"สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ท้าคลื่นดิจิทัล นำทัพ "เอไอเอส" ยืนหนึ่งโทรคมไทย

"สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ท้าคลื่นดิจิทัล นำทัพ         "เอไอเอส" ยืนหนึ่งโทรคมไทย

เอไอเอสเป็นเบอร์ 1 ไม่ใช่เพราะเงินหรือเทคโนโลยีแต่เป็นเพราะ “คน”

เอไอเอส เผยยุทธศาสตร์รั้งเบอร์ 1 โทรคมไทย เดินมาถึงวันนี้ไม่ใช่เพราะ “เงิน” หากคือการพัฒนา “ทักษะ” คนในองค์กร จนสามารถกุมหัวใจลูกค้าได้มากถึง 41 ล้านคน ครอบครองความถี่สินทรัพย์ล้ำค่ามากที่สุดถึง 140 เมกะเฮิรตช์ ทำกำไรสุทธิปีละกว่า 20,000 ล้านบาท จากนี้ขอทุ่มงบเดินหน้าปั้นคนในองค์กรสู่ทักษะอัจฉริยะ พร้อมวางกลยุทธ์เข้ม ดันทุกธุรกิจเติบโตในภาพของ “ดิจิทัล เซอร์วิส โพรวายเดอร์” ย้ำ 5จี คือ จุดเปลี่ยนโทรคมไทย

1 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซีอีโอลูกหม้อที่อยู่กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) มายาวนานอย่าง “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” นั่งเก้าอี้กุมบังเหียนบริหารงานในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารครบ 5 ปีแล้ว ในวัย 57 ปี เป็นช่วงของการผลัดใบเทคโนโลยีจากอนาล็อกสู่ “ดิจิทัล” โดยสมบูรณ์ แน่นอนว่า เรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม คือ คลื่นความถี่ ที่ต้องควบคู่ไปกับการทรานฟอร์มองค์กรรับพายุดิจิทัลที่โหมซัดทุกธุรกิจ เอไอเอสที่มีพนักงานมากถึง 12,000 คนไม่ใช่เรื่องง่ายในการบริหารจัดการ หาก "ซีอีโอ" ผู้นี้พร้อมลงทุนยกระดับทักษะทั้ง 12,000 คนให้เข้าสู่โลกดิจิทัลให้ได้เร็วที่สุด จนกล้าพูดได้ว่าเอไอเอสยุคนี้ให้ความสำคัญเรื่อง “คน” มาเป็นอันดับ 1

ความถี่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

"สมชัย" ให้สัมภาษณ์พิเศษ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงยุทธศาสตร์เอไอเอสที่ยังยืนหนึ่งถือครองคลื่นความถี่มากที่สุดในตลาด เขา กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ ไล่เรียงมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วทั้งย่าน 900 180 และ 700 เมกะเฮิรตซ์ล่าสุด ทำให้ผู้ประกอบการมีทรัพยากรในการบริหารจัดการได้ดีขึ้น แต่ในความเห็นส่วนตัวของเขากลับมองว่า

"คลื่นความถี่เป็นเพียงแค่ปัจจัยเดียวในการดูแลลูกค้าของเอไอเอส"

เนื่องจากยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น บริษัทอยู่ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีที่เชี่ยวกราก ผู้ประกอบการบางรายอาจมีซัพพลายเออร์ช่วยบริหารจัดการคลื่นความถี่ วางตำแหน่งเสาสถานีฐาน แต่เอไอเอสทำมากกว่านั้น มีทีมงานที่ทำวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ร่วมกับซัพพลายเออร์เองโดยตรง มั่นใจว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่นไม่มีตรงนี้ ซึ่งมากกว่าเรื่องคลื่นความถี่ เรื่องเทคโนโลยี สิ่งที่เอไอเอสให้สำคัญมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เรื่อง คน

"ผมเคยพูดอยู่ตลอดว่า เอไอเอสเราเป็นเบอร์ 1 ไม่ใช่เพราะเงิน ไม่ใช่เพราะเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคนของเรามีคุณภาพ"

1 ก.ค.ที่ผ่านมา สมชัย ครบรอบอยู่ในตำแหน่งมา 5 ปี เขาบอกว่า อยากพัฒนาทักษะเชิงลึกให้พนักงานตั้งแต่ในปีแรก แต่ยอมรับใน 2 ปีแรกทำได้ยาก เพราะช่วงนั้นวุ่นกับการมีคลื่นไม่มีคลื่น คลื่น 900 ที่เคยอยู่ในสัมปทานจะสิ้นสุดลง การปิดระบบสัมปทาน การเข้าประมูลคลื่น จนถึงเมื่อเข้าปีที่ 3 เมื่อเริ่มลงตัว จึงหันมาทำเรื่องคนอย่างจริงจัง

"มีการเชิญวิทยากรระดับโลกมาเทรนนิ่งพนักงาน จัดเอไอเอส ดิจิทัล ฟอร์ ไทย มีหลักสูตร ACT ซึ่งผมว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะนอกจากสินค้าและบริการต้องดี พนักงานต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด องค์กรถึงจะอยู่ได้”

