"คบ.ท่อทองแดง" ต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม ในการบริหารจัดการน้ำระดับชลประทาน

"คบ.ท่อทองแดง" ต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม  ในการบริหารจัดการน้ำระดับชลประทาน

ทุกปีเรามักได้ยินได้ฟังข่าวน้ำท่วม-ฝนแล้งเป็นประจำ บ่อยครั้งเกิดเป็นสงครามแย่งชิงน้ำระหว่างเกษตรกรผู้ใช้น้ำ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน

เพราะต้องไม่ลืมว่าแหล่งน้ำ ณ ปัจจุบันมีที่มาจากน้ำฟ้าเพียงอย่างเดียว การวางแผนบริหารจัดการน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ  และเพื่อให้การขับเคลื่อนการบริหารงานของคณะทำงานด้านน้ำในระดับประเทศมีความต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งใน 6 ยุทธศาสตร์ชาติ ก็คือ ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี เพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม : การบริหารจัดการน้ำ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ที่เน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรน้ำใน 2 ระดับ คือ เป็นปัจจัยการผลิตเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นภัยทั้งภัยแล้งและภัยน้ำท่วม

ดังนั้นยุทธศาสตร์ทุกระดับจึงเน้นสร้างความมั่นคงด้านน้ำ วางระบบบริหารจัดการในลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยกำหนดให้สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มีหน้าที่และอำนาจกำหนดระบบจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการ ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ในลักษณะเป็นก้อน (Block Grant) ตามโปรแกรมวิจัยและนวัตกรรม (Program-base) และให้สอดคล้องกับระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมรายสาขา รวมทั้งกำหนดระบบการติดตามและประเมินผลที่มีความต่อเนื่อง เป็นที่มาของ"แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย  (Spearhead)  ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ" นำร่องในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางตอนบน โดยใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีอัจฉริยะเป็นเครื่องมือพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน  

\"คบ.ท่อทองแดง\" ต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม  ในการบริหารจัดการน้ำระดับชลประทาน

ล่าสุด แผนงานดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการแล้วในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) เป็นโครงการที่ถูกเลือกให้เป็นต้นแบบ แล้วทำไมจึงต้องเป็นที่นี่ ทั้งๆ ที่เป็นโครงการใหม่ระบบชลประทานยังไม่สมบูรณ์ !!

"เพราะความไม่สมบูรณ์เราจึงถูกเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่อง" นายสมเกียรติ อุปการะ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จ.กำแพงเพชร เปิดเผยว่า " เหตุผลที่กรมชลประทานเลือกพื้นที่นี้ เพราะเป็นโครงการเปิดใหม่ มีพื้นที่ชลประทานมาก ระบบฐานข้อมูลมีน้อย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีน้อย และมีปัญหาอุปสรรคค่อนข้างมาก หากทำวิจัยประสบความสำเร็จ ทุกโครงการชลประทานในประเทศไทยก็น่าจะประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน  และสาเหตุที่สำคัญอีกประการที่ทำให้ คบ.ท่อทองแดงถูกเลือกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ เพราะระบบชลประทานที่นี่ไม่สมบูรณ์ ใช้ระบบคลองธรรมชาติเป็นระบบชลประทาน ที่สำคัญแหล่งน้ำต้นทุนของโครงการท่อทองแดง คือ การรับน้ำมาจากเขื่อนภูมิพล ซึ่งมีผู้ร่วมใช้น้ำเป็นจำนวนมากกว่า 20 จังหวัดตลอดสายตั้งแต่จังหวัดตากไปจนถึงอ่าวไทย ดังนั้น หากเราประหยัดน้ำเขื่อนภูมิพล ที่ คบ.ท่อทองแดงประหยัดได้ จะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่อีก 20 กว่าจังหวัดท้ายน้ำ"

\"คบ.ท่อทองแดง\" ต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม  ในการบริหารจัดการน้ำระดับชลประทาน

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) สำนักงานชลประทานที่ 4 กรมชลประทาน ตั้งอยู่ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ลักษณะโครงการเป็นโครงการรับน้ำนอง มีพื้นที่โครงการทั้งหมด 619,625 ไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 550,688 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอตั้งแต่ อำเภอพรานกระต่าย อำเภอลานกระบือ อำเภอเมืองกำแพงเพชร อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอคีรีมาศ อำเภอเมืองจังหวัดสุโขทัย และยังมีพื้นที่รับประโยชน์นอกเขตชลประทานอีก 176,490 ไร่ คืออำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร และอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

\"คบ.ท่อทองแดง\" ต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม  ในการบริหารจัดการน้ำระดับชลประทาน

ที่สำคัญคือ คบ.ท่อทองแดง เป็นโครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แห่งแรกของจังหวัดกำแพงเพชร ที่ทรงวางแนวทางไว้และสามารถพัฒนาโครงการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

นายสมเกียรติ เล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน ที่อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร มีราษฎรหมู่บ้านกิโลสอง บ้านกิโลสาม บ้านกิโลหก และหมู่บ้านใกล้เคียงในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ทรงช่วยเหลือจัดหาน้ำให้ราษฎรทำการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค เนื่องจากบริเวณดังกล่าวขาดแคลนน้ำมาก วันรุ่งขึ้นทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว ทรงพระราชทางแนวทางในการดำเนินการโดยใช้วิธีขุดคลองชักน้ำหรือท่อชัดน้ำจากแม่น้ำปิงตามธรรมชาติเพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอเมือง และอำเภอพรานกระต่าย พร้อมแผนที่พระราชทาน โดยเริ่มดำเนินก่อสร้างตั้งแต่ ปี 2524 กระทั่งลุล่วงในปี 2528 สามารถส่งน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 100,000 ไร่

