แก๊สหมดกด ‘ฟินแก๊ส’ แปลงธุรกิจเก่าให้ดูไฉไล

แก๊สหมดกด ‘ฟินแก๊ส’ แปลงธุรกิจเก่าให้ดูไฉไล

“ในการพิชชิ่งทุกครั้ง เรามักถูกถามว่าเวลานี้คนยังใช้แก๊สหุงต้มอยู่หรือ คนน่าจะใช้ไฟฟ้ากันทั้งหมดแล้ว แล้วใครจะมาใช้แอพของคุณ"

“ภรณี วัฒนโชติ” (ส้ม) ซีอีโอ/ผู้ร่วมก่อตั้ง และ “เตวิช บริบูรณ์ชัยศิริ” (เบียร์) ซีเอ็มโอ/ผู้ร่วมก่อตั้ง ฟินแก๊ส (FinGas) แอพการซื้อขายแก๊สหุงต้ม ยอมรับว่าธุรกิจที่ทำอยู่ดูเหมือนจะตกยุค ไม่น่าจะเป็นไปได้ ซึ่งพวกเขาเองก็เคยคิดแบบเดียวกันว่าแก๊สจะไปต่อได้ไกลแค่ไหน และได้พบว่าความเป็นจริงนั้นตัวเลขการใช้แก๊สเพิ่มขึ้นทุกปี มีข้อมูลที่ชี้ว่ามีคนไทยใช้แก๊สมีมากถึง 75% และที่เหลือ 25% เป็นไฟฟ้า ฟืน ถ่านฯลฯ


"ธุรกิจแก๊สอยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนานกว่า 50 ปีแล้วและตัวเลขการเติบโตยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเดียวกันประเทศรอบ ๆบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือเวียดนามซึ่งกำลังเจริญเติบโต เขากลับเพิ่งเริ่มใช้แก๊ส กลับเพิ่งเริ่มบรรจุแก๊ส กลับเพิ่งเริ่มจะมีดีลเลอร์ขายแก๊ส ตัวเลขก็จะยิ่งโตใหญ่เลย"


แม้เป็นธุรกิจเก่าแก่ แต่มีแนวโน้มว่าน่าจะมีอายุที่ยืนยาว เนื่องจากแก๊สหุงต้มถูกฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมการทำอาหารของผู้คนในเอเชีย จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เช่นเดียวกับในชีวิตประจำวันของคนเราที่ไม่สามารถขาดอาหาร ของใช้ และน้ำดื่มได้


พวกเขาเล่าถึงที่มากว่าจะมาเป็นฟินแก๊สว่า มีเพื่อนคนหนึ่ง (ปัจจุบันเป็นซีทีโอของฟินแก๊ส) ซึ่งทำธุรกิจร้านแก๊สมาระบายความทุกข์ให้ฟังว่าที่ร้านเขามีปัญหาเต็มไปหมด เช่น เมื่อลูกค้าโทรสั่งแก๊สเข้ามาก็ก็ต้องคอยจดชื่อ จดเลขที่บ้าน จดรายละเอียดต่าง ๆ แสนจะยุ่งยากไม่เหมือนกับเวลาโทรไปซื้อไก่ทอดเคเอฟซีหรือแม็คโดนัลด์ที่ระบบจะรู้ทันทีว่าลูกค้าชื่ออะไร อยู่ที่ไหน เป็นการประหยัดเวลา และไม่ต้องคอยซักถามกันใหม่ทุกครั้ง


เพื่อนเจ้าของร้านแก๊สซึ่งเรียนจบวิศวกรรมซอฟท์แวร์เลยเกิดความคิดว่าอยากจะเขียนระบบพีโอเอสขึ้นมาใช้บริหารจัดการร้าน แต่สำหรับเตวิช ซึ่งหมวกอีกใบที่สวมอยู่ในเวลานี้ก็คือการเป็นเจ้าของร้านอาหาร “ลิ้มเหล่าโหงว บิสโทร” เขามองว่าในเชิงบิสิเนสนั้นถ้าแค่ทำเองใช้เองก็คงไม่คุ้ม ก็เลยชักชวนเพื่อน ๆมาช่วยกันฟอร์มไอเดียจนสุดท้ายก็ออกมาเป็นฟินแก๊ส


"พวกเรามองว่าในอดีตที่ผ่านมาธุรกิจแก๊สไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย เลยอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ธุรกิจพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงพัฒนาฟินแก๊สเป็นแอพสำหรับการซื้อขายแก๊สหุงต้ม เพื่อให้ทุกอย่างสะดวกสบาย ง่ายขึ้นทั้งฝั่งคนขายและคนซื้อ"


