ย้ำลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทยในเวทีสหประชาชาติ

ย้ำลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทยในเวทีสหประชาชาติ

คณะผู้แทนประเทศไทยนำเสนอผลงานการจัดตั้ง กสศ. ในที่ประชุมสหประชาชาติ ย้ำเป็นความก้าวหน้าของไทยในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. ในฐานะผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูง ว่า ด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (2019 High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF 2019) ระหว่างวันที่ 9-18 ก.ค. 62 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

การประชุมHLPF เป็นการประชุมประจำปีที่สหประชาชาติจัดขึ้นเพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้ร่วมทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) นับแต่ผู้นำประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยได้ร่วมรับรองวาระดังกล่าวเมื่อเดือน ก.ย. 58 โดยในปีนี้มีหัวข้อหลักคือการเสริมสร้างพลังประชากรทุกกลุ่มผ่านการพัฒนาที่ทั่วถึงและอย่างเสมอภาค (Empowering people and ensuring inclusiveness and equality) และมีการทบทวนความคืบหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เชิงลึกที่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการลดความเหลื่อมล้ำ (SDG10)

น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวต่อว่า คณะผู้แทนประเทศไทยได้กล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทยในเวทีหารือทางการเมืองระดับสูง ว่า ด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF 2019) ทั้งในรอบการประชุมรายงานความก้าวหน้าในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) โดยน.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้กล่าวรายงานความก้าวหน้าของประเทศไทยในการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม สนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และในการประชุมรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการลดความเหลื่อมล้ำ (SDG10) โดย นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงานความก้าวหน้าในการลดความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆของประเทศไทย เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนวาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยปี 2030 ที่จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง รวมทั้งความก้าวหน้าของการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษาและการลดความความเหลื่อมล้ำที่เป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้น เมื่อปี 2561

โดยคณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้รายงานแก่ที่ประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF 2019) ว่า รัฐบาลไทยได้จัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้น จากข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตามบทบัญญัติของมาตรา 54 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส20 %ท้ายสุดของประเทศ

S__11853857

นอกจากนั้นคณะผู้แทนประเทศไทยได้นำส่งรายงานวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ถึงผลงานความก้าวหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านต่างๆ ที่ถึงครบกำหนดรายงานในปีนี้ โดยในการรายงานตามเป้าหมายที่ 4 (SDG4) การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมและสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้มีการรายงานผลการดำเนินงานในปีแรกของ กสศ. ใน 2 ประเด็นสำคัญได้แก่ 1) ปีการศึกษา 2561 นับเป็นครั้งแรกของไทยในการปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณด้วยหลักความเสมอภาค ด้วยมาตรการการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (CCT) ให้ตรงตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง พร้อมกำหนดเงื่อนไขที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) เช่น อัตราการมาเรียน และดัชนีมวลกาย โดยใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) ในการชี้เป้าและติดตามกลุ่มเป้าหมายที่แม่นยำและใช้นวัตกรรมการคัดกรองนักเรียนยากจนด้วยระบบ Proxy Means Tests: PMT พบนักเรียนยากจนระดับก่อนประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้น ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. อปท. และ ตชด. ประมาณ 2 ล้านคนทั่วประเทศและจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ 600,000 คน คิดเป็น 30%ของนักเรียนยากจนทั้งหมด เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กเยาวชนวัยเรียน ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาค และเพิ่มอัตราการเข้าเรียนสุทธิระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของประชากรเด็กเยาวชนในประเทศไทยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4)

2) ไทยยังคงให้ความสำคัญกับการนำเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคันให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษาเชื่อมกับฐานข้อมูลเลขประจำตัว 13 หลัก เพื่อให้สำรวจเด็กตกหล่นจากฐานข้อมูลผู้เรียนทั้งในและนอกระบบที่มีกว่า 15 ล้านคน และส่งข้อมูลให้หน่วยงานในพื้นที่ติดตามและนำเด็กตกหล่นกลับสู่ระบบการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม การขยายผลการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษในในโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนพระปริยัติธรรม รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำต้นแบบการสนับสนุนทุนเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา อาทิทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ร่วมกับ 36 สถานศึกษาสายอาชีพใน 26 จังหวัด ให้เยาวชนจากครัวเรือนที่ยากจนได้เรียนต่อประกาศนียบัตรสายอาชีพชั้นสูงมากกว่า 2,000 คน ระบบต้นแบบการพัฒนาทักษะแรงงานด้อยโอกาส ให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่และแรงงานฝีมือโดยใช้ชุมชนเป็นฐานนำร่องใน 50 พื้นที่ทั่วประเทศ และทุนครูรุ่นใหม่สำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ปีละ 300 คน ต่อเนื่อง 5 ปี  

การเข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF 2019) นี้จึงเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมสร้างความร่วมมือระดับโลกในการนำพาให้ไทยและประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.