สถาบัน EEI เสริมศักยภาพ SMEs ไทยสู่สากล

สถาบัน EEI เสริมศักยภาพ SMEs ไทยสู่สากล

สถาบัน EEI จับมือกับสสว.จัดงาน “คิดให้แกร่ง แรงให้ไกล SMEs ไทยสู่สากล” พัฒนาผู้ประกอบการผ่านงานวินิจฉัยและให้คำปรึกษา ปรับใช้ในธุรกิจได้จริง สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าหรือบริการ ลดต้นทุน สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริม SME ตามนโยบายรัฐบาล

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ณ สิ้นปี 2560 มี กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,046,793 ราย คิดเป็น 99.78% ของจำนวนวิสาหกิจรวมทั้งประเทศ โดยเป็นส่วนของวิสาหกิจขนาดย่อม (SE) 3,028,495 ราย หรือคิดเป็น99.40% ของจำนวนวิสาหกิจรวมทั้งประเทศ และเมื่อจำแนก SME ตามประเภทการจัดตั้ง สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ นิติบุคคล 675,633 ราย หรือ 22.18% วิสาหกิจชุมชน 85,429 ราย หรือ 2.80% และบุคคล/อื่นๆ 2,285,731 ราย หรือ75.02% การจ้างงานของ SME อยู่ที่ 12,155,647 คน หรือคิดเป็น82.22 %ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ และในส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของ SME มีมูลค่า 42.4% ของ GDP ประเทศ ดังนั้น SME จึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ล่าสุด สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI) ร่วมกับสสว.จัดงาน “คิดให้แกร่ง แรงให้ไกล SMEs ไทยสู่สากล”ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มทั่วไป (Regular) โดยให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด การจัดการนวัตกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การลดต้นทุน หรือได้รับมาตรฐานต่างๆ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งจะมีความสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริม SME ตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างสมรรถนะผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน สู่การสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น

โดยภายในงานสัมมนาครั้งนี้ให้ความรู้ทางด้านการบริหารจัดการ การตลาด การผลิต การเงิน และให้ปรึกษาแนะนำเชิงลึกจากวิทยากร อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้สูงขึ้น สร้างให้เกิดมาตรฐานและคุณภาพในกระบวนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความสร้างสรรค์ รวมทั้งต่อยอดจนสามารถได้รับมาตรฐานสินค้าและบริการที่เป็นรูปธรรม เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ GDP ของประเทศ เช่น กลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป กลุ่มแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ กลุ่มบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและกลุ่มท่องเที่ยวรายได้สูง กลุ่มสปาและความงาม กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งจะสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริม SME ตามนโยบายรัฐบาล และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นภารกิจหลัก

10194015263486

นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(EEI) กล่าวว่า จัดงานคิดให้แกร่ง แรงให้ไกล SMEs ไทยสู่สากล ครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจต่างๆ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้รับความรู้และมีแนวทางไปปรับปรุง พัฒนา หรือต่อยอด ภายในองค์กรให้สามารถแข่งขันปรับตัวอยู่ในธุรกิจ ปัจจุบันสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป การรับจ้างผลิตของผู้ประกอบการแบบเดิมอาจไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคอีกต่อไป ผู้ประกอบการ จึงต้องปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นการผลิตที่เน้นการพัฒนาและออกแบบสินค้า (Original Design Manufacturer : ODM) รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง (Original Brand Manufacturer : OBM) ตลอดจนการรักษาและขยายส่วนแบ่งทางการตลาดเดิม รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตลาดใน ประเทศ ตลาดภูมิภาคและตลาดโลก

ทั้งนี้ ด้านตลาดในประเทศควรสนับสนุนให้ใช้สินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทย ทั้งชิ้นส่วนและ สินค้าสำเร็จรูป โดยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคด้วยการสร้างมาตรฐานสินค้า รวมถึงต้องสนับสนุน การจัดซื้อภาครัฐเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย ด้านตลาดภูมิภาคควรพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เพื่อขยายการผลิต และการค้าให้ครอบคลุมมากขึ้นและด้านตลาดโลกมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain : GSC) โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะผู้รับจ้างผลิต ซึ่งจะมี ความเชี่ยวชาญในการผลิตเฉพาะชิ้นส่วน รวมถึงการประกอบสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป

“เพื่อให้การเสริมสร้างศักยภาพพัฒนาผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และสสว. จึงดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ในปี 2562 เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการภาคการผลิต การค้า และบริการ ผ่านแนวทางการพัฒนาโดยการวินิจฉัย และให้คำปรึกษาให้ผู้ประกอบการได้ทราบถึงจุดอ่อนจุดแข็ง รวมไปถึงการให้คำปรึกษาและพัฒนาเชิงลึกในด้านต่าง ๆ เพื่อสามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจได้จริง ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าหรือบริการ ลดต้นทุน การประกอบธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าหรือการบริการ เป็นการเสริมสร้างสมรรถนะการประกอบการให้เข้มแข็งยั่งยืนอย่างเป็นระบบ และจากปัจจัยดังกล่าวจะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อน SME ของไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติต่อไปในอนาคต” นายณรัฐ กล่าว