เปิดโอกาสธุรกิจในอิสราเอล

เปิดโอกาสธุรกิจในอิสราเอล

อิสราเอลนิยมทานข้าวโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ นำเข้าข้าวปีละ 1.1 แสนตันและนำเข้าจากไทยปีละ43,000 ตัน เกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าข้าวทั้งหมด และเป็นการนำเข้าข้าวหอมมะลิ 90%

ได้ยินชื่อประเทศอิสราเอลหลายคนขยาดไม่กล้าไปเยือนเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย เนื่องจากข่าวที่ได้ยินส่วนใหญ่จะเป็นการปะทะ สู้รบ และความขัดแย้งภายในประเทศ ยิ่งเป็นนักลงทุนยิ่งไม่กล้าเข้าไปแต่ล่าสุดกลินท์ สารสินประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และอิสระ ว่องกุศลกิจประธานอาวุโส นำคณะนักลงทุนไทยเกือบ 30 ชีวิตไปเยือนอิสราเอลเป็นครั้งแรก พบกับสมาพันธ์หอการค้าอิสราเอล (เอฟไอซีซี) พร้อมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ที่จะเปิดทางสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น

กลินท์เผยว่า ที่มาอิสราเอลอยากมาดู 2 เรื่องคือสตาร์ทอัพ เพราะที่นี่คือแหล่งของเทคโนโลยีใหม่ๆ และการเกษตร อิสราเอล“เป็นประเทศที่ไม่มีน้ำแต่เพาะปลูกได้ดีมาก”คณะนักธุรกิจที่มามีหลากหลายสาขาทั้งร้านอาหาร โรงแรม การเกษตร อุตสาหกรรม อาหาร เพื่อนำไปต่อยอดใน 3 ห่วงโซ่มูลค่าที่หอการค้าให้ความสำคัญอยู่แล้ว ได้แก่การค้าขาย เกษตรอาหาร และท่องเที่ยวและบริการ

“มาดูแล้วประทับใจมาก ทีแรกนึกว่าเป็นบ้านเมืองเล็กๆ ไม่มีอะไร แต่กลายเป็นว่าเป็นเมืองใหญ่มาก เทลอาวีฟมีตึกสูงเยอะแยะ” สิ่งที่ประทับใจประธานสภาหอการค้าคือ การนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เกลือหรือโคลนจากเดดซี ทะเลสาบที่เค็มที่สุดในโลก สินค้าใส่แพ็กเกจสวยงาม หรือผลิตภัณฑ์ทาผิวที่เอาแม่เหล็กดูดออกก็ทำความสะอาดผิวได้เลย ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้

ในโอกาสนี้่สภาหอการค้าฯ ลงนามเอ็มโอยูกับเอฟไอซีซีเป็นครั้งแรกเท่ากับว่าทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันผลักดันการค้า อะไรที่ช่วยเหลือกันได้ก็จะช่วยกันตอนนี้บริษัทไทยหลายแห่งก็เริ่มมาทำ Joint Venture กับอิสราเอลแล้ว

บทเรียนที่ได้เห็นจากการมาเยือนประเทศนี้ กลินท์เผยว่า อิสราเอลเป็นประเทศที่ปากกัดตีนถีบ แต่ประเทศอยู่ได้ คนหลายชนชาติอยู่ด้วยกัน “คนยิวไม่ท้อแท้ มีความมุ่งมั่น ผมคิดว่า Ecosystem ที่นี่ทำให้คนต้องคิดว่าจะอยู่รอดอย่างไร บ้านเรายังชิลๆ อยู่ ต้องผลักดันให้มากกว่านี้ จุดประสงค์ของหอการค้าที่มาก็คือมาดูว่าอันไหนที่เราสามารถช่วยรัฐบาลได้ ช่วยนักธุรกิจเอสเอ็มอีไทยได้”

ในช่วงที่ไทยกำลังจะได้รัฐบาลใหม่ภาคธุรกิจเชื่อมั่นมากน้อยแค่ไหน กลินท์กล่าวว่า รัฐบาลมาตามกรอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง รวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลตามระบอบ ขอให้ตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อยจะได้เดินหน้าต่อได้

“ต่างชาติที่มาหาผมต่างก็ Wait and See ถามว่าเมื่อไหร่จะได้รัฐบาลใหม่ เขาจะได้ลงทุนเพิ่ม”

ด้านอิสระ เล่าว่า ที่มาวันนี้วัตถุประสงค์คือต้องการมาดูเทคโนโลยีว่ามีอะไรที่ไทยจะนำไปใช้ได้ “ครั้นได้มาจริงๆ ทราบข้อมูลว่าการเมืองอิสราเอลยุ่งเหยิงมาก แต่เขาคิดอย่างเดียวว่าจะทำยังไงให้ประเทศเขาดีบ้านเราไม่ได้รวมตัวกันให้ประเทศเข้มแข็ง” อิสระย้ำว่าเห็นปัญหาของอิสราเอลแล้ว เมืองไทยแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีปัญหาเลย

ส่วนสิ่งที่ประธานอาวุโสมองออกไปในอนาคตคือการดึงคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 20-45 ปี ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เกษตรสมัยใหม่ ลอจิสติกส์ เข้ามาจับคู่กับธุรกิจไทย“ตรงนี้จะได้ประโยชน์มาก เพราะเขาไม่ผลิตสินค้าในประเทศแต่จะขาย Know How และบริการ เพราะฉะนั้นเราน่าจะดึงเขาไป คนที่นี่เขาคิดแต่เรื่องสตาร์ทอัพ”

