ปตท.เปิดชิงพัฒนา 'อีอีซีไอ'

ปตท.เปิดชิงพัฒนา 'อีอีซีไอ'

เล็งออกทีโออาร์ ประมูลเช่าพื้นที่คอมมูนิตี้โซน อีอีซีไอ ไตรมาส 3 ปีนี้ พร้อมสร้างเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัย ผลักดันสตาร์ทอัพ พร้อมดันงานวิจัยจากสถาบันนวัตกรรม อ.วังน้อย สู่เชิงพาณิชย์

นางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมออกเอกสารเชิญชวน (ทีโออาร์) เปิดประมูลสำหรับเช่าพื้นที่โซนอาคารเชิงพาณิชย์ (Community Zone) ขนาด 100 ไร่ ในอีอีซีไอ สัญญาเช่า 30 ปี เพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนนานาชาติ โรงแรม และคอมมูนิตี้มอลล์
ทั้งนี้ จะออกทีโออาร์ในพื้นที่ส่วนโรงเรียนได้ก่อนในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 หลังจากนั้นจะทยอยเปิดการพัฒนาพื้นที่อื่น โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาให้แล้วเสร็จในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งจะทำให้ ปตท.มีรายได้จากการปล่อยเช่าพื้นที่ ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่จะการดำเนินการของผู้เช่าเอง

ปตท.เปิดชิงพัฒนา \'อีอีซีไอ\'

รวมทั้งมีแผนให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เตรียมเช่าพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาจัดสรรให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับแสงซินโครตรอน ซึ่ง สวทช.มีแผนที่จัดหาเครื่องซินโครตรอนมาดำเนินการพื้นที่ 200 ไร่

ดึง“จีอี”ตั้งศูนย์วิจัยพัฒนา

นอกจากนี้ ปตท.มีความร่วมมือหลายด้านกับกลุ่มจีอี จากสหรัฐ ซึ่งเป้าหมายอยากให้จีอีเข้ามาตั้ง Global research center ในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งได้ลงนามความร่วมมือกับหัวเว่ย เพื่อจะนำเทคโนโลยีมาใช้และจะทำแผนงานร่วมกันในรูป Innovation Campus ของหัวเว่ยในพื้นที่อีอีซีไอ

“การพัฒนาพื้นที่อีอีซีไอ ของ ปตท.ในเฟสแรก คาดว่าจะเห็นชัดเจนใน 10 ปี และจะเป็นส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนนโยบายEEC ของภาครัฐในสำเร็จ”

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนพัฒนาพื้นที่อีอีซีไอ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่เฟสแรก โดยในปี 2563 การลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบสมาร์ทและอาคาร Intelligence Operating Center (IOC) ที่ ปตท.ลงทุนภายใต้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท และใกล้จะแล้วเสร็จ

ดันศูนย์นวัตกรรม ปตท.สผ.

รวมถึงก่อสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (PTTEP Technology and Innovation Centre) ในการสนับสนุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หุ่นยนต์ (Robotic) และธุรกิจด้านพลังงานใหม่ ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563

ส่วนการก่อสร้างอาคารของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้วยงบประมาณราว 9,600 ล้านบาท จะแล้วเสร็จช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 2564

นอกจากนี้ช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้จะมีการลงนามเช่าพื้นที่กับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซีเพื่อทดสอบนวัตกรรมในการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) ขนาด 2 เมกะวัตต์

ดันศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.มีแผนที่จะพัฒนาสถาบันนวัตกรรมของ ปตท.ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ไปเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ (สตาร์ทอัพ) โดยนำผลงานวิจัยที่มีการศึกษาเอาไว้แล้วมาพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่สามารถสร้างรายได้โดยปตท.อาจจะต้องตั้งทีมหรือบริษัทใหม่ขึ้นมาดำเนินการ

ขณะเดียวกัน ยังได้เจรจากับมหาวิทยาลัยในการนำผลงานวิจัยที่จะพัฒนาเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพด้วย ซึ่งที่ผ่านมาผลงานการวิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัยมักจะหยุดทำระดับหนึ่ง จำเป็นต้องมีบริษัทที่ต้องกล้าที่จะลงทุนต่อยอดให้สามารถผลิตเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ หรือ จากหิ้งสู่ห้าง และบริษัทนั้นต้องมีเงินทุนมากพอ เพราะมีโอกาสที่จะไม่สำเร็จได้ โดยทำให้ที่ผ่านมาเป็นจุดบอดของประเทศไทยในการต่อยอดสู่สตาร์ทอัพ

10มหาวิทยาลัยดันสตาร์ทอัพ

“ปตท.หารือกับมหาวิทยาลัยจำนวน 10 แห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทุกมหาวิทยาลัยมีความกระตือรือร้นที่จะผลักดันงานวิจัยให้สำเร็จ โดยทีมงานของ ปตท.จะร่วมหารืออย่างใกล้ชิด ทำให้ล่าสุดทีม ปตท.ได้ทำการคัดเลือกสินค้าในกลุ่มวิจัย 3 ด้าน อาทิ กลุ่มการแพทย์ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเตรียมพัฒนาผลงานวิจัยดังกล่าวสู่เชิงพาณิชย์โดยเร็ว”

นอกจากนี้ ปตท.สนใจต่อยอดผลงานวิจัยนอกเหนือจากการที่เข้าไปเข้าไปลงทุนในกองทุนร่วมลงทุนหรือการซื้อกิจการแล้วเข้าสู่ธุรกิจ New S-Curve

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีนี้ ปตท.ได้ลงทุนในกองทุนร่วมทุนแล้ว 7 กองทุน และร่วมทุนในธุรกิจสตาร์อัพ 2 ราย โดยในปีแรกลงทุนในกองทุนร่วมทุนที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เป็นธุรกิจหลัก ปตท.และปี 2562 จะลงทุนเพิ่มในอีก 3 กองทุนที่ฉีกออกไปไม่เกี่ยวข้องกับพลังงานน้ำมันและก๊าซฯ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินไม่มากนัก

ปตท.รับมือเทคโนฯเปลี่ยน

“ปตท.จะต้องปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruptive technology) เน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เอง โดยจะยังไม่หลีกหนีในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพราะเป็นภารกิจที่ต้องดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ”

นายวิทวัส กล่าวว่า ปตท.ได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำ แพลตฟอร์ม อินดัสทรี 4.0 ของประเทศไทย โดยเน้นการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เข้ามาช่วยในการผลิตของอุตสาหกรรมไทย โดย ปตท.มีแผนนำบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งบริษัทลูกของ ปตท.สผ.เข้ามาร่วมทำงานด้วย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้ผู้ใช้หุ่นยนต์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมมีช่องทางในการเข้าถึงผู้ผลิตหุ่นยนต์ และผู้ผลิตระบบอัตโนมัติมีสินเชื่อรองรับ ช่วยกระตุ้นตลาดทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตทั้งระบบ