บริหาร “แฟมิลี่ บิซิเนส” พา"กงสี"พ้นคำสาป 3 ชั่วคน

บริหาร “แฟมิลี่ บิซิเนส” พา"กงสี"พ้นคำสาป 3 ชั่วคน

บ่อยครั้งธุรกิจครอบครัว ที่กำลังรุ่งเรืองกลับมีจุดพลิกฟ้องร้องแย่งชิงทรัพย์สิน ทำให้ธุรกิจส่งต่อไปไม่ถึงรุ่น 3 ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคดีครอบครัว จึงรวบรวมคัมภีร์“ปิดจุดเสี่ยง”ศึกสายเลือด  พาองค์กรอายุยืนยาวเกินร้อยปี

จากกรณีข้อพิพาทธุรกิจระหว่างตระกูลที่เป็นข่าว ทั้งกลุ่มธุรกิจของตระกูลโตทับเที่ยง, น้ำพริกเผา ตราแม่ประนอม และไอศกรีมไผ่ทอง เป็นชนวนที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวสั่นคลอนจากการฟ้องร้องระหว่างคนในครอบครัว 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากอีกหลายกรณีศึกษาทั้งในอดีตและปัจจุบันสะท้อนว่าธุรกิจครอบครัวไทยยังขาดการวางโครงสร้างธุรกิจปิดจุดอ่อนเพื่อให้ทายาทรักษาธุรกิจให้อยู่รอดจนถึงรุ่นที่ 3 จึงทำให้ได้ยินบ่อยว่าธุรกิจครอบครัว รุ่น1 สร้าง,รุ่น 2 ใช้,รุ่น 3 ทำเจ๊ง” เป็นวัฏจักรธุรกิจครอบครัวไทยที่ต้องก้าวให้พ้นคำสาป!! 

สอดคล้องกับผลสำรวจธุรกิจครอบครัวในทั่วโลก พบว่า อัตราการอยู่รอดของธุรกิจไม่เกิน 3 ชั่วอายุคน เพราะยุคที่ 1 เป็นยุคปู่ ผู้เริ่มต้นสร้างธุรกิจ ยุคที่ 2 คือรุ่นลูก ก็เริ่มมีฐานะมั่นคง ได้รับการศึกษามากขึ้น ธุรกิจก็จะเจริญเติบโต และเมื่อเข้าสู่ยุคที่ 3 รุ่นหลาน เริ่มมีแต่งงานมีครอบครัวทำให้สมาชิกเพิ่มขึ้น จึงเริ่มเกิดปัญหาข้อพิพาทเพราะการแบ่งปันผลประโยชน์เริ่มมีปัญหา

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ผู้เขียนหนังสือ สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทยเพื่อการสืบทอดอย่างยั่งยืน เขายังเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการระงับกรณีพิพาทในธุรกิจครอบครัวมาหลายคดีดัง มองเบื้องลึกของข้อพิพาทในของศึกระหว่างสายเลือดต่างบาดหมาง และพึ่งทนายเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ ให้ทั้งสองฝ่ายหลายคดีใช้ไต่สวนข้ามปี โดยระบุว่า

ในบรรดาธุรกิจที่บริหารที่ยากที่สุด คือธุรกิจครอบครัว เพราะไม่มีการสอนในตำราธุรกิจในเมืองไทยที่ส่วนใหญ่เน้นการสอนเพื่อเข้าไปเป็นลูกจ้างแทนการเป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัว

หลักสูตรธุรกิจครอบครัวจึงมีการสอนเพียงในต่างประเทศ เช่น Harvard, INSEAD, Kellogg เนื่องจากทุกธุรกิจทุกประเทศเมื่อทายาทเข้ามาสืบทอดธุรกิจพันล้านแสนล้าน ต่างก็ประสบปัญหาคล้ายกันคือ ทายาทไม่สามารถรักษาธุรกิจให้รอด และมีการฟ้องร้องแย่งชิงแบ่งผลประโยชน์กัน

