“ดี-ปลี” สเต็ปในฝัน ปั้นเครื่องแกงโกอินเตอร์

“ดี-ปลี” สเต็ปในฝัน ปั้นเครื่องแกงโกอินเตอร์

“ดี-ปลี” น้ำพริกเครื่องแกงไทยที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเนรมิตเครื่องแกงพื้นบ้านให้มีอายุการเก็บนานขึ้น รสชาติจัดจ้านโดนใจผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นแกงเผ็ด แกงกะทิ แกงส้ม อร่อยได้ไร้สารกันบูด ที่สำคัญสามารถก้าวสู่ตลาดโลก

การพลิกชีวิตจากมนุษย์เงินเดือนสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ ถือว่าเป็นเรื่องใครหลายๆคนต้องการ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถก้าวไปสู่จุดนั้นได้สำเร็จ เพราะการก้าวมาเป็นนายตัวเองเอาเข้าจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย !!

ทว่าจุดเปลี่ยนของ อินทุชญา เซี่ยมกั้ง” ในการก้าวมาสู่การเป็นเจ้าของน้ำพริกและเครื่องแกงแบรนด์ ‘ดี-ปลี’ กลับไม่ได้เกิดจากความต้องการเป็นนายตัวเองเสียทีเดียว แต่เกิดจาก“ความจำเป็น”ทำให้ต้องตัดสินใจโบกมือลาจากมนุษย์เงินเดือนในเมืองหลวงกลับสู่บ้านเกิดในจังหวัดตรัง เพราะคุณแม่ป่วย

“เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า จะต้องกลับไปอยู่บ้าน จึงไม่ได้เตรียมแผนสำรองอะไรไว้ล่วงหน้า แต่โชคดีที่บ้านมีของดีคือสูตรเครื่องแกงที่ทำขายในตลาดใส่กะละมังขายมานานกว่า40ปีซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว จึงคิดว่าน่าจะพัฒนาเครื่องแกงไปขายนอกตลาดและน่าจะไปต่อได้ ในภาคกลาง อีสาน เหนือ จากเดิมอยู่ในพื้นที่ภาคใต้”

โจทย์แรกของผู้ประกอบการมือใหม่เช่นเธอ คือทำอย่างไรถึงจะสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ขึ้นมาได้ นอกเหนือจากลูกค้าในตลาดจึงเป็นที่มาของการพัฒนาอายุการเก็บของผลิตภัณฑ์อาหาร (Shelf life)ให้ยาวนานขึ้นจากปกติเครื่องแกงจะมีอายุ 1-2 วันโดยเข้ามาปรึกษากับทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)ให้เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยใช้วิธีบรรจุแบบสุญญากาศ (Vacuum packaging)ทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาอยู่ได้นาน 2 เดือนในอุณหภูมิปกติ แต่ถ้าเข้าตู้เย็นจะเก็บได้นาน 6เดือน และถ้าเข้าช่องแช่แข็งจะมีอายุยาวถึง 1 ปี

แทนที่จะเสียเวลาลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานรัฐที่มีองค์ความรู้ อุปกรณ์พร้อมในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจรรวมถึงงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ โดยใช้ระยะเวลาในการพัฒนา 6 เดือนสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้เร็วขึ้น หลังจากนั้นยอดขายเครื่องแกงเพิ่มขึ้นมา 100% ทันทีเมื่อเชล์ฟไลฟ์สินค้าได้ส่งผลให้ขยายพื้นที่ขายได้กว้างขึ้นได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย

นอกจากนี้ เครื่องแกงดีปลียังใช้เทคโนโลยีที่คงศักยภาพเครื่องเทศที่มีอยู่ออกมาได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ใช้วัตถุกันเสียที่ก่อให้เกิดโรคร้ายตามมา โดยยังคงความหอมอร่อยของเครื่องแกงสูตรดั้งเดิมที่มาจากการคัดสรรวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพสะอาด เพื่อให้เครื่องแกงที่ใช้ทำอาหารเป็นเหมือนยารักษาโรค เพราะวัตถุดิบมาจากธรรมชาติ ที่เป็นสมุนไพรและมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)

“เครื่องแกงส่วนใหญ่มักนิยมใส่วัตถุกันเสียเพื่อทำให้อายุการเก็บของผลิตภัณฑ์อาหารนานขึ้น จึงเลือกใช้วิธีนี้แต่พี่มีความรู้สึกว่า ถ้าเชล์ฟไล์ฟนานขึ้นแต่ว่าชีวิตมันสั้นลง มันก็ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้บริโภค ขณะเดียวกันเราก็รักสุขภาพ เพราะฉะนั้น สินค้าที่ทำต้องดีต่อสุขภาพและถ้าเป็นไปได้ช่วยทำให้รักษาสุขภาพให้ดีขึ้นด้วย จึงมองว่าเชล์ฟไลฟ์ที่เหมาะกับอาหาร มันก็สามารถสร้างคุณค่าทางโภชนาการได้เพราะเหมือนกับกินอาหารให้เป็นยาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพเริ่มจากลูกค้าขาจรก่อนขยับขึ้นมาเป็นลูกค้าประจำ 80-90%”

ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตและเริ่มเพิ่มไลน์เครื่องจักร โดยใช้งบประมาณ 5 ล้านบาทคาดว่าใช้ระยะเวลาในการคืนทุน 3-5 ปี เนื่องจากผลการตอบรับดีมากทั้งจากลูกค้าทั่วไป ร้านค้ารวมทั้งกลุ่มประกอบการรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องการลงทุนกระบวนการผลิต จึงต้องการจ้างผลิต(โออีเอ็ม)ภายใต้สูตรของแบรนด์ตนเอง คิดเป็นสัดส่วน 10% ทำให้โรงงานลดค่าโสหุ้ยลดลง

ตลาดยังกว้างพอที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทำตลาดภายใต้แบรนด์ของตนเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้บริษัทมีรายได้ 2 ทางจากการรับจ้างผลิตได้ปริมาณ และการขายส่ง-ขายปลีกได้มาร์จิ้น ซึ่งเป็นแนวทางการบาลานซ์พอร์ต รายได้เพื่อลดความเสี่ยง รสชาติที่นิยมจ้างผลิตผัดเผ็ด แกงส้ม แกงคั่วพริก แกงเผ็ด แกงมัสมั่น ส่วนรสชาติที่ขายดีคือแกงผัดเผ็ดกับแกงคั่วพริกและแกงส้ม ในทุกภาคทั่วประเทศไทย รวมทั้งตลาดส่งออกที่เริ่มมีผู้ประกอบการติดต่อเข้ามาลงตามร้านค้าไทยในต่างประเทศโซนยุโรป อเมริกา รวมทั้งอาเซียน เธอเล่า

จากประสบการณ์ของการเป็นเจ้าของธุรกิจมากกว่า3 ปี อินทุชญา มองเห็นว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุคนี้มีออกมาให้เลือกใช้เยอะแต่ขนาดเดียวกันก็ต้องกลับมามองสินค้าของตนเองด้วยว่าต้องการนวัตกรรมแบบไหนและนวัตกรรมที่เลือกใช้ต้องสอดคล้องกับแนวคิดและการดำเนินธุรกิจ

ยกตัวอย่าง กระบวนการผลิตของเครื่องแกงดี-ปลี ที่ต้องการรักษาคุณค่าทางโภชนาการของเครื่องแกงเอาไว้ให้มากที่สุดโดยไม่ไปทำลายเครื่องเทศหรือสมุนไพร จึงเลือกเทคโนโลยีที่ไม่ทำลายคุณค่าทางโภชนาการของวัตถุดิบของเครื่องแกงที่มาจากสมุนไพรธรรมชาติ ขณะเดียวกันมีแนวทางการพัฒนาต่อยอดจากเครื่องแกงไปสู่นวัตกรรมรูปแบบอื่นที่สามารถทำให้คนรุ่นใหม่ ทั้งเจนวายและ เจนแซด ใช้เครื่องแกงได้ง่ายขึ้น อาทิ แกงไตปลาแกง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าทำยาก ฉะนั้นจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำให้การทำกับข้าวง่ายขึ้นในรูปแบบของสูตรเครื่องแกงพร้อมทาน คาดว่าสามารถวางขายได้เร็วๆนี้ 

ขณะที่เป้าหมายต่อจากนี้ ดี-ปลี ในแง่ธุรกิจมุ่งหวังมีรายได้เลี้ยงตนเองและพนักงาน ได้ในระยะยาว!

“คนที่อยากทำธุรกิจตนเอง สิ่งแรกต้องทำความเข้าใจกับตนเองก่อนว่าต้องการอะไรและรู้จักตัวเองในทุกมุม เวลาคิดฝันต้องไม่เข้าข้างตัวเอง มองโลกแห่งความจริงไม่ใช่ความฝัน และเรียนรู้ให้เยอะที่สุด อย่าทำตามใคร ทำทุกอย่างให้สอดคล้องกับคอนเซปต์การใช้ชีวิตของตนเองเพราะต้องทำไปตลอดชีวิต จึงต้องมั่นเรียนรู้โลกว่าไปถึงไหนอย่างไร มีนวัตกรรม เทคโนโลยีอะไรใหม่ๆที่เอื้อประโยชน์ต่อเรา และเรียนรู้ในทุกมิติ เพื่อจะสามารถตัดสินใจได้เหมาะสมและคุ้มค่า”