กรมบัญชีกลาง ยันการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธี e-bidding มีความโปร่งใส

กรมบัญชีกลาง ยันการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธี e-bidding มีความโปร่งใส

กรมบัญชีกลาง ยืนยันการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธี e-bidding มีความโปร่งใส ลดการทุจริตได้

นางญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า หลังจากที่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้ประกาศใช้ กำหนดให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมการประกวดราคาใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-bidding แทนการประกวดราคาแบบ e-Auction หากนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว การประกวดราคาด้วยวิธี e-bidding ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก และรวดเร็วมากขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการขอรับ/ซื้อเอกสารประกวดราคา ก็สามารถดาวน์โหลดเอกสารผ่านทางระบบ e-GP ได้ โดยไม่ต้องเดินทางมาซื้อด้วยตนเองที่หน่วยงานของรัฐ หรือการยื่นข้อเสนอ/เสนอราคาในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หน่วยงานของรัฐจะไม่สามารถเห็นราคาที่ผู้ประกอบการเสนอก่อนที่จะมีการประกาศผล รวมถึงรูปแบบการเสนอราคาที่ให้ผู้ประกอบการทุกรายที่รับ/ซื้อเอกสารสามารถเสนอราคาได้ทุกราย โดยหน่วยงานของรัฐจะพิจารณาคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิคภายหลังวันเสนอราคา ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส และเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เนื่องจากผู้ประกอบการและหน่วยงานของรัฐไม่มีโอกาสได้เจอกันก่อนวันทำสัญญา อีกทั้ง ยังช่วยประหยัดงบประมาณรายจ่ายให้กับรัฐบาล โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 (ตุลาคม 61 – มีนาคม 62) ประหยัดได้ 53,387 ล้านบาท  
    
ทั้งนี้ ระบบ e-bidding ยังช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ดีกว่าการใช้ระบบ e-Auction ดังนี้


1) การสมยอมราคา (ฮั้วประมูล) การเสนอราคาด้วยวิธี e-Auction ผู้ประกอบการมีโอกาสทราบรายชื่อผู้ประกอบการที่จะเข้าทำการเสนอราคา เมื่อไปขอรับหรือซื้อเอกสารประกวดราคาที่หน่วยงานของรัฐหรือเมื่อไปเสนอราคาที่ตลาดกลาง ทำให้มีโอกาสพบปะและเผชิญหน้ากัน ผู้ประกอบการอาจยื่นข้อตกลงกันได้ โดยให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเป็นผู้ชนะการเสนอราคา และจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่เจรจาตกลงกันไว้ แต่วิธี e-bidding ผู้ประกอบการไม่มีโอกาสได้พบปะหรือเผชิญหน้ากัน เพราะระบบกำหนดให้ผู้ประสงค์จะเสนอราคา ดาวน์โหลดเอกสารหรือยื่นเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการจึงไม่ทราบว่ามีผู้ประกอบการรายใดบ้างที่ขอรับหรือซื้อเอกสาร


2) การกีดกันการเสนอราคา วิธี e-Auction ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมการเสนอราคา สามารถทราบรายชื่อและจำนวนของผู้เสนอราคาได้ ในขั้นตอนขอรับหรือซื้อเอกสารประกวดราคาที่หน่วยงานของรัฐ ทำให้ผู้ประกอบการที่มีอิทธิพลกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการนอกพื้นที่หรือนอกกลุ่มของตนเองมาขอรับ/ซื้อเอกสาร หรือเสนอราคาได้ ซึ่งวิธี e-bidding ผู้ประกอบการรายใดต้องการเสนอราคาไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ก็สามารถเสนอราคาได้ เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถขอรับ/ซื้อเอกสาร และเสนอราคาผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์


