ไมโครซอฟท์ชูวิชั่น "โลกเปิด เทคโนโลยีเปลี่ยน กลยุทธ์ต้องเปิดกว้าง”

ไมโครซอฟท์ชูวิชั่น "โลกเปิด เทคโนโลยีเปลี่ยน กลยุทธ์ต้องเปิดกว้าง”

โอกาสดีๆ ไม่ควรถูกจำกัดด้วยขอบเขตของความเป็นคู่แข่งกัน

ใครที่ติดตามข่าววงการไอทีอยู่เป็นประจำ คงได้เซอร์ไพรส์กันไปเมื่อเดือนก่อนกับข่าวการจับมือกันระหว่างไมโครซอฟท์กับโซนี่ เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์สำหรับวงการเกม หลังจากที่ทั้งสองบริษัทเป็นคู่แข่งกันมาเป็นเวลาเกือบ 18 ปีเต็ม

ส่วนในฝั่งธุรกิจ หลายคนก็อาจจะผ่านตามาแล้วกับป้ายสีน้ำเงินที่มีอักษร “Microsoft ❤ Linux” ที่เริ่มเห็นกันในช่วงปีสองปีหลัง หรือหากย้อนไปอีกนิด ก็ยังมีอีกหนึ่งเซอร์ไพรส์ใหญ่อย่างการที่ผู้บริหารไมโครซอฟท์ไปปรากฎตัวในงานแถลงข่าวของแอปเปิล เพื่อเปิดตัวแอป Office สำหรับแพลตฟอร์มไอโอเอส

คลาวด์-เอไอ เปิดโอกาสใหม่

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การขยายตัวของเทคโนโลยีอย่างคลาวด์และเอไอได้เปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ๆ มากมายในทุกอุตสาหกรรม ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม เข้าใจดีว่าโอกาสเหล่านี้มีความน่าสนใจมากแค่ไหน สามารถเปลี่ยนโลกได้มากเพียงใด ซึ่งไมโครซอฟท์ มองว่า โอกาสดีๆ ทั้งหมดนี้ไม่ควรถูกจำกัดด้วยขอบเขตของความเป็นคู่แข่งกัน

"แพลตฟอร์มคลาวด์ อาซัวร์ ของเรายินดีต้อนรับนักพัฒนาจากทุกค่าย ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้พวกเขาได้เปลี่ยนฝันและวิสัยทัศน์ให้กลายเป็นความจริงอย่างไร้ข้อจำกัด ขณะที่การควบรวมกิจการของ GitHub แพลตฟอร์มจัดเก็บและบริหารจัดการโค้ดสำหรับนักพัฒนา สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ไมโครซอฟท์ยุคนี้ ที่ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การขยายส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์หรือบริการไหนของเรา แต่ต้องการขับเคลื่อนให้ทุกคนและทุกองค์กรเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ รวมไปถึงนักคิดในโลกของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สด้วย"

เขากล่าวเสริมว่า แม้แต่ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์เองยังเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเป็นแบบโอเพนซอร์สไปบ้างแล้ว เช่น แอพเครื่องคิดเลขในวินโดวส์ 10 ที่เปิดให้นักพัฒนาบน GitHub นำไปดัดแปลง แก้ไข เพิ่มคุณสมบัติใหม่ให้ไมโครซอฟท์นำไปทดลองใช้ก่อนกระจายออกสู่ผู้ใช้ทั่วไป ส่วนเว็บเบราเซอร์เอดจ์ (Edge) ก็หันมาใช้ผลงานโอเพนซอร์สอย่าง โครมเมียม (Chromium) ของกูเกิลเป็นหัวใจหลัก

แนะร่วมมือสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่

ขณะที่ในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ไมโครซอฟท์ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายโอเพ่น อินเวนชั่น เน็ตเวิร์ค (OIN) นับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว เพื่อเปิดให้นักพัฒนาบนแพลตฟอร์มลินุกซ์ใช้เทคโนโลยีที่มีรากฐานอยู่บนสิทธิบัตรของไมโครซอฟท์กว่า 60,000 ฉบับ โดยไม่มีความเสี่ยงทางกฎหมายและไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ใดๆ

"นอกจากเส้นแบ่งระหว่างเรากับคู่แข่งแล้ว ผมเชื่อว่าอีกหนึ่งเส้นแบ่งที่เราต้องก้าวข้ามให้ได้ คือ กรอบความคิดที่อาจจำกัดมุมมองของธุรกิจให้มองเห็นเพียงแค่สิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า แต่ควรเปิดและร่วมมือกันเพื่อสร้างสิ่งที่ใหญ่กว่า วันนี้บริษัทไทย คนไทย มีโอกาสประสบความสำเร็จระดับโลกด้วยการสร้างความแตกต่างโดยอาศัยโอกาสจากโลกแห่งดิจิทัล"

ธนวัฒน์ กล่าวว่า อีกปัจจัยที่ต้องไม่มองข้าม คือ เครือข่ายพันธมิตรที่ทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทุกแนวคิดและนวัตกรรม สามารถงอกเงยเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ ในส่วนนี้ไมโครซอฟท์เปิดกว้างการทำงานกับนักพัฒนาทุกราย ทั้งยังให้การสนับสนุนพันธมิตรทุกรายอย่างรอบด้าน นับตั้งแต่การตั้งต้นพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์โซลูชั่นใหม่ๆ ไปจนถึงการร่วมกันทำตลาดและหาโอกาสเพื่อจับคู่กับลูกค้าที่เหมาะสมอีกด้วย

"ไม่แน่ อีกไม่นาน เราอาจจะต้องเลิกใช้คำว่า ยืนหนึ่ง มาพูดถึงผู้นำในวงการต่างๆ ก็เป็นได้ เพราะการจับมือกันมา ยืนสอง หรือ ยืนสิบ ไปด้วยกันจะช่วยให้ธุรกิจของคุณแข็งแกร่งกว่ากันเยอะ" ธนวัฒน์ ทิ้งท้าย