ไทยพร้อมหรือยัง? เมื่อโลกหมุนด้วย “5จี”

ไทยพร้อมหรือยัง? เมื่อโลกหมุนด้วย “5จี”

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา “สมาคมจีเอสเอ็มเอ” ผู้แทนผลประโยชน์ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลก มีโอเปอเรเตอร์ร่วมสมาชิกถึง 750 ราย และกว่า 350 เป็นบริษัทในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง จัดการประชุม Mobile World Congress ที่เซี่ยงไฮ้

ภายในงานซึ่งจัดแสดงเทคโนโลยี โชว์เคส สาธิตนวัตกรรม รวมไปถึงโซลูชั่นที่จะเกิดขึ้นจริงหากมีระบบ 5จีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามธีมของงาน “อินเทลลิเจนท์ คอนเน็คทิวิตี้” หรือการเชื่อมต่ออย่างอัจฉริยะของทุกเทคโนโลยี

5จีฉีดเงินเข้าอุตฯมหาศาล

นายแมท แกรนไรย์ ผู้อำนวยการทั่วไปของจีเอสเอ็มเอ กล่าวว่า จากรายงานล่าสุดของโมบาย อีโคโนมี เอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ตลาดเอเชียแปซิฟิก 24 ประเทศ จะเปิดตัว 5จี ภายในปี 2568 ซึ่งทำให้ประเมินได้ว่า คาดว่า 5จี จะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากเกือบ 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 15 ปีข้างหน้าต่อจากนี้

ทั้งนี้ จากงบประมาณของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือคาดว่าจะลงทุน 5.74 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในเครือข่ายใหม่ระหว่างปี 2561-2556 และเกือบ 2 ใน 3 หรือราว 3.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จะถูกในการพัฒนาเครือข่าย 5จี

คำถามคือ ทำไม 5จีจึงสำคัญอย่างมากต่อประเทศต่างๆแล้วประเทศไทย เราให้ความสำคัญกับ 5จีมากแค่น้อยไหน

ย้อนกลับไปที่การประมูลคลื่นความถี่ หรือ การจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ออกมาให้ค่ายมือถือทั้ง 3 รายได้จับจ่ายกันอย่างลงตัวทำเงินเข้ารัฐได้เฉียด 57,000 ล้านบาท แล้วคลื่น 700 นี่ ไทยเอาไปใช้ 5จีได้เลยหรือไม่

หวั่นตกขบวนเหมือนอดีต

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.เล่าว่า การประมูลทุกครั้งของกสทช.จะเปิดเป็นระบบเปิด คือ สามารถนำคลื่นไปประยุกต์ใช้เป็นระบบใดก็ได้ หรือที่เรียกว่า “Neutral” ซึ่งคลื่นที่ได้มาใหม่จะนำไปใช้รวมกับ ระบบ 3จีหรือ4จีเดิมก็แล้วแต่การออกแบบโครงสร้างเครือข่ายของแต่ละราย คลื่น 700 นี้คือเป็นคลื่นย่านต่ำ (โลว์ แบนด์) แต่อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของ 5จี เพราะระบบนี้จำเป็นต้องอาศัยแบนด์วิธที่มีขนาดกว้างมีความต่อเนื่องของผืนความถี่มากกว่า 100 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นไป จึงเป็นเหตุให้กสทช.จำต้องเคลียร์ปัญหากับอสมท.เพื่อขอคลื่น 2600 ที่อสมท.ไม่ได้ใช้นำมาประมูลร่วมกับคลื่น 26-28 กิกะเฮิรตซ์ที่มีอยู่มากกว่า 1,000 เมกะเฮิรตซ์ในปลายปีนี้

ส่วนการเปิด 5จีนั้นยอมรับว่า ไทยไม่ได้อยากตกขบวนโลกดิจิทัลเหมือนอย่าง 3จีหรือ4จีที่เราช้ากว่าประเทศอื่นร่วม 10 ปี ดังนั้น จึงมีความพยายามจะร่วมกับหลายๆสถาบันการศึกษาในการหายูสเคสสำหรับการใช้งาน 5จีจริงซึ่งปลายปีนี้ยูสเคสจะได้เห็นบ้างแล้ว 3-5 โครงการ และในปลายปี 2563 ไทยอาจเปิด 5จีได้อย่างไม่เป็นทางการและจำกัดวงเฉพาะในแต่ละอุตสาหกรรม นั่นจึงเป็นสาเหตุที่กสทช.พยายามผลักดันให้มีการประมูลคลื่นอื่นๆเพื่อให้ค่ายมือถือมีทรัพยากรที่เพียงพอ

