'ฝ่ายค้าน' ​สับเละ แผนปฏิรูปล้มเหลว หยิบงานประจำเล็กๆ มาทำ อ้างคืองานปฏิรูป

'ฝ่ายค้าน' ​สับเละ แผนปฏิรูปล้มเหลว หยิบงานประจำเล็กๆ มาทำ อ้างคืองานปฏิรูป

“ฝ่ายค้าน”​ สับเละ แผนปฏิรูปล้มเหลว หยิบงานประจำเล็กๆ มาทำ อ้างคืองานปฏิรูป “วันนอร์” ซัดปฏิรูปการเมืองเหลว หลังพบวันเลือกตั้ง บางพรรคแจกเงินกำนัน โกงแบบโจ่งแจ้ง

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.62 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณารับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคม 2562 โดยมีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฐานะกรรมการและเลขาธิการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็นผู้รายงานความคืบหน้าโดยมีสาระสำคัญ​คือ แผนการปฏิรูปประเทศที่ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 จำนวน 11 ด้านพบว่าความคืบหน้ายังอยู่ระหว่างการปรับแผนปฏิรูปให้ตรงกับแผนแม่บทให้มีความเหมาะสม ก่อนจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

จากนั้นเป็นการอภิปรายของ ส.ส. ซึ่งพรรคฝ่ายค้าน ขอเวลาอภิปรายไว้รวม 10 ชั่วโมง โดยสาระสำคัญของการอภิปรายโดยส.ส.พรรคฝ่ายค้าน คือ สะท้อนความล้มเหลวของแผนการปฏิรูปประเทศรวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะขาดการชี้วัด และตอบโจทย์ว่าประชาชนได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง รวมถึงงานปฏิรูปบางเรื่องยังเป็นการนำงานประจำของหน่วยงานราชการมาปฏิบัติ

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าการปฏิบัติตามแผนการปฏิรูปประเทศตามที่นำเสนอรายงานไม่พบความคืบหน้าและความสำเร็จที่ชัดเจน ซึ่งภาพรวมคือความล้มเหลว จากแผนงาน 14,865 เรื่อง งานปฏิรูป 5 ใน 11 ด้าน อยู่ระหว่างรอพิจารณา ขณะที่ประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง ไม่มีความคืบหน้า อาทิ ประชาธิปไตยธรรมาภิบาล, การกระจายอำนาจ, การทบทวนกฎหมายที่ล้าหลัง และ ประชาชนจิตอาสา อย่างไรก็ตามตนทราบว่าในการทบทวนกฎหมายที่ล้าหลังนั้น เตรียมจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งถือว่าเปลืองงบประมาณ ขณะที่ภาคข้าราชการประจำสามารถดำเนินการได้ นอกจากนั้นสิ่งที่ล้มเหลวและไร้ทิศทางสำคัญ คือ ไม่พบการปฏิรูปด้านการเมือง โดยเฉพาะวิธีการเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง รวมถึงการถูกตรวจสอบ ทั้งนี้การนำเสนอรายงานดังกล่าว ครม. ควรให้ความสำคัญต่อสภาฯ ด้วย

“หลังการเลือกตั้ง เมื่อ 24 มีนาคม 2562 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศ ผมถือว่าเป็น ครม. เป็ดง่อย ซึ่งผมเคยอภิปรายไว้ว่าสิ่งที่จะพาประเทศไปสู่วิกฤต และล้มเหลว คือการเลือกนายกฯ คนปัจจุบันให้กลับมาเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง ขณะที่สภานี้ คือ สภาเป็ดง่อย เพราะด้วยเสียงของ 2 ฝ่าย ห่างกันเพียง 8เสียง คือ ฝั่งหนึ่งมี 254 เสียง อีกฝั่งมี 246 เสียง ถือเป็นความสนุกในการทำงานแน่นอน” นพ.ชลน่าน อภิปราย

ขณะที่นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าแผนงานปฏิรูปของรัฐบาลตามความคืบหน้าที่รายงานนั้นไม่พบความสำเร็จ ซึ่งตนเชื่อว่าการสร้างเรื่องปฏิรูปนั้น เป็นเพียงการสร้างวาทะกรรมเท่านั้น เพราะไม่มีประเด็นที่เกิดผลสำเร็จในทางปฏิบัติ

ส่วนน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า จากการตรวจสอบโครงการที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศ พบว่าบางเรื่องเป็นเพียงเรื่องเล็ก และ เป็นงานประจำของหน่วยงานราชการ อาทิ โครงการปลูกผักปลอดสารพิษ ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาทดำเนินการ, โครงการลดขยะในสถานที่ราชการ, แจกถุงผ้าเพื่อใช้แทนถุงพลาสติก หรือ โครงการสนับสนุนพลังงานทางเลือก หรือ โซล่าลูปท็อป ที่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าที่ผลิดจากพลังงานจากแสงอาทิตย์ แต่รัฐไม่สามารถอุดหนุนโครงการดังกล่าวผ่านการซื้อไฟฟ้าจากประชาชนได้