จากที่ได้พูดคุยกับลูกค้าทำให้ได้รู้ถึงปัญหาที่พวกเขาพบอยู่บ่อยครั้งก็คือเวลาโทรไปหาร้านแก๊สแต่ละครั้งก็มักจะได้รับแก๊สล่าช้า ทำนองว่าสามวันสามคืนก็ยังไม่ได้ หรือแม้ว่าจะโทรไปหาอีกสิบกว่าร้านก็ยังไม่มีคนเอาแก๊สมาส่ง ซึ่งฟินแก๊สจะช่วยกำจัดความยุ่งยากตรงนี้ โดยให้ทางฝั่งผู้ซื้อหรือลูกค้าเพียงแค่กดแค่สองสามคลิกก็สามารถสั่งแก๊สได้เลยทันที และในการสั่งครั้งต่อๆไปก็ยิ่งง่ายขึ้นไปอีก เพราะระบบจะช่วยจดจำให้ว่าลูกค้าเคยใช้ถังขนาดเท่าไหร่ ยี่ห้ออะไร บ้านที่อยู่ที่ไหน ในครั้งต่อไปลูกค้าก็แค่กดคลิกเดียวก็สั่งแก๊สได้เลย


"ไม่แค่ความสะดวกแต่ยังมีความรู้สึกปลอดภัย เพราะธุรกิจที่บ้านผมก็เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวและก็มักจะกลัวแก๊สหมดจึงต้องสต็อกแก๊สไว้เป็นสิบๆถังเลย ซึ่งคงไม่มีใครอยากจะสต็อกเพราะมันเป็นความปลอดภัยของตัวเราและคนในครอบครัว และระบบฟินแก๊สก็จะช่วยในเรื่องของสต็อกได้ด้วย มันจัสอินไทม์พอหมดปุ๊บก็ค่อยสั่งแก๊สซึ่งจะมาส่งให้ในทันที ไม่ต้องรอเก้อ"


ส่วนทางฝั่งของร้านค้าแก๊สเอง เมื่อระบบเข้ามาช่วยรับออเดอร์ผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ร้านมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ที่สุดก็จะช่วยเพิ่มผลกำไร ยอดขายได้มากยิ่งขึ้น พวกเขายังเผยถึงข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ เวลานี้ประเทศไทยมีร้านขายแก๊สจำนวนมากกว่า 3 หมื่นร้านซึ่งก็ยังไม่พอต่อความต้องการ ขณะที่เจ้าของร้านส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของได้แค่ร้านเดียว ร้านแก๊สไม่มีลักษณะเป็นเชน เจ้าของคนเดียวมีหลายร้านเหมือนธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากเพราะไม่มีระบบเจ้าของร้านก็เลยทำได้แค่ร้านเดียว ต้องคอยนั่งดูออร์เดอร์ ต้องนั่งคุมพนักงานอยู่ที่หน้าร้าน


"ฟินแก๊สอยากเข้ามาช่วยพัฒนาเจ้าของร้านแก๊สขยับสู่การเป็นผู้บริหารร้านแก๊ส ให้สามารถเพิ่มและขยายจำนวนสาขาได้มากขึ้น ระบบเราจะช่วยบริหารจัดการออเดอร์ คุมสต็อกสินค้าว่ามีเพียงพอต่อการขายหรือเปล่า ทั้งช่วยในเรื่องของคนขับรถส่งของ เรามีไดรฟ์เวอร์แอพที่มีแผนที่บ้านของลูกค้าที่ชัดเจนไม่ต้องไปเสียเวลาขับวนรถหาให้เสียค่าน้ำมัน ระบบช่วยทำให้เจ้าของร้านทำงานน้อยลงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น "


ถ้าทำได้ก็จะถือว่าเป็นการพลิกบทบาทเถ้าแก่ร้านแก๊สไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้จะทำให้ร้านแก๊สเป็นธุรกิจที่สามารถส่งมอบกิจการให้ลูกหลานได้ด้วย เพราะทายาทธุรกิจซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มองว่าร้านแก๊สไม่เซ็กซี่พอจึงไม่คิดสืบทอดกิจการ แต่หากเปลี่ยนระบบบริหารจัดการใหม่ให้เป็นดิจิทัล พวกเขาสามารถทำงานได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว ก็น่าจะทำให้มุมมองพวกเขาเปลี่ยนไปคือหันกลับมาสนใจธุรกิจครอบครัวมากขึ้น


