จับเข่าคุยสมัชชาการศึกษาแดนใต้

จับเข่าคุยสมัชชาการศึกษาแดนใต้

"สกศ." จับเข่าคุยสมัชชาการศึกษาแดนใต้ สะท้อนปัญหาท้องถิ่นถึงรัฐบาลเร่งเพิ่มบทบาท 'ประชาสังคม' ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี-แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

วันนี้ (15 ก.ค. 62) ที่โรงแรมแก้วสมุยรีสอร์ท จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ลงพื้นที่จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) การศึกษาวิเคราะห์แนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคประชาชน/ผู้มีส่วนได้เสียตามร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... โดย นายสำเนา เนื้อทอง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สกศ. เป็นประธานการประชุมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายสากล ขวัญทอง ผู้ทรงคุณวุฒิองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุราษฎร์ธานี ดร.สมพร เพชรสงค์ กรรมการสมัชชาการศึกษาจังหวัด สุราษฎร์ธานี รวมทั้งผู้บริหารการศึกษา ผู้แทนสถานศึกษา ผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้แทนสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เครือข่ายสมัชชาการศึกษาจังหวัดพื้นที่ภาคใต้

นายสำเนา กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ยังอยู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่มีความชัดเจนว่าแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580) และเชื่อมโยงกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา อย่างไรก็ดี การปฏิรูปการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานตามแนวทางดังกล่าว จำเป็นต้องมีกลไกสนับสนุนการปฏิรูปที่สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนได้ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานหลักภาครัฐ เช่น คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ในแต่ละจังหวัดให้เชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานนอกภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน กลไกการทีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อออกแบบการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของจังหวัด ในหลายรูปแบบตามบริบทของพื้นที่ โดยบางจังหวัดก็ถูกจัดตั้งขึ้น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นเจ้าภาพสำคัญในการประสานความร่วมมือกับภาคีอื่นในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม เอกชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อให้เกิดคณะทำงานหรือกลไกทำงานในระยะเริ่มต้นได้
"กลไกความร่วมมือ หรือสมัชชาการศึกษาจังหวัดนี้เป็นหนึ่งในกลไกการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีบัญญัติไว้เป็นส่วนหนึ่งในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ในมาตรา 18

โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ต้องการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วมและเครือข่ายสมัชชาการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อใช้เป็นแนวทางปรับปรุงข้อกฎหมาย และรายงานข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลใช้พิจารณาพัฒนานโยบายการศึกษาชาติให้มีความสอดคล้องกับความต้องการด้านการศึกษาที่แท้จริงของท้องถิ่น" นายสำเนา กล่าว

นายสากล ขวัญทอง ผู้ทรงคุณวุฒิอบจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดตั้งขึ้นโดยการริเริ่มของ อบจ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี 2555 เพื่อระดมความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพครู สถานศึกษาและดูแลเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ ที่มีแผนขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาระยะ 5 ปี ประการสำคัญยังพยายามผลักดันหลักสูตร "พุทธทาส" เป็นหลักสูตรแกนกลางของจังหวัด มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับในการเสริมเป็นวิชาหลักสูตรพุทธทาสศึกษาที่มีในสถานศึกษากว่า 200 แห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เชื่อว่าภายหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ทุกภาคส่วนจะเข้ามามีบทบาทการจัดการศึกษามากขึ้น

ด้าน นายสมพร เพชรสงค์ กรรมการสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การมีส่วนร่วมจากเครือข่ายสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขับเคลื่อนอัตลักษณ์พุทธทาสภิกขุให้เป็นความโดดเด่นของคนสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาชีพจะสร้างอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคม ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งปรับระบบการจัดการศึกษารองรับการสร้างอาชีพใหม่ด้วย การเติบโตของภาคประชาสังคม และการบูรณาการระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน จึงเป็นการเปิดช่องทางและสร้างโอกาสเข้าถึงการพัฒนาระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล

สำหรับการประชุมกลุ่มย่อย จำนวน 2 กลุ่ม ที่มีการแบ่งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ที่มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับการปฏิรูปการศึกษาในระดับจังหวัดจะช่วยเอื้อให้มีการบูรณาการทำงานระหว่างทุกภาคส่วน ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากกระบวนการทำงานแบบปกติที่แต่ละส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในพื้นที่จะทำงานโดยมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งประกอบด้วย ความต้องการและเป้าหมายที่หลากหลายและซับซ้อน โดยให้ข้อมูลเสนอแนะจากความต้องการของเด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ สกศ. จะเร่งสรุปข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จัดทำข้อเสนอแนะทางวิชาการรายงานต่อเลขาธิการสภาการศึกษาต่อไป