สมศ. เผยแนวทางประเมินฯ รอบสี่ สถานศึกษาต้องรายงานผลจริง

สมศ. เผยแนวทางประเมินฯ รอบสี่ สถานศึกษาต้องรายงานผลจริง

สมศ. เผยแนวทางประเมินฯ รอบสี่ยึดกฎกระทรวงปี 2561 เน้นสะท้อนผลและยืนยันผลการดำเนินงานของสถานศึกษาตามมาตรฐานที่สถานศึกษากำหนด ไม่มีการกำหนดมาตรฐานใหม่

นางสาวขนิษฐา ตั้งวรสิทธิชัย รักษาการผู้อำนวยการ สำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ คือ สถานศึกษาสามารถรายงานผลได้ตรงตามสภาพจริงที่กำหนดในมาตรฐานการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา ซึ่งการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่นี้ สมศ. จะทำหน้าที่ในการสะท้อนผลและยืนยันผลการดำเนินงานของสถานศึกษาตามมาตรฐานที่สถานศึกษากำหนด โดยไม่มีการกำหนดมาตรฐานใหม่ และพิจารณาในประเด็น ความเป็นระบบ เหมาะสมเป็นไปได้ ความเชื่อถือได้ และประสิทธิผลของคุณภาพผู้เรียน การบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การประเมินเน้นการประเมิน เชิงคุณภาพ พิจารณาร่องรอยหลักฐานเชิงประจักษ์ จากการสัมภาษณ์ การสังเกต ในการประเมินคุณภาพภายนอก

รักษาการ ผอ.สมศ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ สมศ. ยังได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เรียกว่า ระบบ Automated QA เพื่อช่วยลดภาระด้านเอกสาร โดยให้สถานศึกษาจัดส่งรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ในรูปแบบไฟล์ผ่านทางระบบ Automated QA แทนรูปแบบเดิมที่ต้องจัดส่งเอกสารมาให้ สมศ. หลังจากนั้นกระบวนการประเมินจะเริ่มต้นขึ้นในขั้นตอน Pre Analysis โดยทีมผู้ประเมินภายนอกจะทำการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของสถานศึกษาจาก SAR เพื่อกำหนดจำนวนวันลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมประเมินสถานศึกษา ซึ่งขณะนี้สถานศึกษาได้เสนอรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ให้หน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานต้นสังกัดจะส่ง SAR ของสถานศึกษามาให้ สมศ. ทางออนไลน์ผ่านระบบ Automated QA แล้ว ขณะนี้รวมจำนวน 664 แห่ง ซึ่ง สมศ. จะดำเนินการวิเคราะห์ผลรายงานประเมินตนเองทุกแห่งแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อทำการประเมินภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ต่อไป

ทั้งนี้ จากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ สมศ. ได้มีการประเมินสถานศึกษาแล้วตั้งแต่ปี 2562 ทั้งการศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) และการอาชีวศึกษา รวมทั้งสิ้น 252 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็ก 196 แห่ง โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 13 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11 แห่ง โรงเรียนนานาชาติ 1 แห่ง สถานศึกษาการอาชีวศึกษา 1 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษา 1 แห่ง