เพราะการสร้างว่ายากแล้ว การรักษายังยากกว่าหลายเท่า ! การบริหารธุรกิจครอบครัวนั้น จึงถือว่ามีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน มากกว่าคำว่าหลักการบริหารธุรกิจแบบบริษัททั่วไป ยังมีเหตุผลเรื่องความรัก ความผูกพัน การเลี้ยงดู ความชอบธรรม ระหว่างสมาชิกในตระกูล รวมไปถึงอัตตาของสมาชิกในครอบครัวที่เมื่อเข้ามาทำธุรกิจร่วมกัน เกิดบาดหมางบางครอบครัวไม่ได้ปลูกฝังให้รักและสามัคคีตั้งแต่เยาว์วัยก็พาธุรกิจครอบครัวพังได้

**10 เสี่ยงกงสีร้าว

จากประสบการณ์ทำคดีข้อพิพาทระหว่างตระกูลมายาวนานกว่า 30 ปี พบสาเหตุใหญ่ๆ ที่กลายเป็นช่องโหว่ทำให้ทายาทประจำตระกูลต้องมาฟ้องร้องการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างธุรกิจครอบครัวของไทยนั้นมีโครงสร้างของปัญหามาจาก 10 สาเหตุหลักที่รุ่นก่อนขาดการวางแผนในระยะยาว ประกอบด้วย

1.ขาดการจัดการโครงสร้างการประกอบธุรกิจและการถือหุ้นที่ดี ผู้ก่อตั้งธุรกิจไม่ได้วางโครงสร้างเตรียมการจัดตั้งบริษัทเพื่อธุรกิจในครอบครัวเพื่อให้เป็นเจ้าของ (Holding Company) รวมถึงการจัดการโครงสร้างการถือหุ้นโดยไม่คาดการณ์ถึงความเสี่ยงทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้น เช่น ผลกระทบทางภาษี การถูกฟ้องคดีทางแพ่งและอาญา ล้มละลาย และไม่แยกหน่วยธุรกิจตามความชำนาญ และความสามารถของสมาชิกในครอบครัว หากโครงสร้างไม่เป็นระบบที่ชัดเจนก็ไม่มีการบริหารจัดการที่ชัดเจน

2.ขาดเอกสารทางกฎหมายที่สำคัญ เช่น ข้อบังคับของบริษัท สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น พินัยกรรมและธรรมนูญครอบครัว จึงทำให้มีกลไกการเลือกผู้สืบทอดธุรกิจ และการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่เหมาะสมได้

“คนรุ่น1 ที่สร้างมักต้องการกอดธุรกิจไว้กับตัวเองยาวนานเพราะเป็นสิ่งที่สร้างมากับมือ”

3.ขาดกลไกในการจัดสรรเรื่องผลประโยชน์ หรือความเป็นเจ้าของในธุรกิจครอบครัวอย่างเป็นธรรม โดยการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับคนในครอบครัว และทายาท ทั้งในบริษัทโฮลดิ้ง และบริษัทประกอบการจะต้องมีความเป็นธรรมหรือยุติธรรม

4.ขาดการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิกในครอบครัว จากการวิจัยทางธุรกิจพบว่า ความถดถอยหรือความเสื่อมของธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ ปัญหาหลักสำคัญคือขาดการสื่อสารระหว่างเจ้าของธุรกิจครอบครัว รุ่นแรกผู้ส่งมอบ และสมาชิกในครอบครัวรุ่นรับมอบ หรือทายาท ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาหารือหรือพูดคุยกัน การตัดสินใจในเรื่องสำคัญและกระบวนการรับฟังของสมาชิกในครอบครัวแต่ละรุ่นมากที่สุด เพราะวัฒนธรรมไทยมักเชื่อเรื่องความเป็นพ่อแม่กับความเป็นลูก ยึดถือความอาวุโส จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการกฎเกณฑ์การสื่อสารของสมาชิกในครอบครัวในรูปแบบที่ทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ รวมถึงการรับฟังความเห็นการสื่อสารให้ปรากฏชัดเจน อยู่ในธรรมนูญครอบครัวและในข้อบังคับของบริษัท จึงจะทำให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวพึงพอใจ

