ไทยเป็นปธ.คณะทำงานอาเซียน ด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อผลักดันแก้ปัญหาขยะ

ไทยเป็นปธ.คณะทำงานอาเซียน ด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อผลักดันแก้ปัญหาขยะ

ธนาคารโลก (Workd Bank) หนุนงบดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ภายใต้ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ ๓๐ (30th Meeting of the ASEAN Senior Officials on the Environment: 30th ASOEN) วันสุดท้าย ที่ประชุมมีมติรับรองการเป็นประธานคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง (AWGCME) ของประเทศไทยต่อจากฟิลิปินส์ ซึ่งจะมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 3 ปี นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2563-2565

คณะทำงานดังกล่าว เป็นหนึ่งในสองคณะจากคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม 7 คณะ ที่กำลังมีบทบาทเป็นกลไกขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะทะเลในภูมิภาค หลังจากที่ประเทศไทยได้เสนอ ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน (Bangkok Declaration on Combating Marine Debris in ASEAN Region ) ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการที่จะบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาขยะในภูมิภาค และกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล (ASEAN Framework of Action on Marine Debris) เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันทั้งด้านนโยบายการบริหารที่จะช่วยลดปริมาณขยะทะเล ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล “Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris” ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  

โดยเอกสารทั้ง 2 ฉบับได้รับการรับรองและรับทราบในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit)ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เวียดนามซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนต่อจากประเทศไทยในปีหน้าได้รับปากว่าจะขับเคลื่อนงานด้านนี้ต่อ

ในขณะเดียวกัน ธนาคารโลกได้มอบงบสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ภายใต้ปฏิญญากรุงเทพฯ ในการประชุมในครั้งนี้อีกด้วย 

ขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนระดับโลกเมื่อมีการประเมินจากองค์กรนานาชาติที่จับตาเรื่องขยะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

โดยในปีพ.ศ. 2558 องค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) เผยแพร่รายงาน "Stemming the Tide: Land-based strategies for a plastic-free ocean" ที่จัดทำร่วมกับ McKinsey Center for Business and Environment ระบุว่า ทุกปี จะมีขยะพลาสติกราว 8 ล้านเมตริกตันรั่วไหลลงสู่ท้องทะเลทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกว่าครึ่งของขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่ทะเลมาจาก 5 ประเทศหลักๆ คือ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และประเทศไทย ซึ่งในรายงานได้แนะนำให้มีการทำงานประสานความร่วมมือในกลุ่มประเทศเหล่านี้ในระดับภูมิภาค

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นชอบข้อเสนอโครงการจัดทำรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอาเซียน ฉบับที่ 6, ข้อเสนอการจัดทำรายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเห็นชอบต่อแนวความคิดการพัฒนาอาเซียนด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยคำนึงถึงการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม