รายงาน: กัญชา ชีวิต และความหวัง

รายงาน: กัญชา ชีวิต และความหวัง

สกล อุดมพร (นามสมมุติ) ในวัย 48 ปี พยายามเกร็งตัวอย่างหนักเพื่อไม่ให้ตัวของเขาโยกไปมา แต่เพียงชั่วเวลาไม่นานนัก ร่างกายของสกลกลับโยกไหวแรงขึ้นจนเขาเองก็ไม่อาจฝืนต้านทานได้อีก

มันโยกไปมาจนเก้าอี้พลาสติกที่นั่งอยู่เขยื้อน ส่งเสียงดังเอี๊ยดอ๊าด ก่อนที่จะค่อยๆ เบาลงและกลับเข้าสู่จังหวะที่สมดุลย์อีกครั้ง

สกลหายใจแรงด้วยความเหนื่อยหอบ ตาหลุบต่ำอยู่ที่พื้น ก่อนจะเอ่ยเบาๆ ด้วยรอยยิ้มเจื่อนๆ เปื้อนหน้าว่า “ผมพยายามเกร็งตัวมากไปหน่อย”

สกล เป็นผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในจำนวนนับสิบๆ รายของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมานานนับสิบปีแล้ว สกลเคยเป็นคนสวนที่แข็งแรง แต่เนื่องจากโรคพาร์กินสันที่รุกเร้า ทำให้เขาต้องลาออกจากงานเพื่อมารักษาตัวเองในที่สุด

 

ระยะเวลาเจ็บป่วยที่ยาวนานจากโรคพาร์กินสันของสกล เป็นระยะที่แพทย์ของโรงพยาบาลให้คำนิยามว่า “เป็นระยะที่ผู้ป่วยป่วยมานานแล้วและเริ่มมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา”

 

ประสาทแพทย์ชำนาญการพิเศษ มกร ลิ้มอุดมพร ได้อธิบายว่า ผู้ป่วยในระยะนี้คือผู้ป่วยที่ป่วยมาระยะหนึ่ง และเริ่มมีปัญหาดื้อยา จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนตัวยาที่สองหรือที่สาม และเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา โดยอาการหลักๆ ที่ผู้ป่วยแสดงออกหลังจากได้รับยาคือการโยกตัว อันเนื่องมาจากระดับยาที่เข้าไปกระตุ้นสารเคมีในสมองเพื่อช่วยสั่งการให้ร่างกายเคลื่อนไหว

 

โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์สมองเสื่อมหรือฝ่อลงไป นายแพทย์มกรกล่าวว่า คนที่เป็นโรคนี้ จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด โดยจะมีอาการของโรครุนแรงขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป ผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวได้ช้าลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งแข็งเกร็งขยับไม่ได้ การได้รับยาแผนปัจจุบัน เป็นเพียงการช่วยเติมสารเคมีในสมองที่หายไปเพื่อให้ยังสามารถสั่งการให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้

 

“โรคนี้เป็นอะไรที่น่าสงสารมาก ผู้ป่วยจะค่อยๆเป็นทีละนิด ต่อให้กินยา ก็ใช่ว่าจะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ โดยส่วนใหญ่สมองจะค่อยๆ เสื่อมไปเรื่อยๆ และผู้ป่วยเหมือนถูกจองจำอยู่ในร่างกายของตัวเอง ขยับอะไรไม่ได้ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด…

“เราที่เป็นหมอ บางทีจำใจต้องถามคนไข้ว่า คุณจะเอาตัวเกร็งหรือโยกตัว เพราะมันมีแค่สองทางเลือกนี้ และยาแผนปัจจุบันก็ถูกปรับจนถึงขีดสุดของมันเพื่อช่วยผู้ป่วยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อเขามาถึงระยะนี้” นายแพทย์มกรกล่าว

 

