรับหลักการธรรมาธิปไตยทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

ภารกิจในระยะยาว แสวงหาแนวทางใหม่ ที่เหมาะสมกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทยที่ก้าวข้ามแนวทางลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต่อสู้กับปัญหาสภาวะโลกร้อนและปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง ยกตัวอย่างเช่น “ลูกผสมระหว่าง หลักปรัชญาธรรมาธิปไตย ระบอบสังคมธรรมาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข + แนวคิดเรื่องทุนนิยมก้าวหน้า (progressive capitalism) ที่เสนอโดย นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง Joseph E. Stiglitz”

ทั้งนี้ นโยบายหลัก ยังระบุด้วยว่า เศรษฐกิจเสรีและเป็นธรรม กำจัดการผูกขาดทุกรูปแบบ ขยายโอกาส และทำลายอุปสรรคที่ขัดขวางการประกอบอาชีพของประชาชน อำนาจประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน เพื่อการตรวจสอบและเสนอกฎหมาย ปฏิรูปการเมือง : ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจด้วยการกระจายอำนาจ การบริหาร การปกครองสู่ท้องถิ่น ปฏิรูปสังคม : ขยายสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะการศึกษาและสาธารณสุข พรรคทันสมัย ใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการสร้างงานและขยายฐานมวลชน ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.นายอาทิตย์ ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมือง หลังมีข่าว ครม.ใหม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณสมบัติ โดยระบุว่า “งานการเมืองเป็นงานมีเกียรติสูงส่ง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของบ้านเมืองและชีวิตประชาชน นักการเมืองต้องเป็นคนดีสูงส่ง ไม่คิดชั่ว ประพฤติชั่ว และมีจิตอาสาบริสุทธิ์เพื่อเข้ามารับใช้บ้านเมืองและประชาชน พวกมาเฟีย มิจฉาชีพ และผู้ไม่มีความสามารถ ไม่ซื่อสัตย์สุจริตต้องไม่มีสิทธิ์มาทำงานการเมือง ผู้ที่เคยต้องโทษ แม้ได้รับอภัยโทษหรือนิรโทษจากการทำผิด หากความผิดนั้นเป็นความชั่ว ก็ยังต้องถือว่าผู้นั้นเป็นคนชั่ว ที่ไม่มีสิทธิ์มารับใช้ทางการเมือง นอกจากศาลยอมรับว่าเป็นการตัดสินที่ผิดพลาดและไม่ยุติธรรม ผู้ที่ยินยอมให้นำคนชั่วเข้ามาทำงานการเมืองต้องรับผิดชอบและมีความผิดด้วย”

นอกจากนี้ ยังโพสต์ภาพ สมัยเป็นประธานรัฐสภา ภาพปราศรัยหาเสียงท่ามกลางประชาชนจำนวนมาก และล่าสุด วันที่ 16 ก.ค.โพสต์ข้อความระบุถึง คสช.ว่า “วันนี้ ปชช.ทำบุญใหญ่ ที่วัดทุกวัดฉลอง คสช.” รวมถึงข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตือนฝ่ายค้านเรื่องการอภิปรายนโยบายรัฐบาลว่า ”ลืมไปว่า ยุติ คสช.แล้ว คิดว่ายังมี ม. 44"

ทั้งนี้เส้นทางการเมือง นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เคยเป็นอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รมว.สาธารณสุข รมว.การต่างประเทศ อดีตรองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม เคยได้ฉายา “วีรบุรุษประชาธิปไตย” จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ขณะเป็นประธานสภาฯ ได้เสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีแทน พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ที่ถูกมองว่า จะเข้ามาสืบทอดอำนาจรัฐบาล รสช.