แนะมองภาพรวมเศรษฐกิจ

นายจูเลียน กอร์แมน หัวหน้าเอเชียแปซิฟิก สมาคมจีเอสเอ็มเอ กล่าวว่า สิ่งที่ได้เห็นในอีก 2-3 ปีจากนี้หลังจากที่หลายประเทศจะเริ่มวางโครงข่ายแล้วให้บริการ 5จีโดยตามโรดแมปที่สมาคมจีเอสเอ็มได้รับรายงานมานั้น ระบุว่า ในปลายปีนี้ จะมีฮ่องกง ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ที่ให้บริการ ซึ่งในฟิลลิปินส์จะให้บริการ 5จีในรูปแบบของฟิกซ์บรอดแบนด์ก่อน ส่วนในปี 2563 จะมีจีน อินเดีย ญี่ปุ่น มาเก๊า มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไต้หวันจะเริ่มให้บริการ ส่วนไทยจะเริ่มให้บริการ 5จีอย่างเต็มรูปแบบและเป็นเชิงพาณิชย์ทั่วประเทศในปี 2568 ร่วมกับบังคลาเทศ บรูไน อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนม่าร์

โดยให้บริการ 5จีไม่ใช่แค่ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อความ รูปภาพ วีดีโอแต่อย่างเดียวแต่ยังจะเป็นเครื่องสำคัญในการให้บริการ “5จีเอไอโอที” ซึ่งจะประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ 5จี ไอโอที และเอไอ โดยภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะประยุกต์ได้ก่อนคือ ขนส่ง สาธารณสุข และอุตสาหกรรมหนัก ดังนั้น อย่างที่เกิดปัญหาในบางประเทศเรื่องคลื่นความถี่ไม่เพียงพอ หรือมีการตั้งราคาคลื่นที่สูงเกินไป จนผู้ให้บริการไมาฝ่สามารถเข้าถึงใบอนุญาตจนทำให้ผลประกอบตกอยู่ที่ประชาชน

โดยเรื่องนี้ เขา กล่าวว่า การที่หน่วยงานกำกับดูแล หรือ เรกูเลเตอร์ แม้แต่รัฐบาลเองต้องการเพียงรายได้เข้ารัฐจากการขายใบอนุญาตนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะต้องมองว่า 5จีจะเข้าไปเป็นเครื่องมือช่วยในหลายอุตสาหกรรมให้เป็นดิจิไทล์ แม้แต่การบริหารของรัฐบาลก็ต้องการไอทีเข้ามาช่วยเหลือ ดังนั้น ทุกฝ่ายควรมองผลประโยชน์ในภาพรวม เม็ดเงินที่หมุนเวียนในอุตสาหกรรมทั้งทางตรงและอ้อมที่ 5จีช่วยผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ หากเป็นอย่างนี้จะดีกว่า

จับตาบทสรุปโมเดล5จีไทย

5จีมีดีอย่างไร คำตอบนี้ถ้าหากพูดกันในรูปธรรมอาจจะจับต้องได้ยากสักหน่อย เพราะอย่างที่หลายคนเห็นทุกวันนี้มีแค่ 4จีก็ทำอะไรได้มากมายหลายอย่างแล้ว แต่ทำไมทั่วโลกถึงมองว่า 5จีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ด้วยความเร็วที่แทบจะเรียลไทม์หรือช้าเพียงเศษของเสี้ยววินาที การแพทย์ทางไกล การพูดคุยกับบุคลากรทางสาธารณสุข จะเห็นผลได้อย่างดีเยี่ยม ระบบการขนส่งอัจฉริยะ ที่ไม่มีความผิดพลาด หรือแม้แต่การใช้เป็นการควบคุมหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตก็ทำได้เช่นกัน

มองย้อนกลับมาที่ไทยแล้ว มีเสียงค้านเสียงหนุนว่า “ราคาคลื่น” สำหรับ 5จีหรือคลื่นต่อๆไป จะถูกไม่ได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็เท่ากับเป็นการให้คลื่นฟรีแก่เอกชน จำเป็นต้องคิดราคาประมูลแพงเพื่อเอาเงินเข้ารัฐ ต่างกันกับที่หลายประเทศมองว่า ราคาคลื่นควรมองที่ต้นทุนและอานิสงส์ผลพ่วงที่จะเกิดขึ้นหากมีการประยุกต์ใช้ได้กับอุตสาหกรรม ทำให้บางประเทศให้คลื่นฟรีกับเอกชนเพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรม

ซึ่งบทสรุปของโมเดลว่าราคาคลื่นจะถูกหรือแพง หรือต้องคำนวณที่เท่าไร ไม่มีสูตรตายตัวตามแต่บริบทและความจำเป็นของแต่ละประเทศ ดังนั้น ประเด็นที่ดีที่สุดสำหรับไทยก็อาจจะเป็นการประมูลคลื่นแบบพ่วง (มัลติแบนด์) เหมือนอย่างที่ กสทช. ออกแบบมาก็ได้ เอาของมาหารของถูกใครอยากได้ก็มาเอาไป ขอให้มีคลื่นออกมาตามไลน์ที่จะประมูลก็คงพอ เพราะอย่างที่รู้ ที่ไทยไม่มีอะไรแน่นอน