แม้จะเป็นอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงและทรมานสำหรับผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันและแพทย์ที่รักษาโรคนี้รวมทั้งสกลและนายแพทย์มกรมีความหวังมากขึ้น เมื่อรัฐบาลได้ตัดสินใจแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษปี พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 7 (2562)) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ได้ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ผ่านมา

 

การแก้ไขกฏหมายดังกล่าว ส่งผลให้กัญชาซึ่งเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ว่ามีศักยภาพในการรักษาโรคร้ายแรงหลายโรค แต่ถูกระบุให้เป็นยาเสพติดและถูกระงับการนำมาใช้เพื่อประโยชน์กว่า 40 ปี กำลังถูกนำมาพัฒนาเพื่อใช้รักษาโรคได้อีกครั้ง รวมทั้งที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่กำลังทดลองวางระบบและแนวทางที่ถูกคาดหวังให้เป็นต้นแบบ “กัญชาทางการแพทย์” แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพราะชื่อเสียงเรื่องการพัฒนายาสมุนไพรอันดับต้นๆของประเทศ

 

เส้นทางกัญชา

จากการค้นคว้าของมูลนิธิชีวิวิถี (BioThai) หนึ่งในองค์กรหลักที่ร่วมรณรงค์การปลดล๊อคกัญชาออกจากการเป็นพืชยาเสพติดเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ได้ระบุว่า การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคของคนไทย สามารถสืบย้อนไปได้กว่า 300 ปี โดยตำราเก่าแก่ที่สุดมีอายุมากถึง 360 ปี คือคัมภีร์พระธาตุพระนารายณ์ หรือ ตำราโอสถพระนารายณ์

 

มูลนิธิชีวิวิถีระบุว่า เป็นที่น่าเสียดายที่องค์ความรู้ต่างๆ ในเรื่องการนำกัญชามาใช้เพื่อรักษาโรคของคนไทยได้ขาดตอนลง หลังจากกฎหมายบัญญัติให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษเมื่อปี 2522 และนับตั้งแต่นั้นมา หมอยาพื้นบ้านที่ใช้กระท่อมหรือกัญชาในการรักษาโรคต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อปรุงยาและพัฒนายาแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยในบางพื้นที่ของประเทศ

 

กัญชา คงไม่ได้อยู่ในความสนใจของผู้คนในสังคม หากในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้บุกตรวจค้นและจับกุมผู้ช่วยของนักกิจกรรมเคลื่อนไหวงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนชื่อดังของประเทศ อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี

 

ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจารย์เดชาได้เดินทางต่างประเทศ ทิ้งไว้เพียงผู้ช่วยของเขาให้อยู่ดูแลมูลนิธิ ซึ่งเมื่อตำรวจเข้าไปจับกุม ได้พบว่ามีการครอบครองกัญชาและสารสกัด และพบว่ามีการแจกจ่ายให้กับผู้อื่น

 

อาจารย์เดชาเองได้รับหมายเรียกก่อนการแจ้งข้อหา ก่อนที่จะมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันระหว่างคนที่เกี่ยวข้องถึงเจตนาในการผลิตกัญชาสกัดของมูลนิธิ ที่มีไว้เพื่อแจกจ่ายผู้ป่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เท่านั้น และที่สำคัญ การครอบครองกัญชาและสารสกัดของมูลนิธิยังอยู่ในระหว่างช่วงเวลานิรโทษกรรมภายใต้กฏหมายที่ถูกแก้ไขที่ให้เวลาผู้ครอบครองกัญชาแจ้งเจ้าหน้าที่ภายในเวลา 90 วัน

 

เจตนาช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยวิถีพื้นบ้านของอาจารย์เดชา ได้รับการขานรับจากภาคประชาสังคมส่วนต่างๆ และเกิดเป็นกระแสรณรงค์เพื่อให้ปลดล๊อคกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง หรืออีกนัยยะหนึ่ง คือการถอดกัญชาออกจากกฎหมายยาเสพติดและมีกฏหมายใหม่รองรับโดยเฉพาะ เพื่อกำหนดวิธีการควบคุมพืชชนิดนี้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเข้าถึงและการใช้กัญชาทางการแพทย์ในวงกว้างและปราศจากเงื่อนไขให้มากที่สุด

