รอยร้าวอำนาจที่ไม่สมดุลของ 'สภาสูง'

รอยร้าวอำนาจที่ไม่สมดุลของ 'สภาสูง'

ส.ว.แบ่งฝ่ายออกเป็น 2 ขั้วที่เห็นชัดเจนคือ กลุ่มสายตรงกลุ่มอำนาจเดิม และสายที่เคยเป็นกลุ่มผู้นำทางความคิดก่อนการรัฐประหาร ปี 2557

ประเด็นที่สะท้อนภาพความแตกร้าวที่ฝังลึกถูกแสดงออก ผ่านการยกประเด็น “การกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของ กลุ่มประมุขสภาสูง ทั้ง ประธานวุฒิสภา, รองประธานวุฒิสภา อีก 2 คน รวมถึงวาระดำรงตำแหน่งของ ประธานกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา”

จุดเริ่มคือ “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม-กล้านรงค์ จันทิก”​ ส.ว.กลุ่มผู้นำทางความคิด ที่เสนอให้ร่างข้อบังคับการประชุมกำหนดวาระให้ชัดเจน โดยส่วนประธานกรรมาธิการฯ ควรกำหนดระยะเวลา อย่างน้อยไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ขณะที่ตำแหน่งประมุขสภาสูง ก็เช่นกัน โดยยกเหตุผลคือ การปรับบทบาทการทำงานให้สอดคล้องกับภาวะ-ยุคสมัย

แต่ในความหมายที่ซ่อนอยู่ คือ การผ่องถ่ายอำนาจการควบคุมกิจการใน “วุฒิสภา” เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งวางทายาทไว้เกินความจำเป็น หรือกุมอำนาจไว้เฉพาะฝ่ายตน และเครือข่ายกลุ่มเดียวเพียงเท่านั้น ขณะที่ฝั่งไม่ยอมเขียนเรื่องกำหนดวาระดำรงตำแหน่ง ระบุว่า ไม่มีระเบียบใดวางเป็นข้อปฏิบัติไว้ และบางคนเลือกจะเงียบ เพราะมีส่วนได้เสียโดยตรง

อย่างไรก็ดีแม้ผลการทักท้วง แม้จะเป็นเพียง “ข้อเสนอแนะ” ให้ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาทำข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา นำไปพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ แต่ด้วยสัดส่วนของ กรรมาธิการฯ​ ที่วางกรอบไว้เบื้องต้น คือ 35 คน มาจาก กรรมการยกร่างข้อบังคับ 18 คน และ ส.ว.ที่อยู่นอก กรรมการฯ จำนวน 17 คน กลายเป็นสิ่งที่ปรากฏภาพชัดเจนของความไม่ลงรอย

เมื่อมี “ส.ว.” ​เสนอให้ปรับสัดส่วนตามกรอบเบื้องต้น เพราะ ใน ดร๊าฟแรกของข้อบังคับฯ ยังมีปัญหามาก โดยเฉพาะการเขียนถ้อยคำ และการปรับเปลี่ยนเนื้อหาที่ต้องใช้การพิจารณา ที่อาจลามไปถึง “การโหวตเพื่อลงมติตัดสิน” ดังนั้นหากให้ กรรมการยกร่างฯ นั่งเป็น กรรมาธิการฯ​ สัดส่วนที่มากเกินไป อาจทำให้งานไม่ราบรื่นได้ในที่สุด เพราะกรรมการยกร่างฯ ย่อมพิทักษ์บทบัญญัติที่ตนเองได้ทำ

ซึ่งในประเด็นนี้ ถูกยุติ ได้ผ่านการพักการประชุมเพื่อหารือนอกรอบ ก่อนจะกลายเป็นภาพยอม ปรับสัดส่วนกรรมาธิการฯ จาก 35 คน เป็น 39 คน และมีสัดส่วนมาจากกรรมการร่างข้อบังคับ จำนวน 1 ใน 5 หรือ 7 คน ขณะที่ส.ว.นอกกรรมการฯ ได้สิทธิ 32 คน
กับภาพที่เกิดขึ้นในการประชุมวุฒิสภา เพียงวาระง่ายๆ ยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียง ถึงความสมดุลในแง่บทบาท และ อำนาจ หลังจากนี้ไป คงต้องจับตาภาพ “วุฒิสภา” อย่างใกล้ชิดว่า สุดท้ายแล้วในวาระบางเรื่องที่เกี่ยวโยงกับอำนาจ จะมีใครยอมใคร กันแบบนี้หรือไม่