“ธุรกิจครอบครัวไทยมักมีการสื่อสารแบบสั่งการ เพราะคนรุ่นก่อนคิดว่าเป็นจักรพรรดิ หรือ King ผู้ที่ปักธงความสำเร็จให้กับครอบครัว โดยลืมว่าเป็นยุคที่เกมเปลี่ยน วิธีการรุ่นพ่อก็ใช้ไม่ได้ในรุ่นลูก จึงต้องมีวิธีการสื่อสารและยอมรับความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน”

5.ขาดแนวคิดในการที่จะสามารถแยกความแตกต่างระหว่างประเด็นธุรกิจและทางครอบครัว เมื่อมีปัญหาต้องพิจารณาถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องยากมากที่จะแบ่งแยกและตัดสินใจเพราะสมาชิกในครอบครัวเติบโตมาพร้อมกันด้วยความผูกพัน มีความอาวุโส มีประสบการณ์ โดยผู้ส่งมอบธุรกิจ กับทายาทธุรกิจ ต่างมีความเห็นที่แตกต่างกันเพราะมีช่องว่างระหว่างเจเนเรชั่น และยังมีตัวแปรความขัดแย้งในด้านของผลประโยชน์ทางธุรกิจและความรู้สึกส่วนตัว จึงควรสร้างกลไกการแก้ไขปัญหาโดยกำหนดเป็นรัฐธรรมนูญครอบครัว เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัว

6.ขาดการวางแผนการสืบทอดธุรกิจและการเลือกสมาชิกในครอบครัวเข้าเป็นผู้นำ การสืบทอดอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจครอบครัวและไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญเป็นจนถือเป็นปัญหาทั่วไป ทั้งที่เป็นธุรกิจครอบครัวหรือไม่เป็นธุรกิจครอบครัว หรือการสรรหาผู้บริหาร จึงจะต้องมีกลไก วิธีการ ขั้นตอน การเลือกผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวที่ชัดเจนโปร่งใส พร้อมทั้งมีกำหนดเป็นรายลักษณ์อักษร เช่น ในข้อบังคับ สัญญาผู้ถือหุ้น หรือในธรรมนูญครอบครัว

7.ขาดนโยบายการจ้างงานโดยเฉพาะ สมาชิกในครอบครัวที่เข้ามาทำงานในบริษัทครอบครัวโดยไม่มีความสามารถที่แท้จริง หรือการดูว่าสมาชิกคนในครอบครัวคนใดที่เหมาะสม และมีความสามารถที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจได้ หากผู้ส่งมอบธุรกิจไม่ได้มีการเขียนหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจน ทำให้ไม่มีแผนการส่งมอบธุรกิจทายาทที่ชัดเจน จะส่งผลทำให้ถูกคนในบริษัท หรือ ทายาทท่านอื่นตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเหมาะสมในคุณสมบัติการบริหารกิจการ รวมถึงแนวทางของคู่สมรสก่อนเข้ามาทำธุรกิจครอบครัวหากไม่มีการระบุไว้ชัดเจน ทำให้ขาดผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่หัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต

8.ขาดมืออาชีพ หรือ กรรมการอิสระ ที่มีความรู้และมีประสบการณ์เข้ามาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เนื่องจากผู้ที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ และมีประสบการณ์เหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นทายาท มีความสำคัญผู้วางกลยุทธ์ในการบริหารการจัดการวางแผนการดำเนินธุรกิจครอบครัวในรูปแบบสร้างเครือข่าย และสร้างโอกาส รวมถึงเป็นตัวกลางในการทำหน้าที่เจรจาประนีประนอมระหว่างสมาชิกในครอบครัว รวมถึงสามารถเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นโค้ช หรือผู้แนะนำแนวทางในการบริหารธุรกิจให้กับสมาชิกในครอบครัว สามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ประสบการณ์ที่เคยประสบความสำเร็จจากองค์กรอื่นเข้ามาช่วยให้ทายาทธุรกิจตัดสินใจในการบริหารงานธุรกิจได้ และช่วยทำให้ปิดจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันการผิดพลาด บริษัทขนาดใหญ่จึงยอมจ้างมืออาชีพผู้มีประสบการณ์เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับทายาทธุรกิจพันล้านแสนล้าน