 

ทั้งนี้ เครือข่ายที่รณรงค์ในเรื่องนี้ มองว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ตามที่กำหนดในกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไขไป ยังเต็มไปด้วยเงื่อนไขและอุปสรรคต่อแพทย์พื้นบ้านในการให้การรักษาผู้ป่วยด้วยกัญชาและการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย

 

โดยเงื่อนไขแรกที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือ การอนุญาตให้มีการปลูกกัญชาอีกครั้งเป็นไปอย่างจำกัด โดยกฏหมายได้อนุญาตให้เพียงหน่วยงานหรือหน่วยงานวิจัยของรัฐหรือกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนเท่านั้น ที่สามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เสียก่อน ทั้งนี้ เพราะกัญชาถูกมองว่าเป็นพืชที่ดูดซับสารพิษได้ดีและมีการปนเปื้อนสูง จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมการเพาะปลูกเพื่อรับประกันมาตรฐานและความปลอดภัยของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ผลิตยา ซึ่งเครือข่ายแพทย์พื้นบ้านถือเป็นเงื่อนไขข้อจำกัดสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการพัฒนายาจากกัญชาเพื่อการรักษาโรคตามวิถีพื้นบ้าน เพราะวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ผลิตยาจะเป็นไปอย่างจำกัดด้วยเงื่อนไขดังกล่าว

 

การต่อสู้ของอาจารย์เดชาและเครือข่ายนำไปสู่การผลักดันการพัฒนาแนวทางการนำกัญชามาใช้รักษาโรคตามวิถีพื้นบ้านที่เคยดำรงอยู่ในสังคมไทย (อ่านล้อมกรอบ) และในเวลาเดียวกัน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่างพยายามค้นหาแนวทางการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่แทบไม่เคยดำรงอยู่ในสังคมไทยเช่นกัน

 

โมเดลการผลิตและการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจรกำลังถูกพัฒนาขึ้นที่โรงพยาบาลอภัยฯ และได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “อภัยฯโมเดล”

 

 

อภัยฯโมเดล

ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาดกะทัดรัด หลังโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยฯ ต้นกัญชาพันธุ์ดีราวสิบกว่าต้นกำลังงอกเงยในอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมเป็นอย่างดี เกิดเป็นความหวังเล็กๆของแพทย์ที่นั่นว่า ต้นกัญชาเหล่านี้จะเป็นแหล่งผลิตชุดความรู้ใหม่ว่าด้วยวิธีการเพาะปลูกและคัดเลือกสายพันธุ์กัญชาชั้นดีระดับ medical grade เพื่อนำมาผลิตยาจากกัญชาให้กับประเทศ หลังพืชพันธุ์นี้ห่างหายไปจากผืนแผ่นดินไทยมากว่า 40 ปี

 

นอกจากการคัดเลือกองค์กรที่จะทำการเพาะปลูกกัญชาเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์อีกครั้งเป็นไปอย่างเข้มงวดแล้ว และยังมีเพียงไม่กี่แห่งที่ได้รับอนุญาตให้ทำการเพาะปลูกพืชชนิดนี้ได้ ความท้าทายที่สำคัญอีกประการคือวิธีการเพาะปลูกต้นกัญชาเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบชั้นดี ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวแทบจะไม่มีในสังคมไทย

 

เภสัชกรหญิง ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานยุทธศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยฯ เล่าว่า ในครั้งแรก ทางโรงพยาบาลยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมผลักดันการใช้กัญชาทางการแพทย์หลังมีการแก้ไขกฏหมาย แม้ทางโรงพยาบาลจะมีศักยภาพในการสกัดยาและปรุงยาสมุนไพรแบบปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากเริ่มมีเคสผู้ป่วยเจ็บป่วยจากการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อรักษาโรคไม่ถูกวิธีเพิ่มมากขึ้น ทางโรงพยาบาลจึงทบทวนจุดยืนและตัดสินใจเข้าร่วมพัฒนาแนวทางการผลิตและใช้กัญชาทางการแพทย์

