ไข3ปมมาตรฐาน 'หุ้นสื่อ'

ไข3ปมมาตรฐาน 'หุ้นสื่อ'

มีคำถามที่ว่า "สองมาตรฐานหรือไม่?" สำหรับกรณีการถือครองหุ้นสื่อของบรรดาส.ส.ทั้งจาก "ซีกรัฐบาล" และ "ซีกฝ่ายค้าน"

โดยเฉพาะกรณีล่าสุดคือกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัยวินิจฉัยคุณสมบัติ “32 ส.ส.” กรณีการถือครองหุ้นสื่อ แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

ต้องยอมรับว่า กรณีดังกล่าวต่างจากกรณีของ “หัวหน้าพรรคส้มหวาน” อย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตรงที่ “ประเด็นแรก” กรณีของ 32ส.ส. เป็นการยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง

ส่วนกรณีของ “ธนาธร” ศาลชี้แจงในท้ายคำวินิจฉัยว่า “ได้ผ่านการสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงมาก่อนยื่นคำร้องต่อศาล” นอกจากนี้ยังมีเอกสารประกอบคำร้อง เช่นแบบสสช.1 และแบบส่งงบการเงินที่ยื่นต่อกรมธุรกิจการค้า ระบุไว้ชัดเจนว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร และรายได้จากการให้บริการโฆษณา ประเด็นดังกล่าวจึงมีน้ำหนักให้ศาลจึงมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

“ประเด็นที่2” คือ กรณีของ “ธนาธร” เป็นกรณีการ “ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนจริงๆ” แต่ยังต้องพิสูจน์ว่า “มีการขายหุ้นก่อนลงสมัครเลือกตั้ง” อันนี้ถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติ หรือ “มีการขายหุ้นหลังจากเป็นส.ส.แล้ว” ซึ่งถือว่าขาดคุณสมบัติ เนื่องจากมาตรา 98(3) ของรัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ”

ส่วนคำร้องส.ส.คนอื่นๆ เป็นการ “ตีความ” การถือครองหุ้น “บริษัทที่อาจไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ” แต่เป็นการตีความจาก “การจดแจ้งวัตถุประสงค์” ซึ่งบางบริษัทอาจมีการจดแจ้งชนิดที่เรียกว่า “ติ๊กทุกข้อ” เพื่อที่ว่าเวลาจะขยายกิจการจะได้ไม่ต้องไปจดแจ้งใหม่ ประเด็นนี้ต้องไปลุ้นกันที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าจะตีความตาม “วัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท” หรือตีความตาม “ลักษณะการประกอบกิจการ”

“ประเด็นที่3” คือการเทียบเคียงคดีของ “ภูเบศวร เห็นหลอด” ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัยให้ขาดคุณสมบัติเนื่องจากถือหุ้นในบริษัทที่จดแจ้งวัตถุประสงค์ทำสื่อ ประเด็นนี้มีความเห็นมาจากนักกฎหมายว่า “คำพิพากษาของศาลฎีกาฯไม่ผูกพันทุกองค์กร” โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้

ต้องไม่ลืมว่า ศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นศาลที่มีลำดับความศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ดังนั้นคำวินิจฉัยที่ออกมาย่อมถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ!!