9.ขาดมาตรการบริหารความเสี่ยง เป็นการวางระบบเพื่อควบคุมเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่ทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงเข้าสู่วิกฤติจากธุรกิจในครอบครัว ซึ่งมีการสรุปไว้ใน 5 D ที่เป็นสาเหตุของการทำให้ธุรกิจครอบครัวต้องสะดุดจนมีจุดเปลี่ยน ประกอบด้วย การหย่าร้าง (Divorce), การถึงแก่ความตาย (Death), ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน (Distrust), ทายาทหรือคนในครอบครัวไม่สนใจในการสานต่อธุรกิจ (Disinterest), และความเสี่ยงจากความตกต่ำของวงจรธุรกิจ (Deterioration) สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเตรียมการวางระบบเพื่อรองรับ โดยการสร้างกลไกเข้ามาขจัดความเสี่ยงทั้งป้องกัน และแก้ไขเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เช่น มีการวางข้อบังคับในบริษัท ทำสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น วางธรรมนูญครอบครัว และเขียนพินัยกรรม

10.ขาดการวางแผนกลยุทธ์ทั้งด้านธุรกิจและการเงิน การวางแผนทั้งเรื่องธุรกิจครอบครัวและสมาชิกในครอบครัวรวมถึงหลักการบริหารความเสี่ยง ทำให้ต้นทุนด้านการเงินมีปัญหา และมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจไม่ทันสมัยจึงไม่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะกติกากฎเกณฑ์เกี่ยวกับรูปแบบการค้าการลงทุน และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องทำให้ธุรกิจครอบครัวเปลี่ยนรูปแบบการบริหารให้สอดคล้องกับพลวัฒน์ทางธุรกิจในทุกยุคสมัย

กิติพงศ์ กล่าวว่า จากการศึกษาของ The Williams Group ที่ได้สัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจครอบครัว 3,250 ราย พบว่าสาเหตุของอัตราการสืบทอดธุรกิจครอบครัวในปัจจุบันที่ล้มเหลวมากกว่า 70% มีสาเหตุหลักของความล้มเหลวมาจาก 4 เรื่องหลักๆ ประกอบด้วย ขาดการสื่อสาร (Communication) 60%, ขาดการวางแผนสืบทอดกิจกิจการ 25%, ไม่มีจุดมุ่งหมายหรือพันธกิจชัดเจน 12% และความบกพร่องของผู้เชี่ยวชาญ 3%

เหตุผลสำคัญที่มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 60% คือ ขาดการสื่อสารและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสมาชิกในครอบครัว ต้นเหตุของการสื่อสารมีความจำเป็นที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว และจะทำให้มีการบริหารจัดการต่างๆ ได้ลงตัว เกิดความรักและความสามัคคี

นักกฎหมายผู้มากประสบการณ์เกี่ยวกับการเจรจาหย่าศึกของธุรกิจกงสีมาหลายคดี ยังมองว่า หลักของความยากในการตัดสินใจของธุรกิจครอบครัวที่แตกต่างจากบริษัททั่วไปตรงที่ หากนำวิธีการลงคะแนนเสียงและตัดสินใจแบบโหวตลงคะแนนตามบริษัทมาใช้ลงคะแนนระหว่างพี่น้อง เมื่อครอบครัวถูกแบ่งฝั่งจะเกิดแบ่งฝ่ายผู้ชนะและแพ้ สมาชิกจะรู้สึกเสียหน้าและไม่เป็นผลดีกับความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อมีการแยกฝ่าย