 

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นายแพทย์ นำพล แดนพิพัฒน์ ได้กล่าวเสริมว่า ทางหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งได้แก่กระทรวงสาธารณสุข โดยทาง อย. และสำนักปลัดกระทรวง ต่างเห็นตรงกันที่จะให้โรงพยาบาลพัฒนาองค์ความรู้แบบครบวงจร สร้างระบบการผลิตและการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่โรงพยาบาลที่อื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ เนื่องมาจากชื่อเสียงความเชี่ยวชาญในการพัฒนายาสมุนไพรของโรงพยาบาลที่มีมาช้านาน

 

โดย ภญ. สุภาภรณ์ กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้ติดต่อทาง อย. ราวเดือนพฤษภาคมเพื่อเริ่มต้นดำเนินการสร้าง “อภัยฯโมเดล”

 

“กัญชา เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน การนำกลับมาใช้อีกครั้งในคราวนี้ โรงพยาบาลจึงเหมือนเป็นภาคปฏิบัติของส่วนต่างๆที่ยังแยกกันอยู่ และหวังว่าจะสามารถส่งต่อองค์ความรู้ที่กำลังสร้างให้กับสังคมได้ต่อไป

 “เราตั้งตัวได้นิดแล้ว กัญชาและความรู้เรื่องกัญชากำลังงอกขึ้นมาแล้ว และพร้อมที่จะแตกกิ่งก้านเผื่อแผ่แบ่งปันให้กับที่อื่นๆ” ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว

 

นอกเหนือจากการทดลองเพื่อหาวิธีเพาะปลูกกัญชาพันธุ์ดีแล้ว ทางโรงพยาบาลฯ ยังหาวิธีที่ดีที่สุดจากความเชี่ยวชาญที่มีเพื่อจะสกัดยาจากกัญชา และกำลังวางระบบการแจกจำหน่ายยาจากกัญชาโดยผ่านวิธี Special Access Scheme ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางในการอนุญาตให้มีการใช้กัญชาในการรักษาโรคที่มีเงื่อนไขอุปสรรคน้อยที่สุดในเวลานี้

 

ภายใต้กฎหมายยาเสพติดที่แก้ไข การใช้ตำรับยากัญชาทางการแพทย์ ต้องได้รับการประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุขก่อนเท่านั้น โดยที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศ "กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2562" 5 ประเภทคือ ตำรับยาที่ได้การรับรองจาก อย. ซึ่งครอบคลุมทั้งตำรับยาแผนปัจจุบันและตำรับยาแผนไทย, ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ในตำราการแพทย์แผนไทย โดยคำแนะนำของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีการประกาศไปแล้ว 16 ตำรับจากตำรับยาโบราณ, ตำรับยาที่หมอพื้นบ้านปรุงขึ้นจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจน และได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยฯ, ตำรับยาที่ได้รับอนุญาตภายใต้โครงการศึกษาวิจัยที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, และตำรับยาที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ “ภายใต้การรักษาโรคกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (Special Access Scheme)”

 