3) การใช้ดุลพินิจรับราคาโดยไม่เป็นธรรม วิธี e-Auction เมื่อสิ้นสุดการเสนอราคาคณะกรรมการสามารถเห็นราคาที่ผู้ประกอบการเสนอมาทุกราย ก่อนที่จะมีการตรวจสอบเอกสาร คุณสมบัติ และข้อเสนอทางด้านเทคนิคของผู้ประกอบการ จึงทำให้มีผลต่อการพิจารณาและเกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม แต่วิธี e- bidding เมื่อสิ้นสุดการเสนอราคาหน่วยงานของรัฐต้องตรวจสอบเอกสาร คุณสมบัติ และข้อเสนอทางด้านเทคนิคของผู้ประกอบการทุกรายให้ถูกต้อง และเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน จึงจะสามารถเห็นราคาที่ผู้ประกอบการยื่นเสนอมาได้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ราคาเป็นแรงจูงใจให้คณะกรรมการพิจารณาผลการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม และระบบ e-GP จะประมวลผลผู้ชนะการเสนอราคาให้โดยอัตโนมัติ
    
โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวย้ำว่า ระบบการประกวดราคาด้วยวิธี e-bidding มีระบบการป้องกัน (Firewall) ที่เกี่ยวข้องหลายชั้น รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีผู้ใดสามารถเข้าระบบเพื่อดูข้อมูลการขอรับ/ซื้อเอกสาร หรือการเสนอราคาได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนราชการเจ้าของโครงการ เจ้าหน้าที่ของกรมบัญชีกลาง หรือบุคคลภายนอก ซึ่งหากผู้ใดมีข้อมูล เบาะแส หรือหลักฐานที่ชัดเจนมากพอสำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการทุจริตในระบบนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ฝ่ายใดและขั้นตอนใด ขอให้แจ้งมาที่ Facebook จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ , E-mail : [email protected] หรือจัดทำบันทึกเป็นหนังสือแจ้งมายังกรมบัญชีกลาง ซึ่งกรมจะรักษาความลับเกี่ยวกับผู้แจ้งไว้ให้เป็นอย่างดี และจะดำเนินการกับผู้ทุจริตอย่างจริงจัง เพื่อให้มีการลงโทษทั้งทางวินัยและทางอาญาตามกฎหมาย
    
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการรับยื่นคำขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้างเพื่อเป็นการคัดกรองผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้เข้ามาทำงานกับภาครัฐ ตามประกาศของคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ (คณะกรรมการาคากลาง) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดกรองผู้ประกอบการ ให้มีคุณสมบัติตรงตามที่คณะกรรมการราคากลางกำหนดไว้ในสาขาต่าง ๆ ซึ่งผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมการเสนอราคาต้องผ่านคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการาคากลางกำหนด สำหรับผู้ประกอบการงานก่อสร้างของหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนไว้ที่กรมบัญชีกลาง และทะเบียนหมดอายุก่อนกรมบัญชีกลางจะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในงานก่อสร้างของหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการราคากลางกำหนดให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ยังคงได้รับสิทธิเดิมต่อไปจนกว่าจะประกาศรายชื่อผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการฯ
    
ซึ่งขณะนี้กรมบัญชีกลางมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่มายื่นคำขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้างแล้ว จำนวน 566 ราย และผู้ประกอบการงานก่อสร้างรายเดิมซึ่งทะเบียนเดิมยังไม่หมดอายุและมายื่นคำขอขึ้นทะเบียนกับกรมบัญชีกลางแล้ว จำนวน 1,257 ราย ยังเหลือผู้ประกอบการรายเดิมที่ยังไม่มายื่นคำขอขึ้นทะเบียนกับกรมบัญชีกลาง อีกจำนวน 1,582 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562) เพื่อไม่ให้เสียสิทธิในการเข้ายื่นข้อเสนอกับหน่วยงานของรัฐ กรมบัญชีกลางได้แจ้งข้อมูลให้ผู้ประกอบการแต่ละราย เร่งดำเนินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้างผ่านทางอีเมลแล้ว โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเอกสารมาทางไปรษณีย์ หรือมายื่นเอกสารด้วยตนเองที่กรมบัญชีกลาง และสามารถตรวจสอบสถานะขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลาผ่านเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือโทรศัพท์เข้ามาสอบถามได้ที่หมายเลข 0-2270-6400 กด 3