'เวียดนาม' รับปากไทย จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียนต่อ

'เวียดนาม' รับปากไทย จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียนต่อ

"เวียดนาม" รับปากไทย จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียนต่อ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมประชุม ASOEN ครั้งที่ 30 เพื่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค รวมทั้งความพยายามแก้ปัญหาขยะทะเล โดยประเทศไทยได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษเรื่อง การป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 30 (30th ASEAN Senior Officials Meeting on the Environment : 30th ASOEN) ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหยิบยกประเด็นปัญหาขยะทะเล รวมทั้งปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียนขึ้นมาพูดคุย โดยประเทศไทยแสดงความเป็นห่วงว่า จะมีดำเนินการในสิ่งที่ริเริ่มมาอย่างไรให้ต่อเนื่อง

นายวิจารย์ กล่าวว่า ที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ ทางเวียดนามซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า จึงได้รับปากที่ประชุมว่าจะขับเคลื่อนงานต่อ

ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน เป็นความคิดริเริ่มของประเทศไทย โดย ทส. ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล “Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris” ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุม

ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม 2 ฉบับ คือ ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการที่จะบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาขยะในภูมิภาค และกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันทั้งด้านนโยบายการบริหารที่จะช่วยลดปริมาณขยะทะเล โดยเอกสารทั้ง 2 ฉบับได้รับการรับรองและรับทราบในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมที่กรุงเทพวันนี้และวันพรุ่งนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน รวมถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆในภูมิภาค ได้แก่ 1.การอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 2.สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง 3.การจัดการทรัพยากรน้ำ 4.สิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน 5.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 6.การจัดการสารเคมีและของเสีย 7.สิ่งแวดล้อมศึกษาการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

นายวิจารย์ยังกล่าวอีกว่า องค์กรต่างประเทศ อาทิเช่น ธนาคารโลก ธนาคารเอเชีย มีความสนใจที่จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาขยะทะเลของภูมิภาค ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป ก็เห็นด้วยกับการจัดการขยะพลาสติกและขยะทะเลและได้เสนอแนะผลการวิเคราะห์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขยะทะเลของอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งประเทศไทยกำลังทำ อาทิ การนำเอาพลาสติก มาทำเป็นเสื้อผ้า เอาทำถนน เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ที่ประชุมจะหารือเพิ่มเติมในประเด็นความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศอีกครั้ง นายวิจารย์กล่าว โดยยืนยันความสำเร็จของการริเริ่มของประเทศไทยเพราะถือเป็นงานด้านบวก และเป็นปัญหาร่วมกันทั้งภูมิภาค ประเทศไทย รวมทั้งอีก 4 ประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ มาเลเซีย ถูกประเมินจากองค์กรที่จับตาเรื่องขยะโลกว่าเป็นประเทศที่ติดอันดับในการทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก

นอกจากประเด็นเรื่องขยะทะเล ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียนแห่งใหม่ จำนวน ๕ แห่ง เป็น ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่ เกาะลิบง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ของไทย อุทยานแห่งชาติ Lo Go – Xa Mat และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Ngoc Linh ของเวียดนาม และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Htamanthi ของเมียนมา ที่ประชุม ยังได้เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุม Climate Action Summit 2019 และร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) สมัยที่ 25 เพื่อนำไปเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15ให้การรับรอง