นายแพทย์มกร ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบในส่วนของการทดลองแจกจำหน่ายยาให้คนไข้กล่าวว่า ทางแพทย์และเภสัชกรของโรงพยาบาลจำนวนหนึ่ง ได้เข้ารับการอบรมการแจกจำหน่ายยาที่ทำจากกัญชาจากทางกระทรวงฯ และเริ่มแจกจำหน่ายน้ำมันกัญชาสกัดที่ได้มาจาก อย. เพิ่มให้กับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันและโรคลมชักประมาณ 10 กว่าราย ณ คลินิคกัญชา ที่เปิดเป็นครั้งแรกในโอกาสที่โรงพยาบาลครบรอบ 78 ปี เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลได้คัดเลือกผู้ป่วยสองโรคนี้ก่อนโรคอื่นเนื่องจากสัดส่วนของสารเคมีในตัวยาที่ได้รับมา ตอบรับกับสองโรคนี้ และมีตัวยาที่ได้รับมอบมาเพียงพอสำหรับผู้ป่วยประมาณสิบกว่ารายเท่านั้น หลักจากจ่ายยาแล้ว ทางคลีนิคจะติดตามประเมินประสิทธิภาพการใช้ยาจากกัญชาที่ถูกเพิ่มเข้าไปจากยาชุดเดิมของคนไข้ ก่อนจะวิเคราะห์สรุปเป็นชุดองค์ความรู้อีกชุดว่าด้วยการใช้ยากัญชากับผู้ป่วยโรคต่างๆ

 

สิ่งที่ทางแพทย์กังวลคือผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งผลต่อจิตประสาทของผู้ป่วยที่ยังเป็นข้อถกเถียงและข้อกังวลในทางการแพทย์ นายแพทย์มกรกล่าว

 

ในอนาคตอันใกล้ ราวอีกสองเดือนข้างหน้า โรงพยาบาลคาดหวังว่า การสกัดน้ำมันกัญชาจากของกลางที่ได้รับจากสำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จะช่วยให้ได้ตัวยาจากกัญชาที่สามารถขยายการรักษาไปยังโรคอื่นๆ ได้ รวมทั้งการช่วยผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายให้มีความสงบจากโรคมากขึ้น

 

และต้นกัญชาที่กำลังงอกเงยในตู้คอนเทนเนอร์เหล่านั้น จะเป็นความหวังว่าการช่วยรักษาโรคร้ายแรงต่างๆ ด้วยกัญชาจะแพร่หลายในแผ่นดินไทยอีกครั้ง เมื่อองค์ความรู้และระบบที่ครบวงจรดังกล่าวถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์ และกระจายไปยังโรงพยาบาลรัฐต่างๆทั่วประเทศ

 

ภญ. สุภาภรณ์ กล่าวว่า ยังมีความท้าทายอีกหลายอย่างที่รออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้เกี่ยวกับพืชชนิดนี้อีกครั้งของสังคมไทย

 

ภญ. สุภาภรณ์หวังว่า ในอนาคต ที่นี่ จะเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องกัญชาทางการแพทย์ และเชื่อมโยงเข้ากับโลกของการรักษาด้วยกัญชาแบบพื้นบ้านที่ยังต้องฝันฝ่าอุปสรรคไม่น้อยไปกว่าการแพทย์แผนปัจจุบันที่เธอมองว่าควรมีการค้นหาแนวทางในการผลิตไปจนถึงการให้การรักษาเหมือนที่โรงพยาบาลกำลังทำอยู่เช่นกัน

 

“ที่สุดแล้ว มันคือความสามารถในการพึ่งพาตัวเองในทางการแพทย์ของเราโดยอาศัยภูมิปัญญาและความหลากหลายทางชีวภาพที่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการพึ่งพาการแพทย์และยาตะวันตกทั้งหลาย มันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมโรงพยาบาลจึงต้องมาค้นหาและพัฒนาแนวทางการรักษาทั้งระบบ” ภญ. สุภาภรณ์ กล่าว

 

ในห้องเวชทะเบียนยา สกลยังโยกตัวไปมาอยู่บนเก้าอี้ที่นั่งรอให้คุณหมอเรียก ไม่นานนัก คุณหมอได้เรียกสกลไปตรวจพร้อมกับรับใบสั่งยาตัวใหม่เพิ่ม คือ “น้ำมันกัญชา” จากคลีนิคกัญชาในห้องถัดไป

 

สกลค่อยๆ ยันกายลุกขึ้นยืนอย่างโงนเงน ก่อนเดินออกไปหาแม่ที่นั่งรอเขาอยู่ข้างนอก

 

