ดร. ธรณ์ เรียกร้องกรมประมงตามหาเรือประมงจับปลาโลมา สัตว์คุ้มครอง

ดร. ธรณ์ เรียกร้องกรมประมงตามหาเรือประมงจับปลาโลมา สัตว์คุ้มครอง

ระบุการติดอวนของสัตว์ทะเลเป็นปัญหาระดับโลก และประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาผ่านกฏหมายคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ที่มีโทษสูงขึ้น

ดร. ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวเรียกร้องให้กรมประมงทำการสืบเสาะหาเรือประมงที่จับปลาโลมานับฝูง หลังมีการเผยแพร่คลิปผ่านเฟสบุ๊คของผู้ประกาศข่าวชื่อดัง โดยกล่าวว่า กรมประมงคงต้องเริ่มจากการตามหาว่า เป็นเรือลำไหน และเกิดเหตุการณ์เมื่อใด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเลเชื่อว่าระบบที่มีอยู่หลังจากมีการแก้ปัฐหา IUU น่าจะช่วยได้ 

จากนั้น กรมควรพิจารณาดำเนินการต่อไปตามกฏหมาย ทั้งนี้ มีการสันนิษฐานว่าเรือประมงลำดังกล่าวอาจเป็นเรือประมงไทย

“เป็นคลิปที่ดูแล้วสงสารโลมาใจจะขาด เมื่อโลมาทั้งฝูงติดอวนปลาโอ” ดร.ธรณ์กล่าว

ดร. ธรณ์กล่าวว่า  เมื่อดูจากคลิปในเบื้องต้น ไม่คิดว่า เป็นการตั้งใจจับโลมา แต่ปลาอาจจะติดมากับอวนมากกว่า

โดย ดร.ธรณ์กล่าวว่า ปกติแล้ว โลมามักมาไล่กินปลาตามอวนเป็นประจำ โดยเฉพาะอวนล้อมจับปลาผิวน้ำ เช่น ปลาโอ ทูน่า จนกลายเป็นปัญหาระดับโลก โดยป้ายปลากระป๋องที่วางขายต่างประเทศ จะเขียนไว้ว่า dolphin safe เพื่อยืนยันว่า เป็นการจับปลาภายใต้การควบคุมดูแลขององค์กรอิสระ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่า จะไม่ทำอันตรายโลมาเลย แต่เป็นการบรรเทาและมีการควบคุม)

โดยปกติ เมื่อมีโลมาติดอวนขึ้นมา จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทางเรือ ซึ่ง

หากให้ความสำคัญกับสัตว์ ก็จะรีบปล่อย แต่ถ้าในกรณีที่ยังเป็นห่วงปลาที่จับได้ ก็อาจค่อยหาทางภายหลัง

ซึ่งในคลิปที่เห็น โลมาหลายตัวอยู่ในสภาพที่บอบช้ำ หรือบางตัวอาจใกล้ตาย หรือตายแล้ว ดร. ธรณ์กล่าว

ดร. ธรณ์กล่าวว่า ในทางกฎหมาย โลมาทุกชนิดถือเป็นสัตว์คุ้มครอง และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ปี พ.ศ. 2562 มีบทลงโทษที่รุนแรงมากกว่าเดิม

กรมประมงเองก็มีการออกประกาศ “สัตว์ห้ามนำขึ้นเรือประมง” ซึ่งรวมโลมาอยู่ด้วย ซึ่งมีข้อยกเว้นในกรณีจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิต ดร. ธรณ์กล่าว

“มีชาวประมงมากมายที่พร้อมดูแลทะเลไทย พวกพี่ๆ เหล่านั้นช่วยเราได้เยอะมากจริงๆและยังอยากบอกชาวประมงส่วนน้อยว่า ตอนนี้ในเมืองไทยผิดไปจากเดิม คนไทยให้ความสำคัญกับทะเลมากมาย กฎหมายรุนแรง ระบบตรวจสอบดีขึ้น รวมถึงกระแสสังคม อยากให้มาช่วยกันดูแลทะเล เมื่อถึงเวลาต้องเลือก บางครั้งการเลือกปลาก่อนสัตว์หายาก อาจทำให้เกิดผลอย่างคาดไม่ถึง” ดร. ธรณ์กล่าว

การติดอวนของสัตว์ทะเลและการนำสัตว์ขึ้นเรือประมงมีรายงานอยู่เป็นระยะ โดยในปีที่แล้ว เกิดกรณีเรือประมงจังหวัดภูเก็ตได้นำฉลามวาฬที่จับได้ขึ้นเรือ ก้อนถูกถ่ายภาพวีดีโอเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียก่อนถูกตามจับและแจ้งความดำเนินคดีโดยกรมประมงในที่สุด

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่า ข้อมูลและการศึกษาเกี่ยวกับปลาในอันดับวาฬและโลมาในประเทศไทยยังมีอยู่น้อยมาก ในขณะที่มีการทำประมงเข้มข้น และกำลังถูกวิจารณ์อย่างมากว่ากิจกรรมดังกล่าวและสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลกระทบต่อประชากรสัตว์ทะเล ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ “จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ถูกต้องในการนำไปวิเคราะห์ถึงปัญหาและผลกระทบอันเกิดจากการประมงหรือการอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ”

จากข้อมูล ทช. ที่มีอยู่ย้อนหลังประมาณ 10 ปี พบว่า พบปลาวาฬและโลมาทางฝั่งอ่าวไทยรวม 19 ชนิด และทางฝั่งอันดามัน 22 ชนิด จากทั้งสิ้น 25 ชนิด โดยจำนวนประชากรที่สำรวจพบมีตั้งแต่ 100-300 ตัว

ล่าสุด ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมงปัตตานี ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า เรือลำดังกล่าว เป็นเรือประมงไทยที่ได้ขอยกเลิกทะเบียนเรือและเพิกถอนทะเบียนเรือไทย เมื่อปี พ.ศ. 2560 เพื่อทำการซื้อขายให้กับประเทศมาเลเซีย โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้เจ้าของใหม่ประเทศมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว ตามหลักฐานจากกรมเจ้าท่าภูมิภาค สาขาปัตตานี และได้เดินทางออกจากท่าปัตตานี และได้รับหมายเลขทะเบียนเรือมาเลเซียเป็นที่เรียบร้อย

ข้อมูลเรือเข้าออกจากท่าและทำการประมงในน่านนำ้ไทยหรือ Port In Port Out ที่รายงานไว้กับศูนย์ฯ ระบุว่า การเข้าออกจากท่าของเรือดังกล่าวครั้งหลังสุดเกิดขึ้นใน ปี พ.ศ 2559

กรมประมงยังไม่มีการชี้แจงอย่างเป็นทางการ

ภาพ: เพจ อนุวัต จัดให้