‘เพิ่มผลิตภาพ’หนุนมาเลย์ขยับสู่ชาติรายได้สูง

‘เพิ่มผลิตภาพ’หนุนมาเลย์ขยับสู่ชาติรายได้สูง

ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟเชื่อว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ความพยายามเหล่านี้จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงมาอยู่ที่กว่า 56% ของแรงงานในมาเลเซีย ภายในปี 2563

แม้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมากว่า 20 ปี แต่ผลิตภาพของมาเลเซียยังไม่เติบโตมากเท่าที่ประเทศเคยหวังไว้ "คริสติน ลาการ์ด" กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จึงแนะให้มาเลเซียเพิ่มผลิตภาพของตนเพื่อบรรลุเป้าหมายผงาดเป็นชาติรายได้สูงภายในทศวรรษหน้า

“มาเลเซียอาจตอบสนองความท้าทายนี้ด้วยความคิดสร้างสรรค์และการต่อยอดสูตรสำเร็จของตน”ลาการ์ด กล่าวในงานประชุมพิเศษที่มหาวิทยาลัยมาลายาในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วานนี้ (24 มิ.ย.)และว่า “การจะไปถึงจุดนั้น คุณจะต้องใช้ส่วนผสมที่เหมาะสมในการสร้างการเติบโตระยะยาวที่ครอบคลุมและยั่งยืน”

ลาการ์ด  เน้นถึง 3 องค์ประกอบสำคัญที่มาเลเซียควรใส่ใจ เพื่อปรับปรุงผลิตภาพของประเทศ ได้แก่ การปรับปรุงธรรมาภิบาลและขจัดการทุจริต การลงทุนในการศึกษาคุณภาพสูง และการเพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี

นอกจากนั้น กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟยังชื่นชมความพยายามของรัฐบาลมาเลเซียในการต่อสู้กับการทุจริตจนถึงปัจจุบัน และว่าเมื่อการคอร์รัปชันกลายเป็นเรื่องระดับสถาบัน ย่อมบั่นทอนความสามารถของประเทศในการดึงดูดนักลงทุนและการสร้างงาน

“การทุจริตเป็นต้นเหตุของความอยุติธรรมในวงกว้างที่ประชาชนรู้สึกได้ในชีวิตประจำวันของพวกเขา นี่เป็นเหตุผลที่ไอเอ็มเอฟให้ความสำคัญกับปัญหานี้และจะนำเรื่องการปรับปรุงธรรมาภิบาลมาผนวกกับรายงานของเรามากขึ้น ดิฉันรู้ว่าประเด็นนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญ เนื่องจากประกาศในนโยบายหาเสียงด้วย”

ลาการ์ด  เสริมว่า ไอเอ็มเอฟมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานกับรัฐบาลมาเลเซียด้านการต่อสู้กับการทุจริต ส่วนองค์ประกอบที่สองลาการ์ดระบุว่า แม้การลงทุนทรัพยากรในภาคการศึกษาของมาเลเซียเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเต็มที่

ความไม่สอดคล้องกันในระดับภูมิภาคและเศรษฐกิจสังคมยังคงมีอยู่ทั่วประเทศ และสำหรับประชาชนบางกลุ่มโดยเฉพาะแรงงานผู้ใหญ่ที่มีทักษะต่ำกว่านั้น ระบบอัตโนมัติถือเป็นภัยคุกคามอาชีพการงานของพวกเขา

“การลงทุนในการศึกษาคุณภาพสูงสามารถลดความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะของแรงงานกับทักษะที่ต้องใช้ในโลกการทำงาน ยกระดับค่าแรง และช่วยให้ชาวมาเลเซียทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพเทคโนโลยีใหม่ ๆ”

องค์ประกอบสุดท้ายคือการเพิ่มอำนาจให้กับสตรี และปัจจุบัน หญิงชาวมาเลเซียมีแนวโน้มเข้าถึงตลาดแรงงานน้อยกว่าและมีโอกาสในเส้นทางอาชีพน้อยกว่า เมื่อเทียบกับประชากรหญิงในประเทศเพื่อนบ้าน

ลาการ์ด กล่าวว่า ผู้หญิงมาเลเซียได้รับเงินเดือนเฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชายราว 1 ใน 3 และมีข้อมูลบ่งชี้ว่า ช่องว่างนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน

“เรื่องนี้เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น ปัจจุบัน สัดส่วนผู้หญิงที่เปิดบัญชีธนาคารในมาเลเซียแซงหน้าสัดส่วนในประเทศอื่น ๆ ของอาเซียนแล้ว และนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลก การจ้างงานผู้หญิงก็เติบโตขึ้นในอัตรารวดเร็วกว่าการจ้างงานผู้ชายด้วย”

นอกจากนั้น ลาการ์ดยังกล่าวถึงรัฐบาลใหม่มาเลเซียที่บุกเบิกการเพิ่มบทบาทให้กับผู้หญิงในคณะรัฐมนตรีด้วยการแต่งตั้งรัฐมนตรีหญิง 5คน รัฐมนตรีช่วยหญิง 4 คน และรองนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