อนาคตครัวเรือนไทยเปราะบาง

อนาคตครัวเรือนไทยเปราะบาง

เผยสถานการณ์ครอบครัวไทย ครัวเรือนขนาดเล็กมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ครัวเรือนขนาดใหญ่เล็กลง หวั่นอายุเฉลี่ยของสมาชิกในครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นเกือบ 10 ปี อาจเกิดครัวเรือนที่มีเด็กเป็นหัวหน้าครัวเรือน และครัวเรือนที่เด็กอยู่ตามลำพังเพียงคนเดียว

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.62 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (มม) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 15 "ประชากรและสังคม 2562" เรื่อง "ครอบครัวไทย..สะท้อนอะไรในสังคม" โดยดร.ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มม กล่าวว่าจากการศึกษาข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ.2539 พ.ศ.2549 และพ.ศ.2560 พบว่า ครัวเรือนคนเดียวและครัวเรือน 2 คน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยครัวเรือนคนเดียวในพ.ศ.2539 มี 8.8% ได้เพิ่มขึ้นเป็น 20.5%ในปี พ.ศ.2560 หรือเพิ่มขึ้นราว 2.3 เท่าตัว สำหรับครัวเรือน 2 คนนั้น มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในปีพ.ศ.2539 มี 15.9% เพิ่มขึ้นเป็น 27.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือเพิ่มขึ้นราว 1.7% ขณะที่ครัวเรือนขนาดใหญ่ หรือครัวเรือนที่มีขนาด 3 คน ขึ้นไป กลับพบว่ามีสัดส่วนลดลงอย่างชัดเจน โดยในพ.ศ.2539 มี 75.3% เหลือ52.3% ในพ.ศ.2560 หรือลดลง 23% นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาอายุเฉลี่ย พบว่า อายุเฉลี่ยของสมาชิกในครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นเกือบ10 ปี ดังนั้น แสดงให้เห็นว่า ในสถานการณ์ยุคเกิดน้อย อายุยืน อาจจะเกิดครัวเรือนผู้สูงอายุที่มีเด็กเป็นหัวหน้าครัวเรือน และครัวเรือนที่เด็กอยู่ตามลำพังเพียงคนเดียว หรืออยู่ด้วยกับเด็ก ซึ่งถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มครัวเรือนเปราะบางอีกรูปแบบหนึ่ง

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสสส. กล่าวว่า ปัจจุบันครอบครัวแต่ละประเทศมีความใกล้กันมากขึ้น และแตกต่างไปจากเดิม ทุกวันนี้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่บนโลกดิจิตอล โลกอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้บทบาทของครอบครัวถูกไปอยู่ในโลกดิจิตอล ซึ่งการจะทำให้ครอบครัวเข้มแข็งได้นั้น ต้องมี 5 หลักสำคัญ คือ1.สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว 2.บทบาทหน้าที่ของพ่อ แม่ ลูก ญาติพี่น้อง ที่ต้องปฎิบัติต่อกันและกันได้อย่างเหมาะสม 3.เป็นครอบครัวที่พึ่งตนเองได้ ตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และข้อมูลข่าวสารที่พึงรู้พึงจะได้รับ 4.มีทุนในสังคม ได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่จะช่วยดูแลครอบครัว และ 5.ครอบครัวต้องสามารถเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ในภาวะยากลำบากได้

"ยุคนี้เป็นยุคปากกัดตีนถีบ พ่อกับแม่ต้องทำงานทั้งคู่ ทำให้ตอนนี้โจทย์ครอบครัวที่ต้องแก้ไข เพื่อสร้างครอบครัวเข้มแข็งมีหลายเรื่อง อาทิ เรื่องของเวลา กิจกรรมการเชื่อมโยงภายในครอบครัว สวัสดิการที่เอื้อต่อครอบครัว เพราะตอนนี้การสร้างเวลาชั่วโมงคุณภาพ สร้างกิจกรรมเชื่อมโยงภายในครอบครัวให้เกิดขึ้นเป็นเรื่องยาก และสวัสดิการควรเอื้อต่อการทำงาน เพื่อช่วยให้ครอบครัวเป็นแหล่งสร้าง บ่มเพาะในการสร้างคุณภาพของเด็ก" ดร.สุปรีดา กล่าว

ด้าน รศ.ดร.รศรินทร์ เกรย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (มม) กล่าวว่าสถานการณ์ครอบครัวไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านนิยาม ความหมาย รูปแบบการอยู่อาศัย เวลาในการเริ่มต้นสร้างครอบครัว การดำรงอยู่และสืบทอดครอบครัว รวมถึงโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของครอบครัว อีกทั้งยังมีปัญหามากมาย ทั้งปัญหาการหย่าร้าง ยาเสพติด ความรุนแรงภายในครอบครัว ปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่น ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ นอกจากเป็นภาระมหาศาลให้กับสมาชิกในครอบครัว ภาครัฐและองค์กรภาคีเครือข่ายอื่นๆ ได้มีการร่วมกันแก้ปัญหานี้เพื่อทำให้ครอบครัวไทยเข้มแข็ง อยู่ได้อย่างมั่นคง

"การประชุมวิชาการ ครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนองานวิจัย และบทความ จำนวน 13 บทความ เพื่อเผยแพร่วิธีการ มุมมองเกี่ยวกับครอบครัว อาทิ การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ การสร้างเสริมศักยภาพภาคีเครือข่ายในการพัฒนาสถาบันครอบครัวไทย ,การอยู่อาศัยร่วมกันของสมาชิกในครัวเรือนไทย พ.ศ.2539-2560 :การจำแนกรูปแบบด้วยกลุ่มวัย, วิตามิน F13:คู่มือสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้ครอบครัว ,ครอบครัวอบอุ่นของคนทำงานมิลเลเนียล และเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทยในครอบครัวที่มีพ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น เป็นต้น ซึ่งทุกบทความล้วนเป็นการสะท้อนถึงปัญหาของครอบครัว และข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา" รศ.ดร.รศรินทร์ กล่าว