ประชุมผู้ถือหุ้นชี้ชะตา แผนธุรกิจ PPS 'รุ่ง' หรือ 'ร่วง'

ประชุมผู้ถือหุ้นชี้ชะตา แผนธุรกิจ PPS 'รุ่ง' หรือ 'ร่วง'

'โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส' ลุ้น 24 ก.ค. นี้ มติประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นผ่านหรือไม่ ? 'ดร.พงศ์ธร ธาราไชย' นายใหญ่ PPS ส่งซิกหากไฟเขียวแผนธุรกิจ 5 ปี พร้อมโลดแล่นทันที สร้างเซอร์ไพรส์ !! ผลักดันรายได้แตะ 'พันล้านบาท'

เมื่อธุรกิจเดิมที่คลุกคลีมาตลอด 30 ปี ของ บมจ.โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส หรือ PPS ผู้ประกอบการวิศวกรที่ปรึกษาที่ให้บริการทางด้านบริหารและควบคุมโครงการก่อสร้าง คิดเป็นรายได้เกือบ 100% ไม่สามารถผลักดัน 'ฐานะการเงิน' ให้ขยายตัวสม่ำเสมอ หลังต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง ใช้บุคลากรมาก ความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัว ความล่าช้าในการผลักดันโครงการ และความสามารถในการหางานใหม่มีจำกัด !!  

สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2559-2561) มี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 32.18 ล้านบาท 55.17 ล้านบาท และ 7.42 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ 'รายได้' อยู่ที่ 319.41 ล้านบาท 398.33 ล้านบาท และ 387.09 ล้านบาท ตามลำดับ 

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ 'โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส' ของ 'ตระกูลธาราไชย' ผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 39.421% ที่มีการบริหารธุรกิจแบบครอบครัว (กงสี) มาตลอด จำเป็นต้องเร่งปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่ !! หากต้องการเติบโตแบบยั่งยืนต่อไป ด้วยการมุ่งเน้นรับงานที่มี 'มาร์จินระดับสูง' และ 'ธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์ของภูมิภาค' !!     

'ดร.พงศ์ธร ธาราไชย' ประธานกรรมการบริหาร บมจ.โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส หรือ PPS เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า แผนธุรกิจที่เคยประกาศไว้ภายหลังเข้าระดมทุนตลาดหุ้น ที่จะพัฒนาการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเพิ่มช่องทางในการหารายได้ให้แก่กลุ่มบริษัท ภายใต้แนวทาง Investment Platform เพื่อการลงทุนใน 'ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง' ที่ผ่านมาเกิดความล่าช้ามาก เนื่องจากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปรับโครงสร้างองค์กรภายในเสียก่อน เพราะว่าโครงสร้างธุรกิจของ PPS เป็นธุรกิจที่ใช้คนทำงานค่อนข้างมาก ดังนั้น การเคลื่อนตัวจะเป็นไปได้ช้ามาก 

ทว่า ล่าสุด PPS มีการจัดตั้ง บริษัท โปรเจคท์ วัน พร็อพเพอตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจทางด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับบริษัทและสนับสนุนธุรกิจหลักอีกด้วย โดยปัจจุบันโปรเจคท์ วัน พร็อพเพอตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ มีโปรเจคขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการศึกษา มูลค่าลงทุน 2,500 ล้านบาทแล้ว !! 

ทั้งนี้ เพียงแต่ว่าการลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ นั้น ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ฉะนั้น บริษัทจำเป็นต้องทำให้ PPS มีฐานทุนที่ใหญ่ขึ้นก่อน ซึ่งจึ่งเป็นที่มาในวันที่ 24 ก.ค. นี้ บริษัทเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น โดยเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นให้พิจารณาการลดทุนจดทะเบียนโดยยกเลิกหุ้นจำนวน 4.14 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.25 บาท 

หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 279.24 ล้านบาท จากเดิม 214.96 ล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) ไม่เกิน 257.96 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.25 บาท เพื่อขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวนไม่เกิน 171.97 ล้านหุ้น และขายให้กับบุคคลในวงจำกัด (PP) ไม่เกิน 85.99 ล้านหุ้น

นอกจากนี้ ยังอนุมัติการออกและเสนอขายตั๋วแลกเงินระยะสั้น (B/E) ภายในวงเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท อายุไม่เกิน 270 วัน เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกิจการ และออกหุ้นกู้ (Debenture) ภายในวงเงินไม่เกิน 600 ล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปี เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกิจการ ใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการอนาคต ชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน หรือหนี้ตามตั๋วแลกเงิน