ฟินแก๊สใช้กลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” เพราะเมื่อทีมงานฟอร์มไอเดีย คิดหาโซลูชั่นกันแล้ว จากนั้นก็ไปเก็บข้อมูลจากร้านค้า ไปเก็บข้อมูลอินไซต์ของลูกค้านำมาพัฒนาแอพและได้ลอนซ์ทดสอบเป็นครั้งแรกเมื่อสองเดือนที่ผ่านมาในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะผูกระบบไว้กับไลน์เพื่อให้การเข้าถึงพ่อบ้านแม่บ้านได้ง่ายขึ้น


"ลูกค้าเป้าหมายของเราเป็นกลุ่มครัวเรือน ไม่ใช่ร้านค้าหรือร้านอาหาร เพราะเราจะชาร์ตค่าบริการ 5% ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้เขาไม่มองว่ามันเป็นต้นทุน เพราะต้องการความสะดวกสบายแม้มีส่วนต่างของราคานิดหน่อยเขาก็ยอมจ่าย เพราะการทำอาหารเพื่อคนในครอบครัวมีความสำคัญมากกว่า สำหรับคุณแม่ที่ต้องทำอาหารเช้าให้ลูกทานก่อนไปโรงเรียนถ้าแก๊สเกิดหมดความรู้สึกของเขาก็คงไม่ดีนัก"


ผลปรากฏว่าฟีดแบ็คที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจ ทั้ง ๆที่ไม่ค่อยทำการตลาดเป็นการลอนซ์โปรดักส์ออกไปเงียบๆ แต่อาศัยทำ SEO เพื่อให้อยู่อันดับแรกของกูเกิล เพราะเชื่อว่าคนที่ปัญหาแก๊สหมด หรือหาร้านแก๊สไม่ได้ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องใช้วิธีค้นหาในกูเกิล แต่ก็มีการทำตลาดออนไลน์เป็นขบวนรถแห่ประชาสัมพันธ์ไปตามตลาดสดต่างๆ


"เพราะเรายังไม่มั่นใจระบบเท่าไหร่ กลัวว่าถ้าปล่อยแบบเล่นใหญ่ไปปุ๊บ ถ้ามีคำสั่งซื้อมาระบบหลังบ้านเราอาจรองรับไม่ได้ กลายเป็นว่าฟีดแบ็คติดลบแล้วคนจะไม่มาใช้อีก ก็เลยปล่อยไปแบบเงียบๆ แต่เราได้รับออเดอร์มาวันละ 60 ออเดอร์เฉพาะในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่อย่างเดียวก็เกินสิ่งที่คิดเอาไว้ ในเวลาเดียวกันกลับมีออเดอร์เกิดขึ้นที่จังหวัดอื่น ๆที่ไม่ใช่เชียงใหม่ด้วยจึงทำให้เรารู้ว่าที่อื่นก็มีดีมานด์"


ระบบหลังบ้านของฟินแก๊สจะเสร็จสมบูรณ์ต้นเดือนกรกฏาคมนี้ และกำลังก้าวสู่สเต็ปของการบุกตลาดกรุงเทพ ซึ่งเวลานี้กำลังหาร้านแก๊สเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ โดยใช้วิธีส่งทีมเซลล์เข้าไปพูดคุยโดยตรง รวมถึงใช้เว็บไซต์ฟินแก๊สเพื่อเป็นช่องทางให้ร้านค้าแก๊สที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการร้านสามารถสมัครเข้ามาได้เช่นกัน (ร้านแก๊สใช้ระบบฟรี)


"เมื่อเข้ากรุงเทพแล้วอีกประมาณสามเดือนถัดไป เราจะกระจายไปสู่จังหวัดที่เป็นหัวเมือง อีกหนึ่งไมล์สะโตนของเราก็คือ การสมัครเข้าดีแทคแอคเซอเลอเรท เพราะฟินแก๊สอยู่ในตลาดที่เป็นผู้บริโภคโดยตรง การเข้าดีแทคฯถือเป็นการช่วยขยายการรับรู้ของผู้บริโภค ทางร้านแก๊สเองก็ได้รับรู้ข่าวสารด้วย เพราะทั้งร้านค้าและลูกค้าเองอาจมองว่าเราเป็นใครมาจากไหน เชื่อถือได้หรือเปล่า ดีแทคฯถือเป็นเครดิตให้เราแสดงถึงตัวตนและจุดประสงค์ว่าเราอยากเข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมแก๊ส"