สิ่งสำคัญในการส่งมอบทายาทเพื่อให้ดูแลธุรกิจที่สำคัญกว่าหลักการบริหารจัดการธุรกิจที่ตำราไม่มีสอนแต่เป็นเรื่องสำคัญคือ ความรัก ความเมตตา การปลูกฝัง และยอมรับความเปลี่ยนแปลงไม่ยึดติดความเป็นตัวตน หรืออัตตา

ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการตกลงของธุรกิจครอบครัวจึงต้องยึดหลัก ฉันทานุมัติ” คุยกันค่อยๆ ล็อบบี้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่เป็นส่วนน้อยจนยินยอมพร้อมใจกันทั้งหมด 

เช่นที่ กนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท โอสถสภา จำกัด ธุรกิจครอบครัวของคนไทยที่มีอายุกว่ามากกว่า 128 ปี เพราะสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ทายาทรุ่นที่ 3 จะตัดสินใจลงทุนในธุรกิจใหม่ก็ต่อเมื่อได้รับฉันทานุมัติ ยินยอมพร้อมใจจากพี่น้องทุกคน จากคำพูดที่ว่า "เงินหาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวเวลาแตกร้าวเริ่มยากในการฟื้น”

รองลงมาสัดส่วน 25% เป็นเรื่องของการวางแผนสืบทอด เพราะคนรุ่นนี้ที่1 ผู้สร้างมากับมือบางรายต้องการบริหารไปจนถึงอายุ 90 ปี โดยไม่คิดถึงอนาคตการส่งมอบเข้ามาเป็นตัวแทน ถึงเวลาเกิดวิกฤติที่ไม่คาดคิดจะยากในการจัดการ หากคนรุ่นที่1 ไม่ได้วางแผนส่งมอบ บางธุรกิจหากไม่มีทายาทมาบริหาร เช่น มีลูกน้อย หรือ ไม่ต้องการมาบริหาร ก็วางมืออาชีพให้มาทำธุรกิจแทน เช่น ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัทอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของประเทศมายาวนานกว่า 8 ปี มีลูกสาวเพียงคนเดียวที่ดูแลธุรกิจมูลค่ากว่า 6หมื่นล้าน หากดูแลไม่ไหวก็ต้องส่งมอบให้มืออาชีพเข้ามาดูแล แต่สิ่งที่ยังอยู่คือมรดกทางคุณค่าบางอย่างของความเป็นธุรกิจครอบครัวยังอยู่

ธุรกิจที่เด่นชัดที่แม้จะเปลี่ยนมือผู้บริหารมืออาชีพมาดูแลธุรกิจครอบครัว แต่ความเป็นจิตวิญญาณของผู้ก่อตั้งก็แฝงอยู่ในแบรนด์ อย่าง คิคโคแมน (Kikkoman) ซอสญี่ปุ่นที่อายุกว่า 100 ปี

“ครอบครัวของคนไทยมักจะไม่มีการวางทายาทไว้ เพราะกลัวว่าเป็นการแช่งตัวเอง ทำให้ลูกทะเลาะกันภายในหลัง จนเกิดเรื่องราวดราม่า อย่างละครเลือดข้นคนจาง มีหลายครอบครัวต้องอยู่ในภาวะเช่นนี้เพราะการการปิดความเสี่ยง”

-----------------------------

6 ศาสตร์ธุรกิจยั่งยืน ยุคดิสรัปชัน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัดยังกล่าวถึง”สูตรความสำเร็จอย่างยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวไทย ประกอบด้วย 6 แนวทางการบริหารงาน คือ 

1.โครงสร้างบริษัทและการถือหุ้น (Corporate Structure) จะต้องมีโครงสร้างบริษัทและการถือหุ้นที่ดีและเหมาะสม โดยจัดสรรชัดเจนด้วยความยุติธรรมและเท่าเทียม

2.จัดสรรค่าตอบแทนและผลประโยชน์ให้เหมาะสม ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม มีการให้รางวัล ที่ไม่ได้หมายถึงการแบ่งปันอย่างเท่าเทียม แต่หมายถึงการจัดสรรให้ทายาท และผู้ที่เข้ามาทำงานแตกต่างตามความเหมาะสมของผลงาน