'ฉะนั้นหาก 24 ก.ค.นี้ มติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นผ่าน เราก็จะสามารถดำเนินการลงทุนในโปรเจคที่เราวางไว้ได้ทันที และเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้ PPS เติบโตแบบก้าวกระโดดตามแผนธุรกิจ 5 ปี แต่หากที่ประชุมไม่ผ่านแผนการลงทุนดังกล่าวคงต้องชะงักออกไป ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตในอนาคตตามแผนธุรกิจ 5 ปี ที่เคยบอกไว้ว่าเราจะมีรายได้พันล้านบาท'

ทั้งนี้ 'โปรเจคท์ วัน พร็อพเพอตี้ ดีเวลลอปเม้นท์' จะนำความคิดที่จะนำความรู้และประสบการณ์จากการทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของโครงการ มาร่วมกับเจ้าของโครงการหรือผู้ลงทุนในการพัฒนาพื้นที่โครงการที่บริษัทเล็งเห็นศักยภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าโครงการให้สูงขึ้นและใช้เงินลงทุนที่เหมาะสมต่อขนาดธุรกิจของบริษัท ซึ่งมองว่าจะสามารถเพิ่มกำไรได้มากเพียงใด แต่เชื่อว่ามีโอกาสสนับสนุนการเติบโตของบริษัท 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเติบโตในปี 2562 นั้น 'นายใหญ' แจกแจงสตอรี่ให้ฟังว่า จะเห็น PPS มีรายได้จาก 'ธุรกิจใหม่' ภายใต้บริษัท 'PPS Oneworks' ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับกับพันธมิตรต่างชาติ คือ Oneworks Asia นิติบุคคลจากประเทศสิงคโปร์ (บริษัทแม่คือ Oneworks บริษัทสถาปนิกชั้นนำจากประเทศอิตาลี) โดยได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 30 ล้านบาท โดย PPS ถือหุ้น 51% และ Onework Asia ถือหุ้น 49% เพื่อขยายธุรกิจด้านการออกแบบ การบริหารงานก่อสร้าง งานประมาณราคา งาน BIM (Building Information Modeling) และ Technical Support ซึ่งบริษัทเริ่มมีรายได้จากธุรกิจของ PPS Oneworks เข้ามาแล้ว 

สอดคล้องกับตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 ที่บริษัทมีรายได้ 130.65 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 11.89 ล้านบาท แยกเป็นรายได้ที่มาจาก PPS Oneworks ประมาณ 40 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 25% ของรายได้รวม 

'ในปีนี้รายได้ของ PPS Oneworks จะอยู่ที่ 90 ล้านบาท และสัดส่วนรายได้ของธุรกิจเดิมจะค่อยๆ ลดลงต่อเนื่อง' 

'นายใหญ่' บอกว่า สาเหตุที่จะเช่นนั้น เพราะว่า PPS Oneworks มีขีดความสามารถรับงานที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะงานที่อยู่ในเทรนด์ของภูมิภาค ที่เป็นช่วงของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ งานประเภทรถไฟต่างๆ , งานท่าเรือ และ งานสนามบิน เป็นต้น ซึ่งพันธมิตรอิตาลีมีความชำนาญในงานประเภทดังกล่าว สอดคล้องกับรายได้จากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ที่บริษัทมีรายได้จากงานจัดทำเอกสารเสนอโครงการของงานสนามบินอู่ตะเภา 

ทว่า บริษัทยังยื่นประมูลในส่วนของงานออกแบบและควบคุมงานสนามบินอู่ตะเภา โดยคาดว่าหาก PPS เป็นผู้ชนะประมูลงานดังกล่าว รายได้จะเติบโตแบบ 'ก้าวกระโดด' ทันที โดยคาดการณ์รายได้อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท (กรณีชนะประมูล) ซึ่งจะเป็นมูลค่างานในมือ (แบ็กล็อก) ราว 5 ปี ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ปีละ 200 ล้านบาท  

'ที่ผ่านมา PPS เปรียบเหมือนอยู่ในดักแด้ไม่ชินกับการเดินทาง แต่พอเรามี PPS Onework เข้ามาเป็นดังนักเดินทางที่สามารถเคลื่อนไหวรับงานได้ตลอดเวลา' 