สร้างวัฒนธรรมภายในใหม่

สมชัย กล่าวว่า การพัฒนาองค์กรให้อยู่ได้นั้น พนักงาน 12,000 คนถือเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ผ่านมา เอไอเอสจึงได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาใหม่เรียกว่า FIND U ประกอบด้วย F คือ Fighting Spirit เทคโนโลยีทำให้โลกเปลี่ยนเร็ว I คือ Innovation ต้องสร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรมใหม่ เพราะคู่แข่ง ก็จะคิดแบบเรา ดังนั้นจะชนะได้ต้องมีความแตกต่าง

N คือ New Ability คนที่เคยเก่งอยู่แล้วจำเป็นต้องมีการหาความรู้ ความสามารถอื่น ๆ เพิ่มเติม หรือ การสร้างทักษะในเชิงลึกให้มากขึ้น และ D คือ ดิจิทัลไลฟ์ สินค้าทุกอย่างที่เรามี บริการที่ทำ คนในองค์กรต้องหัดใช้เองด้วย และพนักงานต้องมี DQ – Digital Intelligence หรือ ความอัจฉริยะทางเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ในอดีตที่มีตัวชี้วัดอย่าง IQ หรือ ความอัจฉริยะทางสติปัญญา และ EQ หรือ ความอัจฉริยะทางอารมณ์ ส่วน U คือ Sense of Urgency มีความตระหนักในความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลง

"ในโลกของดิจิทัลต้องมี 3 อย่าง 1.บิ๊ก ดาต้า เราต้องรู้จักลูกค้าเรา ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ฉะนั้น ดาต้าหรือข้อมูลสำคัญมาก 2.ต้องมีความแตกต่างด้วยอินโนเวชั่น และ 3.ต้องรวดเร็ว องค์กรที่จะแพ้ชนะวัดกันที่ความรวดเร็วในการทำ"

เชื่อ 5จี มาแน่แต่มาปี 64

สมชัย เชื่อว่า ถ้าจะอยู่ให้รอดในโลกยุคดิจิทัล ต้องมีข้อมูลมีความคิดสร้างสรรค์และความเร็ว แต่ความเร็วในที่นี้ต้องมาถูกที่ถูกเวลา

"เอไอเอสเป็นคนบอกเองว่า ประเทศไทยเราตกขบวน 3จี ผ่านมาสู่ 4จี ล่าช้าไปกว่าประเทศอื่นมากกว่า 10 ปี แต่ในเรื่อง 5จี เราจะล่าช้าได้ หากตัดสินใจลงทุนเร็วเกินไป ในเมื่อขณะนี้ ยังไม่มียูสเคสที่เห็นได้เป็นรูปธรรม ซึ่ง 5จี ต้องอาศัย 3 ปัจจัยที่ต้องกำหนดเป็นมาตรฐานสากล คือ ความเร็ว , ความหน่วง และการใช้งานในวงกว้าง ในความเห็นส่วนตัวมองว่า 5จีจะเป็นจุดเปลี่ยนให้แก่อุตสาหกรรมอีกครั้งในบรรดาผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย แต่ 5จีจะมาไทยอย่างเร็วคือปลายปี 2564"

สร้างสมดุลในพอร์ตรายได้

สมชัย กล่าวว่า จากการเปลี่ยนผ่านมาซึ่งเห็นได้ชัดในยุค 4จี การรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วเป็นกิกะบิต การบริโภคคอนเท้นต์ ไลฟ์สด วีดีโอสตรีมมิ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรของเอไอเอสยังมั่นคง ในระดับกำไรสุทธิปีละกว่า 20,000 ล้านบาท ด้วยการให้ใช้หลัก อีโคโนมี ออฟ สเกล ซึ่งวันนี้ผลประกอบการมากกว่า 80% ของเอไอเอสยังมาจากรายได้จากโทรศัพท์มือถือ

ขณะที่ 15% มาจากฟิกซ์ บรอดแบนด์ ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านในแบรนด์ “เอไอเอส เพลย์ บ็อกซ์” ซึ่งเปิดให้บริการมา 3 ปีแล้ว ตั้งเป้ามีลูกค้าครบ 1 ล้านรายสิ้นปีนี้ ร่วมกับการขายโซลูชั่นให้กลุ่มลูกค้าองค์กร และสุดท้าย 2-5% มาจากรายได้จากคอนเทนต์ รวมถึงบริการเสริมต่างๆ ซึ่งในระยะสั้นหัวใจหลักยังคงเป็นธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ส่วนระยะกลางจะพยายามดึงรายได้จาก 2 ส่วนหลังให้ขึ้นมา และระยะยาวภายใน 3-5 ปีข้างหน้า รายได้จากบริการโทรศัพท์มือถือและบริการอื่นๆ จะมีสัดส่วนที่ 50-50% เท่ากัน

สมชัย ทิ้งท้ายว่า ภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมในไทยปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการเพียง 3 รายก็ดูลงตัวแล้ว เพราะในต่างประเทศพิเสูจน์แล้วว่าการมีผู้ประกอบการมากรายไม่ได้สร้างผลดีต่อภาพรวมของตลาด