\"คบ.ท่อทองแดง\" ต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม  ในการบริหารจัดการน้ำระดับชลประทาน

หลังจากที่มีโครงการพระราชดำริเกิดขึ้น ได้มีการขยายพื้นที่ชลประทานจาก1แสนไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 5.5 แสนไร่ เนื่องจากเกิดภัยแล้ง โดยเฉพาะอำเภอพรานกระต่าย พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายมาก เพราะระดับแม่น้ำปิงสูงไม่มากพอ ไม่สามารถไหลเข้าระบบได้ จึงมีการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง สูง 4.5 เมตร ยาว 470 เมตร สันฝายกว้าง 4 เมตร เพื่อยกระดับน้ำแม่น้ำปิงให้สูง โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี 2535 แล้วเสร็จในปี 2536 ทำให้ฝายรับน้ำได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง"

สำหรับที่มาของชื่อ "ท่อทองแดง" นั้น นายสมเกียรติ เล่าว่า "มาจากเมื่อคราวก่อสร้างอาคารปากส่งน้ำบริเวณตลิ่งและขุดคลองชักน้ำบริเวณใกล้ตลิ่ง บริเวณปากคลองท่อทองแดง ระหว่างที่ขุดคลอง พบ ท่อนไม้ขนาดความยาว 4 เมตร กว้างราว 50 เซนติเมตร ลักษณะเป็นการนำไม้ 4 ท่อนมาบากใช้ประกบสี่ด้าน ทำให้ท่อนไม้มีลักษณะกลวงคล้ายกับท่อน้ำ รัดด้วยลวดทองแดงฝังอยู่ในดินตามแนวคลอง สันนิฐานว่าน่าจะเป็นท่อที่สร้างขึ้นในสมัยพระร่วงเพื่อชักน้ำจากแม่น้ำปิงไปตามคลองที่เรียกว่า คลอง"ท่อปู่พระยาร่วง" ซึ่งเป็นแนวคลองโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย จึงเป็นที่มาของชื่อ โครงการชลประทาน"ท่อทองแดง" ซึ่งหมายถึงท่อนไม้ที่ทำเป็นท่อและรัดด้วยลวดทองแดง และเรียกคลองท่อทองแดงตั้งแต่นั้นมา"

\"คบ.ท่อทองแดง\" ต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม  ในการบริหารจัดการน้ำระดับชลประทาน

แนวคลองรอบกำแพงเมือง

ด้วยระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 20 ปี ท่ามกลางความเปลี่ยนของสภาพอากาศ และทรัพยากรน้ำที่ลดน้อยถอยลง กับแหล่งน้ำต้นทุนแหล่งเดียวคือฝน ฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของทุกคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ คบ.ท่อทองแดง ซึ่งมีพื้นที่ชลประทานมากที่สุดในประเทศไทย คือ ราว 5.5 แสนไร่ และยังมีพื้นที่รับน้ำนอกเขตชลประทานอีกประมาณเกือบ 2 แสนไร่ นับเป็นภาระหนัก 

หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม คบ.ท่อทองแดง  กล่าวว่า "ปัญหา คือ น้ำต้นทุนต้องได้รับการอนุมัติจากกรมชลประทาน ซึ่งทุกสัปดาห์จะมีการอนุมัติว่าสามารถเปิดรับน้ำได้กี่ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพราะยังมีหลายจังหวัดที่ใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลจึงต้องใช้น้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุด  อีกปัญหาคือ การไม่ปฏิบัติตามกติกาการใช้น้ำของเกษตรกรผู้ใช้น้ำ มีการแอบปิดบานเพื่อยกระดับน้ำเข้าพื้นที่ตัวเอง เกิดน้ำท่วมคันคลองเสียหาย บางกลุ่มเกิดความขัดแย้งแย่งน้ำกันระหว่างต้นคลองกับปลายคลอง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เราก็มีน้อย บางช่วงของคลองมีการรั่วซึมสูง และในช่วงเวลาที่เราได้รับโควตาน้ำในปริมาณที่จำกัด ปริมาณน้ำส่งไปไม่ถึงปลายคลอง เกิดความเดือดร้อนกับพื้นที่เพาะปลูกด้านท้ายน้ำ ซึ่งจะต้องมีการติดตามและควบคุมการส่งน้ำอย่างเคร่งครัด โดยอาศัยหน่วยงานท้องถิ่นและทหารเข้ามาช่วยในบางครั้ง"

ฉะนั้น การที่ คบ.ท่อทองแดงถูกเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่อง ถือเป็นเรื่องยินดี เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้มีรูปแบบชัดเจน สามารถบริหารจัดการน้ำตามที่กรมชลประทานต้องการ และตามที่เกษตรกรต้องการด้วยเครื่องมือที่มีความน่าเชื่อถือสามารถตรวจสอบได้ และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อกรมชลประทาน ถือว่าเป็นการพัฒนาระบบได้อย่างรวดเร็ว จากโครงการเปิดใหม่ที่กลายเป็นโครงการนำร่องได้ในที่สุด