ไทย เตรียมเสนอตัวนั่งประธาน คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง

ไทย เตรียมเสนอตัวนั่งประธาน คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง

"ไทย" เตรียมเสนอตัวนั่งประธาน คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง (AWGCME) เพื่อผลักดันด้านงานสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคที่ได้ริเริ่ม รวมทั้งการแก้ปัญหาขยะทะเล

นายอดิศร นุชดำรงค์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยในการแถลงข่าววันนี้ว่า ในระหว่างวันที่ 8-12 กรกฎาคม 2562 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 30 (30th ASEAN Senior Officials Meeting on the Environment : 30th ASOEN) ในนามของประเทศไทย ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

โดยหนึ่งใน 4 ประเด็นสำคัญที่จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบคือ การที่ประเทศไทยจะเสนอตัวเป็นประธานคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งแทนประเทศฟิลิปปินส์ที่กำลังจะหมดวาระ และคาดหมายว่าจะไม่มีปัญหาใดๆในการยอมรับในที่ประชุม เพราะประเทศไทยได้ดำเนินการริเริ่มการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาขยะทะเล

“เราได้รับการยอมรับมาก่อนหน้านี้แล้วในบทบาทการริเริ่มเป็นผู้นำในเรื่องของขยะทะเลและการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฏหมาย อาเซียนก็ให้การยอมรับว่าเราทำมาดีแล้ว เราก็จะเดินต่อ ผลักดันต่อในอนาคตข้างหน้า ทำให้เกิดความจริงจัง” นายอดิศรกล่าว

ในปีพ.ศ. 2558 องค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) เผยแพร่รายงาน "Stemming the Tide: Land-based strategies for a plastic-free ocean" ที่จัดทำร่วมกับ McKinsey Center for Business and Environment ระบุว่า ทุกปีจะมีขยะพลาสติกราว 8 ล้านเมตริกตันรั่วไหลลงสู่ท้องทะเลทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกว่าครึ่งของขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่ทะเลมาจาก 5 ประเทศหลักๆ คือ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และประเทศไทย

ในเดือนมีนาคม ประเทศไทยยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ริเริ่มจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล “Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris” โดยมีพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน โดยมีรัฐมนตรีในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุมพิจารณาและเห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม

ในเดือนมิถุนายน ทส.ได้นำผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล ซึ่งประกอบด้วยปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล เข้าสู่การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ซึ่งผู้นำได้รับรองปฏิญญากรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขยะทะเลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวหลังจากที่ประชุมรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่า “ปฏิญญานี้แสดงถึงเจตนารมณ์ของอาเซียนที่มุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจังและยั่งยืน โดยอาเซียนจะสนับสนุนนวัตกรรม งานวิจัย ตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ”

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เปิดเผยในรายการ Zoom In เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ว่า ทช.มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งการจัดการปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะขยะทะเลซึ่งถูกยกเป็นประเด็นระดับโลก และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทช.จึงดำเนินการสนองนโยบายร่วมบูรณาการโครงการบริหารจัดการขยะ ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นด้านขยะทะเลตั้งแต่ปี 2559

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ที่ได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ประกอบด้วยปฏิญญากรุงเทพฯ ทช.ได้ดำเนินโครงการที่สอดรับให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เช่น การดำเนินงานตามกรอบปฏิบัติการอาเซียนด้านขยะทะเล โดยผ่านทางคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง (AWGCME)

นายอดิศร กล่าวว่า ประเทศไทยจะนำผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมนี้นำเสนอในที่ประชุม พร้อมๆกับความคืบหน้าในประเด็นอื่นๆ รวม 7 ประเด็น

นอกจากนี้ ในที่ประชุมจะพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๕ ที่ยกร่างโดยประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน, รายชื่อเพื่อรับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียน โดยประเทศไทยเสนออุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม - เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียน, และรางวัลโรงเรียนสิ่งแวดล้อมสีเขียว นายอดิศรกล่าว