นอกจากนี้ การที่บริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรอิตาลี ส่งผลให้ PPS มีพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นในประเทศ อิตาลี ,ลอนดอน (อังกฤษ) , สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) รวมทั้งมีออฟฟิศอยู่ในประเทศอินเดีย , สิงคโปร์ และ ไทย 

'ที่ผ่านมาพันธมิตรชาวอิตาลีของเรามีประสบการณ์ออกแบบและควบคุมงานสนามบินทุกสนามบินในประเทศอินตาลี และมีรถไฟที่ประเทศดูไบ ขณะที่ PPS ไม่มีประสบการณ์แบบนี้เลย ดังนั้น การมีพันธมิตรอิตาลีทำให้เราสามารถยื่นประมูลงานได้กว้างขึ้น'

เขา บอกต่อว่า แนวโน้มในอนาคต PPS Oneworks มีโอกาสที่สัดส่วนรายได้จะใหญ่ขึ้นกว่า PPS เนื่องจากมีขีดความสามารถในการรับงานที่มีมาร์จินสูงกว่า ประกอบกับ PPS Oneworks สามารถที่จะออกไปรับงานในต่างประเทศอีกด้วย เช่น ประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย บังคลาเทศ และ ออสเตรเลีย เป็นต้น  

'ฉะนั้นคนที่มีความเข้มแข็งกว่าอนาคตมีโอกาสเติบโตและใหญ่กว่า และแน่นอนว่า PPS Oneworks มีตลาดมี่กว้าง รวมทั้งมีศักยภาพรับงานหลากหลายและเป็นอินเตอร์มากกว่าด้วย' นายใหญ่ PPS ย้ำเช่นนั้น 

นอกจากนี้ PPS Oneworks ยังอยู่ระหว่างการประมูลงานใหม่ๆ เพิ่ม อาทิ งานของ บมจ. ปูซิเมนต์ไทย หรือ SCC ที่มีการปรับปรุงพัฒนาโรงงานใหม่ ทั้งหมด 12 แห่ง โดยปัจจุบัน PPS Oneworks ได้งานแล้ว 1 แห่ง มูลค่าโรงงานละ 3 ล้านบาท 

นอกจากนี้ยังเปลี่ยนชื่อ PIC เป็น PPSI หรือ บริษัท พีพีเอส อินโนเวชั่น จำกัด รองรับการรับงานด้าน Facility Management  หรือ การบริหารจัดการอาคาร เพื่อขยายขอบเขตการรับงานทั้งงานที่ปรึกษาด้านพลังงานและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง ทั้งนี้การปรับโครงสร้างของบริษัทย่อยดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและโอกาสในการรับงานมากขึ้น โดยในปีนี้จะยังไม่เห็นรายได้เข้ามา 

สำหรับ แนวโน้มรายได้ไตรมาส 2 ปี 2562 จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ โครงการสยามสินธร , Block H สยามสแควร์ , The mall 2 รามคำแหง , โรงแรม Holiday Inn Samui, Soontareeya ขณะที่ภาคเอกชนมีการลงทุนในบางกลุ่มธุรกิจ อาทิ โรงแรม ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน กลุ่มค้าปลีก ซึ่งบริษัทสามารถรับงานได้บางส่วน อีกทั้งมีการรับงานจัดเก็บข้อมูลวัสดุให้กับบริษัทวัสดุก่อสร้างด้วยเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) ถือเป็นงานจากกลุ่มธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพในการรับงานให้บริษัทมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน อีกทั้งเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมประมูลงานในโครงการเมกะโปรเจคและงานกลุ่มโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 

'หากการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้จะส่งผลให้รายได้ในปี้นี้เติบโตตามเป้าหมาย 10% หรือ 425 ล้านบาท'

ท้ายสุด 'ดร.พงศ์ธร' ทิ้งท้ายไว้ว่า เดิมธุรกิจของ PPS จะทำงานในประเทศเป็นหลัก และเก่งในงานประเภทออกแบบและควบคุมงานประเภทอาคารเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันในตลาดดังกล่าวมีคู่แข่งเยอะมาก ประกอบกับต้องใช้วิศวกรควบคุมงานจำนวนมาก แต่อนาคต PPS กำลังจะขยับตัวรับงานอินเตอร์และโปรเจคใหญ่มากขึ้น ทว่า PPS จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่นั้น คงต้องรอประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเป็นผู้ชี้ชะตาว่าผ่านหรือไม่ผ่าน !!