3.การสื่อสาร (Communication) มีการสื่อสารระหว่างกันอย่างจริงใจและมีเหตุผล และถ่ายทอดวิธีคิด แนวทางการบริหารส่งต่อไปยังคณะกรรมการ และสภาครอบครัว โดยมีข้อบังคับ สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น พินัยกรรม ธรรมนูญครอบครัว ที่จะเป็นหลักเกณฑ์ในในการจัดการในข้อ 

4.การระงับข้อพิพาท (Conflict Resolution) เมื่อมีข้อขัดแย้งมีกลไกลการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่มีการซื้อขายหุ้น การเจรจา การเข้าตลาดหลักทรัพย์

5.ความรักและเมตตา กรุณา ให้กับสมาชิกให้ครอบครัว ให้รู้สึกถึงความเท่าเทียมและยุติธรรม หากมีมืออาชีพเข้ามาบริหารงานให้ปฏิบัติกับผู้บริหารที่เป็นลูกจ้างเหมือนลูก และปฏิบัติลูกให้เหมือนลูกจ้างรวมถึงมีการเอื้ออาทร ความเห็นใจและรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยยึดหลักผลประโยชน์ส่วนรวม และ 6.การยอมรับความเปลี่ยนแปลง(Change) ทั้งวิธีคิดและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงรับกับพลวัฒน์

โดยเฉพาะยุคดิจิทัล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันหากยังทำธุรกิจแบบเดิมก็จะถูกแทนที่ด้วยผู้เล่นหน้าใหม่ (Disruption) ธุรกิจครอบครัวจึงต้องยอมปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจเพื่อความอยู่รอดให้สอดคล้องกันกับระบบนิเวศที่แตกต่างจากเดิม นั่นทำให้โมเดลธุรกิจจะต้องมองหารูปแบบการทำธุรกิจแบบใหม่

ทว่า การพัฒนาโมเดลธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ตามที่เห็นว่าสตาร์ทอัพที่เริ่มธุรกิจใหม่มีที่ประสบความสำเร็จจริงไม่ถึง 5% ดังนั้นหากคนในธุรกิจครอบครัวมีไอเดียใหม่ๆ ที่ดี และน่าลงทุนใหม่ ไม่ควรนำเงินจากธุรกิจไปลงทุน เพราะมีความเสี่ยง แต่ควรแบ่งงบประมาณบางส่วน หรือเงินส่วนตัวเข้าไปลงทุนนำร่องในบางส่วนเพื่อพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสีย เมื่อสำเร็จจึงนำมาเป็นกรณีศึกษาให้กับธุรกิจครอบครัวเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเพิ่ม จึงจะเป็นการบริหารภายใต้ความเสี่ยง

เขายกกรณีศึกษาของละครดัง เลือดข้นคนจาง” มาถอดบทเรียนถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดศึกฟ้องร้องกันเองในตระกูลเพราะครอบครัวไม่ได้มีการจัดการโครงสร้างบริษัทที่ชัดเจนจึงไม่มีการวางโครงสร้างกฎหมายที่เหมาะสม และไม่มีการจัดสรรการถือหุ้นให้กับทายาทให้กับบริษัท ให้ความสำคัญลูกชายมากกว่าลูกสาว ทำให้เกิดข้อพิพาทแบ่งหุ้นไม่เป็นธรรม และยังขาดการสื่อสารเกี่ยวกับนโยบายและบทบาทหน้าที่ของสมาชิกที่จะต้องทำงานร่วมกัน ไม่มีกลไกระงับข้อพิพาท โดยไม่มีเอกสารทางกฎหมายเช่น หากมีการซื้อขายหุ้นจากประเสริฐ(พี่ชายคนโต) โดยภัสสร (น้องสาวผู้บริหารโรงแรมที่พัทยาจนประสบความสำเร็จ) ก็จะมีกลไกการระงับข้อพิพาท ขาดธรรมนูญในครอบครัว สะใภ้ริษยากัน เพราะขาดความเอื้ออาทรระหว่างกัน และไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง