เปิดโมเดล ‘ม.สงขลานครินทร์’ ต้นแบบสมาร์ทซิตี้แห่งอนาคต

เปิดโมเดล ‘ม.สงขลานครินทร์’  ต้นแบบสมาร์ทซิตี้แห่งอนาคต

มิติของการพัฒนาเมืองวันนี้ ชัดเจนว่ามุ่งสู่การเป็น “สมาร์ทซิตี้” หรือ “เมืองอัจฉริยะ”

ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสารเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ยกระดับการบริการชุมชน การขนส่ง การใช้พลังงาน ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นกำลังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการยกระดับเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ต้องมีการจัดลำดับว่าพื้นที่ส่วนไหนต้องเร่งพัฒนาด้านใด เพื่อให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ วิถีพื้นถิ่น และแผนกลยุทธ์การพัฒนาของเมืองนั้นๆ

ชู'ดิจิทัล'ขับเคลื่อนเมือง

ที่ผ่านมาในประเทศไทย เริ่มได้เห็นว่ามีหลากหลายโครงการต้นแบบเกิดขึ้น ในหลายๆ จังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และหนึ่งในนั้นยังมีจังหวัดสงขลา โดย “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" หรือ “ม.อ.”

ล่าสุดซิสโก้ร่วมกับกับม.อ.จัดทำโครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะ ในเขตมหาวิทยาลัย วิทยาเขตหาดใหญ่ ด้วยงบประมาณระดับ “Big Rock” ภายใต้แนวคิด “PSU Smart and Green Campus 2022 เพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ Happy Workplace”

โมเดลการพัฒนามุ่งสู่การเป็นเมืองยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรรองรับการเติบโต พร้อมเพิ่มโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้พัฒนาชุมชนของตนเองอย่างยั่งยืน สามารถสร้างรายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่

พันธกิจครอบคลุม 4 ส่วนหลักคือ วิทยาเขตที่ปลอดภัย (Safe and Secured Campus), สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน (Green & Sustainable), ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตกับ Sharing Economy และ สังคมที่มีสุขภาพดี (Healthy Society)

ปัจจุบัน มีการติดตั้งและใช้งานระบบอัจฉริยะซึ่งแบ่งได้เป็น 7 แกนประกอบด้วย “Smart People” โดยกำลังดำเนินการสร้าง “Learning Space” เพื่อรวบรวมและบริการเครื่องมือการเรียนรู้ที่ทันสมัย ร่วมกับผู้ให้บริการเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระดับโลก

“Smart Environment” ระบบเฝ้าระวังคุณภาพของอากาศ เช่น PM2.5 ความชื้น ทิศทางลม สภาพแวดล้อมทางน้ำ ทั้งได้ร่วมมือกับเทศบาลนครหาดใหญ่ติดตั้งระบบเฝ้าระวังลุ่มน้ำ และแก้มลิงโดยรอบเมืองและภายในเทศบาลเพื่อใช้เตือนภัยในฤดูฝน

“Smart Energy” ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับระดับความเข้มแสงและทำระบบควบคุมอัตโนมัติที่ช่วยให้ประหยัดไฟ ทราบถึงปริมาณการใช้พลังงาน ทั้งมีการใช้งานรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า(EV) ให้บริการจุดจอดรถพร้อมที่ชาร์จแบบไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังมี “Smart Mobility” ระบบสมาร์ททรานสปอร์ตเทชั่นที่สามารถแสดงตำแหน่งของรถโดยสารอีวี ทำให้นักศึกษาสามารถทราบถึงเวลาของรถที่จะมาถึงจุดจอดได้แบบเรียลไทม์

ไปทุกมิติระบบอัจฉริยะ

“Smart Living” มีระบบรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลากรและนักศึกษาภายในวิทยาเขต เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี ร่วมกับระบบกล้อง จับป้ายทะเบียน และการติดตาม เฝ้าระวังรถต้องสงสัยแบบเรียลไทม์ (Real-time analytic and warning system)

ทั้งมี Smart pole เสาไฟอัจฉริยะที่ประกอบด้วยสิ่งจำเป็นสำหรับการเป็นโครงสร้างพื้นฐานบนท้องถนนในอนาคตประกอบด้วยไวไฟ ไซเนจ กล้อง เซ็นเซอร์ตรวจจับอากาศ ฝุ่นละออง ที่ชาร์จอีวี และปุ่มสำหรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน Smart Parking ติดตั้งเซ็นเซอร์และระบบเพื่อแสดงจุดจอดรถที่ยังว่าง ทำให้ผู้มาติดต่อหรือบุคลากรสะดวกในการหาที่จอดรถ

“Smart Economy” จัดทำต้นแบบสมาร์ทฟาร์ม ร่วมกับคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รูปแบบการเกษตรแบบปราณีต เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร โดยให้สามารถเพาะเลี้ยงผลไม้ ผลผลิตการเกษตรได้อย่างแม่นยำ ซึ่งในที่นี้มีการเพาะเลี้ยงเมลอน ที่สามารถรองรับการสั่งตัดความหวาน และขนาดของผล ทราบระยะเวลาของการเลี้ยง การตัดผลผลิต และขนส่งให้พอดีกับความอร่อยที่ลูกค้าต้องการ 

อีกโครงการที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากคือ Research Market Platform โดยร่วมกับสตาร์ทอัพในพื้นที่ในพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถช่วยให้เกิดการ Matching ระหว่างนักประดิษฐ์กับเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมที่แสวงหานวัตกรรมในประเทศ

“Smart Utility”  เป็นศูนย์บัญชาการและควบคุมกลาง Intelligent Operating Centre (IoC) โดยเชื่อมระบบทั้งหมดของสมาร์ทเข้าสู่การติดตาม สั่งการ โดยปกติระบบคอมพิวเตอร์จะทำงานโดยอัตโนมัติ และมีห้องเพื่อให้ผู้ดูแลได้เห็นสภาพการทำงานโดยรวมของระบบทั้งหมด

นอกจากนี้จัดทำ “City Data Platform” เป็นการสร้าง “Data Adapter” เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลจากหน่วยงานและฝ่ายต่างๆ ทำให้สามารถเชื่อมข้อมูลในระบบเดิม และระบบใหม่เข้าด้วยกัน และรองรับการวิเคราะห์ ประมวลผลสำหรับเมืองในอนาคต ได้แก่ นำไปใช้ในการวางผังเมือง การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของเมืองเป็นต้น

ดึงเอไอ-ไอโอทีหนุนนวัตกรรม

วัตสันเผยว่า โจทย์ของม.อ.คือการพัฒนาต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมแล้ว โดยการนำเอไอและไอโอที เข้ามาผสมผสานเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซิสโก้ทำหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอโอที รวมไปถึงดาต้าเซ็นเตอร์ที่ออกแบบเพื่อการใช้งานเอไอ ระบบรักษาความปลอดภัย สนับสนุนทักษะบุคลากรดิจิทัล พร้อมร่วมผลักดันให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นจริงตามเป้าหมาย

หลังจากนี้ มีโครงการที่จะทำต่อเนื่องเช่น Cisco Network Academy ให้ความรู้เบื้องต้นด้านไอโอที และความรู้เฉพาะทางด้านเน็ตเวิร์คจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์(DevNet) โดยจะมีการจัดอบรม แบ่งปันความรู้และทักษะให้กับบุคลากรของ ม.อ.เพื่อรองรับความต้องการของโลกดิจิทัลในอนาคต

“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ” อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า ม.อ.รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อให้แต่ละเมืองได้เห็นโมเดลรูปแบบการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเมืองและนำไปปรับใช้กับพื้นที่เขตความรับผิดชอบของตน

ม.อ.ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอทีราว 130 ล้านบาท เพื่อทำให้โครงการมีความต่อเนื่องมากที่สุดหลังจากนี้คงไม่อาจพึ่งพางบจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ในแผนจะหารายได้เพิ่มด้วยการพัฒนาโมเดลธุรกิจต่อยอดจากโครงการต้นแบบต่างๆ เบื้องต้นที่เห็นว่ามีผู้สนใจแล้วคือ ไลเซ่นในโครงการสมาร์ทฟาร์ม