สทนช. เร่งกู้วิกฤติปัญหาน้ำท่วม-แล้งซ้ำซากภาคอีสานตอนล่าง

สทนช. เร่งกู้วิกฤติปัญหาน้ำท่วม-แล้งซ้ำซากภาคอีสานตอนล่าง

“สทนช.” เร่งกู้วิกฤติปัญหาน้ำท่วม-แล้งซ้ำซากภาคอีสานตอนล่าง ลงพื้นที่ติดตามเร่งรัดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ชี้ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่หนองคาย-อุดรธานีในช่วงฤดูฝน ได้ถึง 54,390 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 245.87 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เพื่อติดตามเร่งรัดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ให้ดำเนินการก่อสร้าง โดยกำหนดแผนการดำเนินงาน 9 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2569) วงเงินรวมทั้งสิ้น 21,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซากให้กับราษฏรในพื้นที่หนองคาย-อุดรธานี

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างในขณะนี้ว่า สทนช.ได้เร่งรัดติดตามโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามแผน เพื่อเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งให้กับราษฎรในพื้นที่จังหวัดหนองคายและอุดรธานี ซึ่งประสบปัญหาต่อเนื่องมาหลายปี โดยมอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ มีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและอาคารประกอบ ในปีงบ 61 โดยใช้จากปีงบ 60 ที่กันไว้ จำนวน 672.69 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาและจัดทำแผนบริหารและพัฒนา โดยให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาทุกขั้นตอนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58

ส่วนผลดำเนินก่อสร้างในขณะนี้ ในส่วนของการสำรวจ–ออกแบบดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ ได้แก่ สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง พนังกั้นน้ำเดิม ยาว 18.6 กิโลเมตร ประตูระบายน้ำตามลำน้ำสาขา 12 แห่ง และประตูระบายน้ำในลำน้ำห้วยหลวง 1 แห่ง(ปตร.ดงสระพัง) อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ พนังกั้นน้ำ 28.42 กิโลเมตร และระบบโครงข่ายน้ำชลประทาน 1 โครงข่าย คาดว่า แล้วเสร็จปี 2561 แผนสำรวจ-ออกแบบ ปี 2562-2565 ได้แก่ ประตูระบายน้ำในลำน้ำห้วยหลวง 2 แห่ง (ปตร.หนองสองห้อง และปตร.ดอนกลอย) ระบบโครงข่ายน้ำชลประทาน 12 โครงข่าย

ส่วนการจัดหาที่ดิน ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินแล้วเสร็จ ได้แก่ สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง พนังกั้นน้ำเดิม ยาว 18.6 กิโลเมตร ประตูระบายน้ำตามลำน้ำสาขา 4 แห่ง (ปตร.ห้วยปากโพง ปตร.หนองบุ่งแย้ ปตร.หนองผักใหมล่าง และปตร.หนองเบื่อ) อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ ประตูระบายน้ำในลำน้ำห้วยหลวง 1 แห่ง (ปตร.ดงสระพัง) แผนจัดซื้อที่ดิน ปี 2562-2569 ได้แก่ ประตูระบายน้ำตามลำน้ำสาขา 8 แห่ง ประตูระบายน้ำ ในลำน้ำห้วยหลวง 2 แห่ง และระบบโครงข่ายน้ำชลประทาน 13 โครงข่าย

นายสมเกียรติ กล่าวด้วยว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ 1 ใน 9 แห่งที่อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำระดับชาติที่สำคัญอีกโครงการหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง เนื่องจากปัจจุบันแม้ว่าพื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมากที่สุด ถึงประมาณ 63.6 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศคือ 149.2 ล้านไร่ แต่กลับเป็นภาคที่มีพื้นที่ชลประทานน้อยที่สุด ไม่ถึงร้อยละ 10 ของพื้นที่การเกษตร ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ภาคอีสาน จะมีความมั่นคงในเรื่องน้ำค่อนข้างต่ำกว่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และรายได้ประชากรโดยเฉลี่ยต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ โครงการศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จึงถือเป็นโครงการนำร่องที่จะขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ เป็นรูปแบบใหม่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ที่ทุกคน ทุกฝ่าย ให้การยอมรับ และที่สำคัญประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมจัดทำแผนขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

“โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์มหาศาลแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งจะมีปัญหาน้ำท่วมประจำทุกปี ส่วนในหน้าแล้ง ก็จะขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่โดยสามารถกักเก็บน้ำเพราะจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตจังหวัดหนองคายและอุดรธานีในช่วงฤดูฝน ได้ 54,390 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 245.87 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 315,195 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทานใหม่ 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 37 ตำบล 7 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคายและอุดรธานี จำนวน 29,835 ครัวเรือน หรือประมาณ 124,618 คน ในพื้นที่ 284 หมู่บ้าน ส่วนในฤดูแล้งสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 250,000 ไร่” นายสมเกียรติ กล่าว