กสม. จัดงานสถาปนาครบ 18 ปี 'วัส ติงสมิตร' เคลียร์เรื่องร้องเรียนแล้ว 82%

กสม. จัดงานสถาปนาครบ 18 ปี 'วัส ติงสมิตร' เคลียร์เรื่องร้องเรียนแล้ว 82%

“วัส ติงสมิตร” คุย กสม.รับเรื่องร้องเรียน 2,200 เรื่อง ตรวจสอบแล้วเสร็จ 82% พ้อถูกมองเป็นเอ็นจีโอ การออกรายงานด้านสิทธิฯยังไม่เป็นที่ยอมรับ-ขาดเหตุผลน่าเชื่อถือ หวังสร้างสังคมตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.62 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. บรรยายในหัวข้อ “สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับบทบาทในการร่วมพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในงานครบรอบวันสถาปนา 12 ปี กสม.ว่า

กสม.ชุดปัจจุบันทำงานมาเกือบ 5 ปีแล้ว ที่ผ่านมารับเรื่องร้องเรียนไว้ 2,200 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จและออกรายงานแล้ว คิดเป็นร้อยละ 82 ของเรื่องทั้งหมด โดยกสม.ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน การผลักดันเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ กสม.ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงานระหว่างปี 2560-2565 รวม 5 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมและติดตามให้ทุกภาคส่วนในสังคมเกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนตามที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 2.เน้นการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน 3.มุ่งการทำงานร่วมกับเครือข่ายภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน 4.ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน สื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศไทยต่อสาธารณะชนอย่างถูกต้องและทั่วถึง และ 5.ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการทำงานโดยยึดคุณธรรมและความโปร่งใส

ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า กสม.ถูกมองว่าเป็นยักษ์ไม่มีกระบอง แต่เชื่อว่าหากเราทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และได้รับการยอมรับจากสังคม หากเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขึ้นคนในสังคมก็จะรอฟังท่าทีจาก กสม. แต่ที่ผ่านมาการทำงานของ กสม. โดยเฉพาะการออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าใดนัก เพราะขาดเหตุผลที่น่าเชื่อถือ หรือบางครั้งมีคนเข้าใจผิดว่า กสม.เป็นองค์กรเอ็นจีโอ ทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายของ กสม.คือสร้างจิตสำนึกให้คนในสังคมทุกคนคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมายดังกล่าว ทุกคนจะรู้ว่าควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร ซึ่งก็จะเปรียบเหมือนยุคพระศรีอาริย์