เอกชนจี้เพิ่มสิทธิบีโอไอ

เอกชนจี้เพิ่มสิทธิบีโอไอ

สกพอ.นัดถกบีโอไอ ขยายสิทธิประโยชน์ลงทุนอีอีซี หลังหมดอายุ ธ.ค.นี้ พร้อมปรับปรุงมาตรการให้ตรงความต้องการนักลงทุนมากขึ้นดับบลิวเอชเอ ชี้มาตรการบีโอไอดันไทยผู้นำด้านลงทุนอาเซียน โรจนะแนะขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมสวนอุตสาหกรรม

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมารลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะหารือกับบีโอไอ พิจารณาต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จากกำหนดเดิมที่เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.2561 และสิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.2562

ทั้งนี้ บีโอไอจะพิจารณาต่ออายุมาตรการส่งเสริมในอีอีซีต่อไปแบบมีกรอบเวลา เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนรีบเข้ามาลงทุนในอีอีซี รวมทั้งจะมีการหารือปรับปรุงมาตรการส่งเสริมให้มีความเหมาะสมในอีอีซีมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนอีอีซี ได้รับการตอบรับจากนักลงทุน เห็นได้จากหลังมีประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนอีอีซีวันที่ 31 ม.ค.2561 ทำให้ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้นมาก

เอกชนจี้เพิ่มสิทธิบีโอไอ

ปี 2561 มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 683,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 137% แบ่งเป็น จ.ชลบุรี 576,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 781% จ.ฉะเชิงเทรา 48,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% และ จ.ระยอง 58,700 ล้านบาท ลดลง 68%
ส่วนในไตรมาส 1 ปี 2562 (ม.ค.-มี.ค.) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 75,054 ล้านบาท ลดลง 55% เพราะเป็นช่วงต้นปีนักลงทุนยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่รายจังหวัดจะเห็นการเพิ่มขึ้นที่โดดเด่น โดย จ.ระยอง มีมูลค่า 17,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 250% จ.ฉะเชิงเทรา 4,850 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% ขณะที่ จ.ชลบุรี มีมูลค่า 52,401 ล้านบาท ลดลง 67%

“ดับบลิวเอชเอ”หนุนต่ออายุ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และคลังสินค้าขนาดใหญ่ในอีอีซี กล่าวว่า เห็นด้วยที่บีโอไอจะต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี เพราะเป็นมาตรการที่ดึงดูดการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมาก โดยการพบปะกับผู้บริหารแอร์บัส มองว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ทำให้ไทยกลับมาเป็นผู้นำที่โดดเด่นในอาเซียนเป็นแรงกระตุ้นให้อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

“มาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในอีอีซีเหมาะสมดี จึงควรขยายเวลาเพิ่ม ซึ่งมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ต่างชาติมาลงทุนในไทยมาก ส่วนการทำงานของ สกพอ.ที่ผ่านมาอาจติดขัดปัญหาบ้าง เพราะเป็นหน่วยงานใหม่แต่หลังจากนี้การทำงานจะเดินหน้าเร็วขึ้น”

จี้เพิ่มสิทธิลงทุนสวนอุตฯ

นายชัยพล พรพิบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายสงเสริมและพัฒนาธุรกิจ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ควรปรับปรุงขอบเขตของการให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมสวนอุตสาหกรรมด้วน เพราะที่ผ่านมาให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนเฉพาะในพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และนิคมอุตสาหกรรมเอกชนที่ร่วมดำเนินงานกับ กนอ.

ในขณะที่สวนอุตสาหกรรม ดำเนินงานลักษณะเดียวกันกับนิคมอุตสาหกรรม ผ่านขั้นตอนการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และมีมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐานทุกอย่าง แต่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในมาตรการส่งเสริมอีอีซี

“ที่ผ่านมาการตั้งนิคมฯ ใช้เวลามาก บางครั้งไม่ทันต่อความต้องการของภาคเอกชนที่เร่งมาลงทุน ทำให้ผู้พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมหลายรายหันไปสร้างเป็นสวนอุตสาหกรรมแทน รวมทั้งการเข้าร่วมเป็นนิคมฯ ต้องเสียสัดส่วนรายได้จากระบบสาธารณูปโภคให้ กนอ.แต่ปัจจุบัน กนอ.ปรับปรุงการทำงานให้เร็วมากขึ้น รวมทั้งการขอใบอนุญาตผ่านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จของ กนอ.ทำให้ได้รับความรวดเร็วและลดต้นทุนการดำเนินงาน ทำให้การเข้ามาร่วม กนอ.ตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์มากขึ้น”

“โรจนะ”ดัน3นิคมฯใหม่

ทั้งนี้ โรจนะเร่งปรับตัว โดยปัจจุบันมีสวนอุตสาหกรรม 6 แห่ง ได้เตรียมนำสวนอุตสาหกรรม 3 แห่ง ในอีอีซีเข้าร่วมดำเนินงานกับ กนอ.เพื่อปรับเป็นนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมหนองใหญ่ สวนอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และสวนอุตสาหกรรมบ้านค่าย จ.ระยอง โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกัน กนอ.ตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) แล้ว ส่วนสวนอุตสาหกรรมบริษัทอื่นในอีอีซีหลายแห่งเตรียมปรับตัวไปเป็นนิคมอุตสาหกรรมเช่นกัน

ทั้งนี้ มีสวนอุตสาหกรรมในอีอีซีหลายแห่งที่ตั้งมานาน และทำถูกกฎหมายมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็ควรจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษเหมือนกับนิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี เพื่อให้สวนอุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดการลงทุน

นอกจากนี้ สกพอ.และบีโอไอ ควรขยายพื้นที่อีอีซี ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนขยายไปจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.ปราจีนบุรี เพราะมีนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรมหลายแห่ง ซึ่งการขยายพื้นที่อีอีซีจะเพิ่มโอกาสดึงดูดการลงทุนมากขึ้น


ยกเว้นภาษีสูงสุด13ปี

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในอีอีซี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ (อีอีซีไอ, อีอีซีดี และอีอีซีเอ) ในกิจการเป้าหมาย ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเพิ่ม 10 ปี เป็น 13 ปี

กิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีฯ 8 ปี จะเพิ่มเป็น 12 ปี และกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีฯ 5 ปี เพิ่มเป็น 7 ปี บวกเพิ่มลดหย่อน 50% อีก 5 ปี และกิจการที่ให้การส่งเสริมในอีอีซี แต่ไม่ใช่กิจการเป้าหมาย จะได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานบวกเพิ่มลดหย่อนภาษีฯ 50% เป็นเวลา 3 ปี

2.เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในส่วนของกิจการเป้าหมายได้สิทธิประโยชน์จากเดิมที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ปี เพิ่มเป็น 12 ปี กิจการอื่นที่ได้รับการยกเว้นภาษี 5-8 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีฯ 50% เป็นเวลา 5 ปี และกิจการที่ส่งเสริมในอีอีซีแต่ไม่ใช่กิจการเป้าหมายได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐาน บวกเพิ่มลดหย่อนภาษีฯ 50% เป็นเวลา 3 ปี

3.นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในอีอีซี กิจการที่ได้รับการส่งเสริมในอีอีซี เดิมได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ปี เพิ่มเป็น 11 ปี กิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษี 5-8 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีฯ เพิ่ม50% เป็นเวลา 3 ปี