"วงจรการปฏิรูปคือตั้งคณะกรรมการออกกฎหมายและตั้งหน่วยงานใหม่ยิ่งปฏิรูปยิ่งล้มลุกคุกคลานการปฏิรูปมักเป็นเพียงข้ออ้างของการทำรัฐประหารเมื่อปี2549 ก็มีการปฏิรูปมี4 คณะใช้งบประมาณ1.3 พันล้านบาทมี1 พันข้อเสนอเมื่อปี2557 รัฐประหารด้วยการอ้างว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งมี2 สภาปฏิรูปใช้เงิน1.7 พันล้านบาทกรรมการปฏิรูป11 คณะเบิกเบี้ยประชุม3 ร้อยล้านบาทมี1,300 ข้อเสนอเสียดายแทนความพยายามอย่างยิ่งที่จะปฏิรูปวางกลไกเงื่อนไขไว้มากทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ20 ปีแผนปฏิรูป5 ปีแผนสภาพัฒน์อีก5 ปีหวังว่าคราวหน้าจะเห็นความก้าวหน้าที่มากกว่านี้คุ้มค่ากับทรัพยากรที่เสียไป” น.ส.ศิริกัญญา อภิปราย

ทางด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ตนไม่เชื่อว่าเป็นการปฏิรูปประเทศได้ เพราะแผนปฏิบัติไม่ชัดเจน หรือ ทำอย่างจริงจัง เพราะไม่มีการประเมินผลความก้าวหน้า รวมถึงความสำเร็จ อาทิ แผนปฏิรูปว่าด้วยการจัดการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม โดยการเลือกตั้งที่ผ่านมาพบว่าทำให้การปฏิรูปการเมืองถอยหลังเพราะพบการซื้อเสียงเลือกตั้งมากที่สุด ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม อาทิ นำเงินพรรคการเมือง ไปให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บนสถานที่ราชการอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งตนสงสัยว่าคนที่เขียนแผนปฏิรูปคือคนที่โกงการเลือกตั้ง และใช้อำนาจรัฐที่เรียกว่าไม่อายชาวบ้าน เพื่อหวังแค่การชนะเลือกตั้งเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงการปฏิรูปการเมือง ทั้งนี้ที่ระบุว่าต้องทำให้การเลือกตั้งสุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ตนอยากทราบว่าจะทำได้ชาติไหน อย่างไรก็ตามก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมาตนพบการลงพื้นที่ของอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในจังหวัดต่างๆ ตนสอบถามว่าทำไมถึงทำแบบนั้น ซึ่งได้รับคำตอบคือ หากไม่ลงพื้นที่รอบหน้าจะไม่ได้รับเลือกให้มาเป็น ส.ว. ดังนั้นตนมีคำถามต่อการทำหน้าที่ที่เป็นกลางของส.ว. ด้วย

ต่อมาเมื่อเวลา 17.10 น. นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อภิปรายด้วยว่า ตนเห็นด้วยหมวดปฏิรูปสามารถปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ทั้งนี้ในแนวทางของการปฏิรูป กำหนดให้มีคณะกรรมการ, รายละเอียดงาน อาทิ แผนปฏิรูปเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีผลผูกพันทุกหน่วยงานราชการ รวมถึงติดตามและลงโทษ หากพบว่าไม่มีการดำเนินงานปฏิรูปในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังกำหนดให้รายงานความคืบหน้าของการทำงานด้วย ขณะที่ปัญหาของการดำเนินงานปฏิรูป คือ การตั้งกรรมการที่มาจากภาครัฐมากกว่าภาคประชาชน รวมถึงขาดความหลากหลาย รวมถึงจัดทำแผน ภายใน 60 วัน ที่ขาดความชัดเจนและนำเป้าหมายไปสู่ประชาชน

“กรรมการปฏิรูปลาออกจำนวนมาก ทำให้ทั้ง 11 ด้านมีปัญหา บางคณะมีเพียง 2 คน จากทั้งหมด 12 คน หรือบางคณะหายจนทำงานไม่ได้ นอกจากนั้นงานปฏิรูปมีระบบเสนองบประมาณและฐานการเสนอของบประมาณที่ลักลั่น และมีปัญหาเกือบทุกคณะ ผมขอเสนอแนะว่า ครม.ชุดใหม่ ต้องตั้งกรรมการปฏิรูปที่มีความหลากหลาย รวมถึงรื้อแผนปฏิรูป และให้ประชาชนแสดงความเห็น เพื่อเกิดการมีส่วนร่วมและยอมรับ”​ นายนิกร กล่าว