“หมอให้ผมกลับมาพบใหม่อีกหนึ่งเดือนข้างหน้า… ผมฟังจากที่เค้าว่ากัน ก็มีความหวังว่าจะดีขึ้น คงดีขึ้นนะ พี่ว่าไหม” สกลกล่าว ก่อนค่อยๆ หย่อนตัวนั่งลงข้างๆ แม่ของเขา และยังคงโยกตัวอยู่อย่างนั้น

 

 

ล้อมกรอบ: เส้นทางกัญชาทางการแพทย์ของแพทย์พื้นบ้าน เดชา ศิริภัทร

 

อาจารย์เดชา ศิริภัทร นับเป็นแพทย์พื้นบ้านคนแรกที่ได้รับการจดทะเบียนเพื่อให้การรักษาด้วยกัญชาหลังจากมีการแก้ไขกฏหมายยาเสพติดปี พ.ศ. 2522

 

จากนักกิจกรรมรณรงค์ด้านการเกษตรยั่งยืนอันดับต้นๆ ของประเทศที่ทำงานด้านการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมือง รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง อาจารย์เดชา เริ่มให้ความสนใจศึกษากัญชาเมื่อประมาณสิบปีที่ผ่านมา เพื่อหาวิธีรักษาโรคมะเร็งที่มีความเจ็บปวดในการรักษาน้อยที่สุด หลังจากเรียนรู้ความเจ็บปวดต่างๆ จากแม่และญาติของตนที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง

 

อาจารย์เดชาใช้เวลาในการเรียนรู้วิธีการสกัดกัญชาจนได้น้ำมันสกัดสูตรของตัวเอง และเริ่มทำการทดลองใช้รักษาโรคกับตัวเองและคนที่รู้จัก ก่อนที่จะนำไปแจกจ่ายโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่วัดในจังหวัดพิจิตรและสุพรรณบุรี

 

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางมูลนิธิเริ่มเปิดอบรมการสกัดน้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชาจนเริ่มเป็นที่รู้จัก ก่อนที่จะถูกบุกจับกุมในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

หลังการจับกุม ได้มีการรณรงค์เพื่อถอดกัญชาออกจากการเป็นพืชยาเสพติดอย่างสิ้นเชิงเพื่อให้แพทย์พื้นบ้านและผู้ป่วยโรคร้ายแรงต่างๆ เข้าถึงยาจากกัญชาได้มากที่สุด

 

จากการผลักดันของเครือข่ายฯ อาจารย์เดชาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์พื้นบ้านราวต้นเดือนพฤษภาคม ตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมาย

 

อย่างไรก็ตาม การได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์พื้นบ้าน ไม่ได้หมายความว่า อาจารย์เดชาจะสามารถแจกจำหน่ายยาที่ทำจากกัญชาได้ทันที ตำรับยาสูตรของอาจารย์เดชาต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. หรือผ่านการวิจัย หรือได้รับการรับรองให้เป็นตำรับยาพื้นบ้านจากกรมการแพทย์แผนไทยฯ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

 

หลังจากทดลองทำโครงการวิจัยร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัย คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการขออนุมัติจริยธรรมการทดลองในมนุษย์และการขออนุมัติโครงการวิจัยจากคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทภายใต้กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมักใช้เวลานาน จนเกิดปัญหาล่าช้า อาจารย์เดชาและเครือข่ายจึงลองผลักดันให้ตำรับยาสูตรอาจารย์เดชาได้รับการรับรองเป็นตำรับยาพื้นบ้านคู่ขนานไปอีกทางหนึ่ง

 

ในวันที่ 12 มิถุนายน คณะกรรมการด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อมและการใช้ยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อมปรุงผสม ได้ให้การรับรองตำรับน้ำมันกัญชาที่ปรุงและสกัดโดยใช้น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นของอาจารย์เดชา

 

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิชีววิถีซึ่งได้ติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องได้เผิดเผยว่า ขั้นตอนการรับรองจะมีผลเป็นทางการก็ต่อเมื่อผ่านคณะกรรมการอีก 2 ชุดคือ คณะกรรมการอำนวยการการนำกัญชาและกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษของกระทรวงสาธารณสุข

 

โดยในรายงานการแถลงของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ไม่ได้บอกกำหนดเวลาว่าการพิจารณาของคณะกรรมการทั้ง 2 คณะจะใช้เวลานานเท่าใด มูลนิธิระบุ

 

“ขณะนี้ อาจารย์เดชาได้รับการรับรองเป็นหมอพื้นบ้านแล้ว และผ่านการอบรมเป็นหมอพื้นบ้านที่สามารถใช้กัญชารักษาโรคแล้ว แต่ยังมีขั้นตอนของหน่วยงานราชการอีกหลายขั้นกว่าหมอพื้นบ้านคนหนึ่้งที่จะแจกจ่ายยากัญชาแก่ประชาชนจะสามารถทำได้ตามประสงค์

 

“ที่สำคัญคือ อาจารย์เดชาจะยังคงไม่สามารถผลิตและแจกจ่ายน้ำมันเดชาได้ จนกว่าจะได้รับวัตถุดิบกัญชาจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้การปลูกกัญชาสามารถดำเนินการได้โดยวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตรนั้นต้องปลูกโดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น หรือในขณะที่ไม่สามารถได้วัตถุดิบจากการปลูก ก็ต้องได้รับการอนุเคราะห์วัตถุดิบกัญชาจาก ปปส.เท่านั้น” มูลนิธิชีววิถีกล่าวถึงอุปสรรคในเส้นทางกัญชาทางการแพทย์ของแพทย์พื้นบ้านชื่อ เดชา ศิริภัทร ที่กำลังเป็นตัวแทนของแพทย์พื้นบ้านทั่วประเทศที่จะได้มีโอกาสนำกัญชามาช่วยรักษาโรคแก่ผู้ป่วยโรคร้ายแรงต่างๆ

 

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในแพทย์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมานานนับสิบปี ได้ศึกษาเอกสารงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ทั่วโลก และจำแนกกลุ่มโรคที่ใช้กัญชารักษาออกมาได้ว่า การใช้กัญชาซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีมี 4 อาการ คือ คลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ลมชักรักษายาก เกร็งในปลอกหุ้มประสาทอักเสบ และปวดระบบประสาท ( ทาง อย. ได้ประกาศให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์กับ 4 โรคนี้ได้)

 

ส่วนอีกสองกลุ่มโรค นายแพทย์ปัตพงษ์ได้ประเมินจากเอกสารงานวิจัยเหล่านั้นว่า “น่าจะได้ประโยชน์” 6 อาการคือ พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ปลอกประสาทอักเสบ วิตกกังวล มะเร็งระยะท้าย และโรคอื่นๆของผู้ป่วยระยะสุดท้าย และกลุ่มโรคที่ยังต้องมีการทำวิจัยเพิ่มเติมคือ โรคมะเร็ง

 

นายแพทย์ปัตพงษ์ยังได้ประเมินว่า ยากัญชามีศักยภาพในการเยียวยาคนไทยมากถึง 6,000,000 คน โดยการใช้เกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขเอง

 

ทั้งนี้ นายแพทย์ปัตพงษ์ได้คำนวณโดยใช้สัดส่วนความชุกของโรค เช่น โรคลมชัก (Epilepsy) คนไทยมีอัตราความชุกของโรค 7.2 คนต่อ 1,000 ของประชากร ดังนั้นคนไทยมีโอกาสเป็นโรคลมชักประมาณ 475,200 คน เป็นต้น

 

เมื่อรวมโรคต่างๆ ที่ยาจากกัญชามีศักยภาพในการช่วยรักษา เช่น โรคปวดประสาท พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ฯลฯ แล้ว พบว่ามีคนไทยที่ควรจะได้ประโยชน์จากยากัญชามากถึง 6,000,000 คน