ปูพรม 33 จุด ตรวจค้นกวาดล้างแหล่งผลิตและจำหน่ายยาลดอ้วนมรณะ

ปูพรม 33 จุด ตรวจค้นกวาดล้างแหล่งผลิตและจำหน่ายยาลดอ้วนมรณะ

อย. ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดปฏิบัติการ “ยุทธการฟ้าสาง” ปูพรม 33 จุด ตรวจค้นกวาดล้างแหล่งผลิตและจำหน่ายยาลดอ้วนมรณะ

วานนี้ (14 กรกฎาคม 2562) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สืบเนื่องมาจากคดีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน “ลีน” เมื่อปี 2561 ซึ่งพบว่ามีส่วนผสมของสารไซบูทรามีน เป็นสารอันตรายจนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคถึงแก่ความตาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบค้นอย่างละเอียดจนทราบว่ามีการลักลอบนำเข้า สารดังกล่าวมาจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวเขตชายแดนแล้วส่งกระจายไปผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนเป็นจำนวนมาก ซึ่งล่าสุดได้เกิดเหตุมีผู้เสียชีวิตจากการกินยาลดความอ้วนที่จังหวัดอ่างทอง พบการเชื่อมโยงกับการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีน วันนี้จึงเป็นการเปิดยุทธการฟ้าสาง ภายใต้การอำนวยการของรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้ พล.ต.อ. ดร.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปูพรมนำกำลังเข้าตรวจค้นกว่า 33 จุดทั่วประเทศ พบการกระทำความผิด 25 จุด ที่ไม่พบเป็นบ้านพักอาศัย จุดสำคัญอยู่ที่จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ได้ประสานไปยังผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดที่เกี่ยวข้องให้ประสานงานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อทำการตรวจค้นเป้าหมายทุกแห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตาก จังหวัดพัทลุง จังหวัดปทุมธานี และ กรุงเทพมหานคร โดยละเอียด ซึ่งจากการปฏิบัติการในครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์ชุดตรวจวิเคราะห์สารเบื้องต้น (Test Kit) จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้สามารถพิสูจน์หาสารไซบูทรามีนในเบื้องต้นได้ และ พบผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีนผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ทางด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งได้เข้าร่วมในปฏิบัติการดังกล่าวที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุด จำนวน 13 จุด ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการตรวจค้นพบวัตถุดิบไซบูทรามีนและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีไซบูทรามีนผสมอยู่ ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 1 โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว อย. ได้เคยแจ้งเตือนและดำเนินคดีมาก่อนแล้ว อาทิ ผลิตภัณฑ์ลิโซ (Lishou)  ผลิตภัณฑ์บาชิ (Baschi) ผลิตภัณฑ์นิวควีน (New Queen) ผลิตภัณฑ์กาแฟลดความอ้วน รวมทั้งวัตถุดิบสารไซบูทรามีนจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แสดงฉลากลวง ซึ่งจัดเป็นอาหารปลอม หรือแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ยาไม่มีทะเบียน เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารห้ามใช้ ฉลากพร้อมกล่องบรรจุภัณฑ์เตรียมพร้อมสำหรับการแบ่งบรรจุ พร้อมเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตด้วย รวมทั้งยาจุดกันยุงที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าจาก อย. เพราะยาจุดกันยุงจะต้องมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องกับ อย. ซึ่งมีสารอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของคนที่สูดดมเข้าไปได้ เบื้องต้นได้ดำเนินการยึดของกลางทั้งหมด  เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป

 

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ดังนี้

พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ขายวัตถุออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 - 2,000,000 บาท

พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 - 100,000 บาท จำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางที่ไม่จดแจ้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510  ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ขายวัตถุอันตรายโดยไม่มีฉลาก หรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ไซบูทรามีนถือเป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้เบื่ออาหารและกระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย จึงมีผู้นำมาลักลอบใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากไซบูทรามีนมีผลข้างเคียงสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ทำให้เกิดภาวะไตวาย ผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดตีบตัน เป็นต้น ไซบูทรามีนจึงจัดเป็นสารที่ต้องควบคุมโดยจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 จึงขอย้ำเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้มาใช้ เพราะส่งผลข้างเคียงเป็นอันตรายต่อชีวิต ดังที่ปรากฏเป็นข่าวที่ผ่านมา