จากมุมมองของภาคธุรกิจสู่มุมมองภาครัฐนวพรรษ นพคุณอัคราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เล่าถึงสถานการณ์การค้าระหว่างสองประเทศว่า ไทยกับอิสราเอลมีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยคือยานยนต์และอะไหล่ เครื่องประดับและอัญมณี และสินค้าประเภทอาหาร อิสราเอลนำเข้าอาหารปีละ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ส่วนใหญ่นำเข้าจากยุโรป สหรัฐ และประเทศใกล้เคียง นำเข้าจากไทยประมาณ 100-200 ล้านดอลลาร์ แต่ถือว่าตลาดอาหารของไทยในอิสราเอลถือว่ามีศักยภาพ โดยเฉพาะข้าว

“อิสราเอลไม่สามารถปลูกข้าวในประเทศไทยได้ และเขานิยมทานข้าวโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ นำเข้าข้าวปีละ 1.1 แสนตัน นำเข้าจากไทยปีละ43,000 ตัน ซึี่งถือว่าเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าข้าวทั้งหมด และเป็นการนำเข้าข้าวหอมมะลิ 90%”

แม้อิสราเอลเป็นประเทศแห้งแล้งแต่ก็ทำการเกษตรได้ดีเพราะมีระบบชลประทานที่ดี ควบคุมทุกอย่างด้วยเทคโนโลยี แต่แรงงานที่ใช้เป็นแรงงานไทยในจำนวนแรงงานไทย 25,000 คน 90% อยู่ในภาคเกษตร อายุการทำงานตามสัญญา 5 ปี 3 เดือน

 ขณะนี้นักลงทุนไทยยังเข้ามาลงทุนในอิสราเอลไม่มากนัก เมื่อถามถึงปัญหาและอุปสรรคทูตพาณิชย์เล่าว่า จริงๆ แล้วอิสราเอลเป็นประเทศที่เปิดกว้าง รับนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 100% ยกเว้นด้านการทหารและความมั่นคง แต่ก็มีสาขาที่สนับสนุนเป็นพิเศษ เช่น เคมีอินทรีย์ เครื่องมือแพทย์ พลังงานชีวภาพ โทรคมนาคม ไอซีที

ส่วนปัญหาที่นักธุรกิจอิสราเอลที่เจอกับคู่ค้าในไทย เช่น สอบถามไปแล้วคนไทยไม่ตอบจนเขาไม่แน่ใจว่า ฝ่ายไทยสนใจหรือไม่ หรือขั้นต่อไปอาจมีการเจรจากันแล้วแต่โดนหลอก บ้างก็ส่งของล่าช้าแล้วคนไทยแก้ตัวว่าผลิตไม่ทัน บางครั้งต้องจบด้วยการฟ้องร้อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาแบบนี้เป็นส่วนน้อย

“คนยิวยังต้องการดีลและเป็นพาร์ทเนอร์กับคนไทย วิธีแก้ปัญหาคือต้องเช็กกับกรมพัฒนาธุรกิจเสียก่อนว่าบริษัทนั้นๆ มีตัวตนจริงหรือไม่ แล้วค่อยเจรจากับคู่ค้า”ทูตพาณิชย์ ณ กรุงเทลอาวีฟแนะนำ พร้อมกล่าวถึงเคล็ดลับการทำธุรกิจระหว่างกัน

“การทำธุรกิจกับอิสราเอล ความเชื่อใจได้สำคัญที่สุด บางทีอาจจะติดต่อกันทางอีเมลหรือโทรคุยกันก่อน แต่เขาจะดีใจมากถ้าได้คุยกันตัวต่อตัวที่นี่ ให้รู้ว่าเราตั้งใจจริงในการทำธุรกิจเป็นพาร์ตเนอร์กับเขา”

ปัญหาที่นักลงทุนต่างชาติกังวลคือเรื่องความปลอดภัย นักลงทุนเกรงว่าลงทุนที่นี่แล้วเสี่ยง อีกประเด็นที่ต้องระวังคือต้นทุนการลงทุนสูง ค่าแรงขั้นต่ำเดือนละ 53,000 บาทไทย ค่าเช่าพื้นที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคแพงทุกอย่าง

ส่วนนักลงทุนไทยที่ต้องการเป็นหุ้นส่วนกับนักลงทุนอิสราเอล ทูตพาณิชย์ขอให้ตรวจสอบกับสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศของทุกประเทศเสียก่อนว่าบริษัทนั้นๆ มีตัวตนและเชื่อถือได้หรือไม่ แล้วค่อยคุยกันโดยตรง หากมีข้อสงสัยให้สอบถามกับสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ

“นักลงทุนยิวอยากทำธุรกิจกับนักลงทุนไทย แต่คนไทยไม่ค่อยจะกล้า ทั้งๆ ที่คนยิวรักเมืองไทย รู้จักเมืองไทย เห็นโอกาสในเมืองไทยเยอะแยะ อยู่ที่ฝ่ายเราจะตอบรับเขาขนาดไหน สตาร์ทอัพเมืองไทยถ้าอยากมาเป็นหุ้นส่วนกับสตาร์ทอัพอิสราเอลโดยมีเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอิสราเอลก็สามารถทำได้”