5 กลุ่มเสี่ยงควรตรวจ 'วัณโรคแฝง'

5 กลุ่มเสี่ยงควรตรวจ 'วัณโรคแฝง'

สธ.แนะกลุ่มเสี่ยงควรตรวจวัณโรคแฝง หลังพบคนไทย3-4 หมื่นคนหลุดจากระบบรักษา และกว่า 20 ล้านคนมีวัณโรคแฝง

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าว “การให้บริการตรวจการติดเชื้อวัณโรคแฝง และการพัฒนาชุดทดสอบวัณโรค ตรวจง่าย ได้ผลเร็ว”ว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 1.2 แสนคน เสียชีวิตปีละ 1.2 หมื่นคน เข้าสู่ระบบการรักษาและสามารถติดตามอาการและการรักษาได้ประมาณ 80,000 คน คิดเป็น 75% ซึ่งผู้ป่วย 80% ตรวจพบที่ปอด และ 20 %ตรวจพบนอกปอด ขณะที่อีก 30,000-40,000 คนหลุดจากระบบการรักษา นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)คาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของประชากรมีการติดเชื้อวัณโรคแฝงหรือแบบไม่แสดงอาการ ซึ่งไม่สามารถแพร่เชื้อได้ แต่เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค ประเทศหากเทียบจากประชากร 60 ล้านคน ก็จะมีอยู่ราว 20 ล้านคน


ปลัดสธ. กล่าวอีกว่า การตรวจวัณโรคแบบเดิมจะใช้การเอ็กซเรย์ปอด และการตรวจหาเชื้อจากเสมหะด้วยการย้อมสี แต่พบว่ายังมีวัณโรคแผง ในคนที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอากการ เสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขที่มีการใกล้ชิดกับการดูแลผู้ป่วย ที่พบว่า 25 % หรือ 1 ใน 4 ของบุคลากรเจอเชื้อวัณโรคแฝง รวมถึง มีผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคในอวัยวะอื่นของร่างกายนอกจากปอด เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง หรือโพรงจมูก เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีการค้นหาวัณโรคแฝงให้เจอ เพื่อเข้ารับการรักษาเบื้องต้น ไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยวัณโรคในอนาคต ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาการตรวจวัดปริมาณสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมาจากตัวอย่างเลือด (Interferon Gamma Release Assay : IGRA) ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ควรจะได้รับการตรวจวัณโรค อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบ ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ที่จะต้องเดินทางไปต่างประเทศตามที่ประเทศปลายทางกำหนดให้ต้องตรวจวัณโรคแฝง


นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้พัฒนาชุดทดสอบ ทีบี แลมป์ (LAMP : Loop-mediated isothermal amplification) มาเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยวัณโรคแบบมีอาการ ใช้การตรวจดีเอ็นเอจากตัวอย่างเสมหะ วิธีการตรวจง่าย มีความไวและความจำเพาะต่อเชื้อวัณโรคสูง รู้ผลใน 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ฮูแนะนำให้ใช้แทนการตรวจด้วยวิธีการย้อมเชื้อในเสมหะ หรือใช้ตรวจเพิ่มในรายที่มีผลตรวจย้อมเชื้อในเสมหะเป็นลบ เนื่องจากมีความไวกว่าถึง 1,000 เท่า ขณะนี้นำร่องใช้ในโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) เขตสุขภาพที่ 7 อยู่ระหว่างการติดตามผล และจะขยายไปยังโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)และให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน(อสม.)ใช้ต่อไปในราวเดือนต.ค.-พ.ย.นี้ และจะมีการผลักดันให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพรัฐต่อไป


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ชุดทดสอบทีบี แลมป์มีราคาไม่เกิน 200 บาทต่อการทดสอบ1ครั้ง ขณะที่หากเป็นการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นจะมีราคาสูงกว่าถึง 5 เท่า มีราคาถูกกว่าวิธีตรวจดีเอ็นเอด้วยวิธีอัตโนมัติ โดยใช้เครื่องอัตโนมัติ Xpert MTB/RIF ที่มีราคาชุดทดสอบ 700 บาทต่อการทดสอบแต่ละครั้งและมีความไวกว่าการตรวจด้วยวิธีการย้อมสีเชื้อในเสมหะ จึงช่วยให้ตรวจพบผู้ป่วยวัณโรคได้มากขึ้น


ด้านนางเบญจวรรณ เพชรสุศิริ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. อธิบายว่า วิธีการตรวจเชื้อวัณโรคในปัจจุบัน แบ่งเป็น 1.วิธีการย้อมสีเชื้อซึ่งจะทราบผลใน 2 ชั่วโมง แต่พบว่าในคนไข้ที่มีเชื้อและมีอาการ หากมีปริมาณเชื้อน้อยจะตรวจไม่เจอ ซึ่งพบถึง 50 % ที่จะตรวจเชื้อไม่เจอ เนื่องจากวิธีการนี้ในเสมหะ 1 มิลลิลิตรจะต้องมีเชื้อถึง 10,000 ตัวจึงจะตรวจเจอ และ2.การเพาะเชื้อที่จะต้องใช้เวลานานราว 1 เดือน ดังนั้น ฮูจึงแนะนำให้ใช้วิธีการอื่นในการตรวจหาเชื้อวัณโรค คือ การใช้เครื่องอัตโนมัติ และการใช้แลมป์ ที่จะสามารถตรวจเชื้อเจอแม้จะมีปริมาณเชื้อเพียง10-100 ตัวในเสมหะ 1 มิลลิลิตร


“การใช้เครื่องอัตโนมัติจะมีราคาสูงในการซื้อเครื่องราว 1 ล้านบาท และตลับในการตรวจแต่ละครั้งอีก 700 บาท จึงมีราคาแพง ในระดับรพช.จะไม่มีเครื่องนี้ การตรวจเชื้อจึงต้องส่งไปรพศ.หรือรพท.ทำให้มีความล่าช้าและเพิ่มค่าใช้จ่าย ขณะที่วิธีแลมป์ตามมาตรฐานของฮูจะต้องตรวจเชื้อเจอในกลุ่มที่ตรวจด้วยการย้อมสีเชื้อแล้วไม่เจอ 42 %จึงจะถือว่าได้มาตรฐาน แต่ ทีบี แลมป์ที่กรมฯพัฒนาขึ้นสามารถตรวจเจอเชื้อที่วิธีย้อมสีเชื้อตรวจไม่เจอถึง 72 % “นางเบญจวรรณกล่าว
นางเบญจวรรณ กล่าวอีกว่า วิธีการตรวจดด้วยทีบีแลมป์ ทำได้โดยการนำเสมหะ มาสกัดดีเอ็นเอ แล้วใส่ในหลอดที่มีน้ำยาที่กรมพัฒนาขึ้น รอเวลาราว 1 ชั่วโมง และอ่านผลด้วยตาเปล่า โดยสังเกตจากสี หากผลเป็นบวก จะมีการเปลี่ยนแปลงจากสีส้มเป็นสีเขียว และหากผลเป็นลบ จะไม่มีการเปลี่ยนสี ยังเป็นสีส้มเหมือนเดิม