ปตท.ชูต้นแบบยุโรป ปั้นสมาร์ทซิตี้อีอีซีไอ

ปตท.ชูต้นแบบยุโรป ปั้นสมาร์ทซิตี้อีอีซีไอ

นโยบายยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่วางเป้าหมายให้ประเทศไทยผ่านพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และหนึ่งในนั้นคือ โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

โดยบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ถูกมอบภารกิจให้เข้ามาช่วยงานภาครัฐ โดยการลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในพื้นที่อีอีซีไอ ที่มีเป้าหมายผลักดันเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม หรือฮับอินโนเวชั่น ของประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ ปตท.จึงเดินทางไปศึกษาดูงานต้นแบบสมาร์ทซิตี้ 2 เมืองใหญ่ในยุโรป คือ การพัฒนาเมืองเกรโนเบิล (Grenoble) ประเทศฝรั่งเศส และเมืองเอสเพน (Aspern) ประเทศออสเตรีย เพื่อหวังนำรูปแบบ และอุปสรรคที่เกิดขึ้น ไปปรับการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องในการพัฒนาให้อีอีซีไอ

ปตท.ชูต้นแบบยุโรป ปั้นสมาร์ทซิตี้อีอีซีไอ

การเยือนเมืองเกรอโนเบิล (Grenoble) ตั้งอยู่ใกล้เทือกเขาแอลป์ในประเทศฝรั่งเศส พบว่า เดิมเป็นฐานพัฒนาเศรษฐกิจโดยอุตสาหกรรมหนัก แต่หลังจากปรับนโยบายการไปในเชิงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิต สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง และพื้นที่สีเขียวได้ภายใน 3 ปี จนติดอันดับเมืองน่าอยู่ของฝรั่งเศสและระดับโลกได้

เอริค เพิล ผู้ว่าการเมือง Grenoble กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองมาจากการวางรากฐานด้านงานวิจัยและการศึกษาเป็นตัวนำ พร้อมใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีภาคเอกชน เช่น บริษัท ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่เข้ามาร่วมกับเทศบาลเมืองเกรโนเบิล

เป็นการเปลี่ยนธุรกิจ ไม่ใช่เปลี่ยนเมือง นับเป็นการเปิดโอกาสสนับสนุนให้บริษัทขนาดเล็ก หรือ สตาร์ทอัพ เข้ามาทดลองงานวิจัยฯ เพื่อต่อยอดธุรกิจรูปแบบใหม่ รวมถึง เปิดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และวางแผนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ทันสมัยด้วย

ปัจจุบันเมืองเกรอโนเบิล มีประชากรอยู่ราว 5 แสนคน มีนักนวัตกรรมประมาณ 6.5 หมื่นคน และนักวิจัยราว 2 หมื่นคน ซึ่งเมืองนี้มุ่งการพัฒนา 5 อุตสาหกรรมหลักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นาโนอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม เคมีภัณฑ์ ดิจิทัล และสุขภาพ เช่น ชีวศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ

ภายในเมือง Grenoble ยังประกอบด้วย GIANT Innovation Campus ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศด้านการพัฒนานวัตกรรมในหลายสาขา อาทิ ไมโครและนาโนเทคโนโลยี (MINATEC) พลังงานและสิ่งแวดล้อม สุขภาพทั้งชีวศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ โดย GIANT เป็นการร่วมมือ 5 ภาคส่วน โดยภาครัฐส่วนกลางและท้องถิ่น หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานในสหภาพยุโรป CEAและ ภาคเอกชน 15% โดยงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอกเหล่านี้จะถูกนำมาต่อยอดในการพัฒนา Smart City ใน GIANT Innovation Campus เป็น Smart City แบ่งเป็นโซนต่างๆ มีทั้งที่อยู่อาศัย สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียน ฯลฯ

ส่วนการเยือนเมืองใหม่เอสเพน(Aspern) ประเทศออสเตรีย พบว่า มีการออกแบบให้เป็นเมืองอัจฉริยะ บนที่ดินของรัฐเนื้อที่ 1,500 ไร่ ในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชนมูลค่าถึง 5 แสนล้านบาท โดยเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2550-2570

สำหรับสาธารณประโยชน์และสันทนาการ มากกว่า 50% มีระบบการคมนาคมสะดวก มีด้วยรถไฟฟ้าเชื่อมต่อจากกรุงเวียนนามายังเมือง Aspern ในอัตราค่าเพียง 1 ยูโร (35 บาท) ต่อวัน เรียกว่า เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก จนประชาชนไม่จำเป็นต้องออกไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญที่ลดการปล่อยมลพิษ และลดความแออัดของกรุงเวียนนา

ปัจจุบัน เมืองเอสเพน ดำเนินงานได้แล้วกว่า 30% ในพื้นที่ 625 ไร่ มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ราว 7 พันคน และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 3 หมื่นคน

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.ได้ศึกษาโมเดลการพัฒนาสมาร์ทซิตี้เมือง Grenoble และ GIANT เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาในพื้นที่อีอีซีไอและผลักดันเป็นสมาร์ทซิตี้ เพราะมีฐานความพร้อมสถาบันการศึกษาทั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์(KVIS) และสถาบัน วิทยสิริเมธี (VISTEC)ที่กลุ่มปตท.ใช้เม็ดเงินในการพัฒนาไปแล้วราว 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีไอ อีก 3,000 ล้านบาท เพื่อสร้างนักวิจัยฯ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2563 โครงการสมาร์ทซิตี้บางซื่อ

ส่วนโมเดลการพัฒนาสมาร์ทซิตี้เมืองเอสเพน อาจนำไปปรับใช้ในโครงการศูนย์กลางบางซื่อ(สมาร์ทซิตี้บางซื่อ) ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เป็นผู้ดูแล ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันทั้ง ระบบรางเชื่อมต่อการเดินทาง อาคารพาณิชย์ และพื้นที่สีเขียวที่ติดกับสวนรถไฟและสวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โดย โครงการฯนี้ ปัจจุบัน ปตท.ยังรอผลสรุปการศึกษารูปแบบการพัฒนาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น(ไจก้า) และรอความชัดเจนจากทาง ร.ฟ.ท.ว่าจะชวนให้เข้าไปร่วมมือในโครงการฯนี้อย่างไรด้วย

“การทำเรื่อง Innovation ต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่น ของประเทศเราเพิ่งเริ่ม 3-4 ปี แต่ยุโรปเขาใช้เวลาทำเป็น 100 ปี ซึ่งการจะสร้างนวัตกรรมสักเรื่องตั้งใช้ 6-10 ปีกว่าจะสำเร็จ ถ้าเรามุ่งมั่นทำก็เชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพไม่แพ้ใคร และของเราต่างจากทั้ง 2 เมืองนี้ ที่ไม่พูดถึงเรื่อง Bio แต่ประเทศเรามีฐานเกษตรกรรมก็ต้องไปดูต่อยอดตรงนี้อย่างไร” ชาญศิลป์ กล่าว