สธ.เผยรอบ 3 ปีจ.ภูเก็ตไม่พบผู้ป่วยจากปรสิตชนิดทำชาวออสซี่ป่วย

สธ.เผยรอบ 3 ปีจ.ภูเก็ตไม่พบผู้ป่วยจากปรสิตชนิดทำชาวออสซี่ป่วย

สธ.ยังสรุปไม่ได้นักท่องเที่ยวติดเชื้อปรสิตจากกินอาหารในไทย เผยรอบ 3 ปี จ.ภูเก็ตไม่พบรายงานผู้ป่วยจากเชื้อปรสิต “ไดเอนตามีบา ฟราจิลิส” ทั่วประเทศพบไม่ถึง 10 ราย ระบุมีรายงานพบเชื้อชนิดนี้ในออสเตรเลียด้วย

จากกรณีสองสามีภรรยาชาวออสเตรเลียระบุว่าป่วยติดเชื้อ ปรสิตไดเอนตามีบา ฟราจิลิส (Dientamoeba fragilis) จากการกินผัดไทยที่ศูนย์อาหารแห่งหนึ่งในภูเก็ต ขณะเดินทางมาเที่ยวไทยเมื่อ 2 ปีก่อนนั้น


นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าเมื่อปี 2560 สามีภรรยาชาวออสเตรเลีย เข้าพักที่โรงแรมในจ.ภูเก็ต และช่วง 2-3 วันแรกได้รับประทานอาหารที่โรงแรมและไม่มีอาการป่วย จนกระทั่งได้ไปเที่ยวในตัวเมืองภูเก็ตและแวะรับประทานอาหารที่ศูนย์อาหารแห่งหนึ่ง กลางคืนทั้งคู่มีอาการไข้ขึ้น รู้สึกหนาวสั่นแต่เหงื่อออก วันต่อมา อาการแย่ลงจึงตัดสินใจซื้อตั๋วกลับประเทศ ทั้งคู่ยังมีอาการป่วย อ่อนเพลียหมดเรี่ยวหมดแรง เป็นแผลในปาก กินอาหารไม่ได้อยู่อีกนาน ไปพบแพทย์ก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ จนกระทั่งเดือนพ.ย. 2561 ทั้งคู่ได้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหาร ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าทั้งสองคนติดเชื้อปรสิตชนิด ไดเอนตามีบา ฟราจิลิส จึงได้ให้ยาปฏิชีวนะ วิตามินและถ่ายเลือด ทำให้มีอาการดีขึ้นตามลำดับ


นพ.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า กรณีนี้กรมควบคุมโรค สธ.ได้ส่งทีมควบคุมโรคลงพื้นที่จ.ภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงเพื่อสอบสวนโรค และตรวจสอบข้อมูลโรคและสิ่งแวดล้อมในปีที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาที่ประเทศ ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าชาวออสเตรเลียทั้งสองคนติดเชื้อปรสิตจากการรับประทานอาหารที่เมืองไทยหรือไม่ อีกทั้ง ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา จ.ภูเก็ตไม่พบรายงานผู้ป่วยจากเชื้อชนิด ไดเอนตามีบา ฟราจิลิส ขณะที่ข้อมูลทั้งประเทศพบรายงานผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อนี้ไม่ถึง 10 ราย
“หากดูข้อมูลอาหารผัดไทย โอกาสเกิดน้อยมาก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเป็นอาหารปรุงสุก และผักที่เป็นองค์ประกอบในจาน ก็ไม่น่าจะมี โอกาสติดเชื้อจากตรงนี้น้อยมากๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งในประเทศไทยมีระบบการตรวจสอบเรื่องอาหาร มีรณรงค์โครงการอาหารปลอดภัย มีการอบรมและตรวจสอบผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างสม่ำเสมอ แต่การกินอาหารนั้นมีโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อโรค พยาธิ หรือสิ่งปลอมปนได้เสมอ


นพ.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า เชื้อไดเอนตามีบา ฟราจิลิส เป็นเชื้อปรสิตที่อยู่ในทางเดินอาหารของคน มีขนาดโตกว่าแบคทีเรียเล็กน้อย มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อาจออกมากับอุจจาระและเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำแล้วไปปนเปื้อนในวัตถุดิบทำอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ คนทั่วไปอาจติดเชื้อนี้ได้แบบไม่มีอาการ แต่บางคนจะมีอาการป่วย เช่น ปวดท้อง ท้องอึด ท้องร่วง อ่อนเพลีย ป่วยเรื้อรัง หรือ อาจจะติดเชื้อในกระแสเลือด โดยเชื้อเหล่านี้อยู่ในสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ค่อยเจอผู้ติดเชื้อแล้วป่วยในไทย จากข้อมูลการกระจายตัวของเชื้อตัวนี้ พบว่าในออสเตรเลียก็มีเชื้อนี้อยู่เช่นกัน สำหรับการรักษารับประทานยาก็หายขาด แต่หากไม่ได้รับการรักษาก็มีโอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนอยู่ในร่างกายได้นาน


นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า การที่เชื้อปรสิตจะสามารถอยู่ในร่างกายได้นาน 2 ปีหรือไม่ หากไม่ได้รักษาเชื้อจะสามารถปนเปื้อนอยู่ได้ แต่เมื่อดูจากอาการข้อมูลผู้ป่วยยังให้ประวัติไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามนักท่องเที่ยวอีกส่วนหนึ่งบอกว่าอาหารไทยค่อนข้างสะอาด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่พวกเขาเคยไป หลายคนเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้ง ไปมาหลายจังหวัดแต่ไม่เคยป่วย และพวกเขาเลือกกินอาหารจากร้านที่มีความสะอาด วัตถุดิบดูสดใหม่ และสังเกตว่ามีลูกค้ามากินเยอะหรือไม่ รวมทั้งดื่มน้ำบรรจุขวด