ไทยดึงยักษ์ 'จี20' เชื่อม 'สมาร์ทซิตี้' อาเซียน

ไทยดึงยักษ์ 'จี20'  เชื่อม 'สมาร์ทซิตี้' อาเซียน

ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ปี 2562 เดินหน้าขับเคลื่อนผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ไปสู่การขยายผลในเวทีการประชุมผู้นำกลุ่ม จี20 ที่นครโอซากาของญี่ปุ่น หวังเชื่อมโยงความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศที่มีสัดส่วนทางเศรษฐกิจ 90% ของโลก

ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษว่า ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้รับเชิญจากญี่ปุ่น ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมจี 20 ให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ใช้เวทีนี้ บอกเล่าถึงความร่วมมือของอาเซียนที่มีความก้าวหน้าในหลายด้าน

อีกทั้งได้สานต่อการดำเนินงานจากปีก่อน ๆ ให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักของไทยที่ว่า “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” หวังช่วยถักทอ ร้อยรัฐ โยงใย ระหว่างสมาชิกประเทศ 10 อาเซียนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยพล.อ.ประยุทธ์ได้ยืนยันท่าทีอาเซียนที่สนับสนุนให้ทุกประเทศ “ยึดหลักระบบการค้าพหุภาคี” และการไม่เข้าไปแทรกแซงการเจรจาสงครามการค้า รวมถึงร่วมมือกันปฏิรูปองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เพื่อให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรม ควบคู่กับตอบสนองต่อการค้ายุคใหม่

รมว.ดอน กล่าวอีกว่า ไทยได้ตอกย้ำในเวทีจี20 เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตตามเป้าหมายดิจิทัลอาเซียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นการช่วยสร้างเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) พร้อมกับเชิญชวนสมาชิกจี20 เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เทคโนโลยี สำหรับการพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่น ลดช่องว่างระหว่างเมือง และสร้างเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ

เรื่องนี้ได้รับการตอบรับดีเยี่ยม โดยทางจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ มีท่าทีตอบรับจะเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนที่จะจัดขึ้นในเดือน ส.ค. ที่กรุงเทพฯ โดยมุ่งหวังเชื่อมโยงเมืองอัจฉริยะในกลุ่มประเทศจี20 เข้ากับเมืองอัฉริยะ 40 แห่งในอาเซียน

“เวทีความร่วมมือของอาเซียนเป็นแรงจูงใจให้ประเทศใหญ่ ๆ ได้ใช้เป็นพื้นที่เดินทางมาพบปะและพูดคุยกันทุกปี โดยในการประชุมอาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 35 ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย. จะมีการประกาศรับประเทศอัครภาคีใหม่ของอาเซียน จำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ เปรู และบาห์เรน” รมว.ดอนเผย

พร้อมกับกล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังแจ้งให้ที่ประชุมจี20 ทราบว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ผู้นำได้รับรองเอกสารแนวทางความร่วมมือภายในอาเซียน กับเอกสารหุ้นส่วนกับนอกภูมิภาค 2 ฉบับ ได้แก่ วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน และมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ซึ่งย้ำถึงสปิริตของความร่วมมืออาเซียน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านความร่วมมือ 4 มิติ คือ ความร่วมมือทางทะเล เศรษฐกิจ ความเชื่อมโยง และการพัฒนาที่ยั่งยืน

 "นายกรัฐมนตรีได้ชี้ให้ทุกประเทศเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่ช่วยกระชับพื้นที่ของโลกให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ซึ่งการที่อาเซียนออกเอกสารมุมมองต่ออินโด-แปซิฟิก เป็นเรื่องไม่แปลกที่อาเซียนจะมองว่า พื้นที่รอบมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียเป็นพื้นที่ผลประโยชน์ร่วมกัน ที่ทุกฝ่ายควรมุ่งส่งเสริมความร่วมมือที่ทุกคนมีส่วนร่วม และเปิดกว้างบนหลักการ 3M คือ ความเคารพซึ่งกันและกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ภายใต้พื้นฐานที่ว่า มุ่งเน้นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพและสันติภาพ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืน" รมว.ดอนกล่าวย้ำ

ทั้งนี้ ประเทศจี20 สามารถร่วมมือกับอาเซียนใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การเปิดเสรีทางการค้า โดยพล.อ.ประยุทธ์ ยังหยิบยกถึงความมุ่งมั่นการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่ต้องการบรรลุผลในปีนี้ ขึ้นพูดในการกล่าวถ้อยแถลงเพื่อตอกย้ำให้เกิดการขยายผลความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับหลายประเทศที่เป็นสมาชิกจี20 ที่ได้เข้าร่วมอาร์เซ็ปด้วย อย่างจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เพื่อร่วมเป็นจักรกลขับเคลื่อนการเติบโตของโลก ซึ่งผู้นำอาเซียนย้ำจุดยืนจะเดินหน้าการรวมตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

2.การส่งเสริมการเชื่อมโยง ทั้งด้านกายภาพ กฎระเบียบ ดิจิทัล และประชาชน อย่างมีคุณภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน ตามแนวทางที่ไทยกับอาเซียนได้ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ และขยายแนวคิดการเชื่อมโยงทั่วภูมิภาคอาเซียน

3.การพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำผ่านระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัล

และ 4.การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผ่านการส่งเสริมระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการปรับปรุงนโยบายการจ้างงาน โดยอาเซียนจะจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงอายุอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรมที่ประเทศไทยในปีนี้

อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังมีโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งให้เกิดความร่วมมือด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้โอกาสนี้ เชิญประเทศจี20 เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีในการต่อต้านขยะทางทะเลระหว่างอาเซียนกับประเทศหุ้นส่วน และจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติในเรื่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเงินที่จะจัดขึ้นในปลายปีนี้ เพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงให้แก่ชุมชนห่างไกล สตรี เยาวชน และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพอย่างทั่วถึงด้วย