ส.โทรคมนาคมฯ นัดถกปมท่อร้อยสาย 27 มิ.ย.นี้

ส.โทรคมนาคมฯ นัดถกปมท่อร้อยสาย 27 มิ.ย.นี้

“มนต์ชัย”ชี้ยังไม่ฟันธงยื่นฟ้อง- รอดูความชัดเจน

นายกสมาคมโทรคมฯ ระบุ 27 มิ.ย.เตรียมนัดสมาชิกหารือผลกระทบหลังกรุงเทพธนาคมฯเปิดโปรเจ็คท่อร้อยสายอุ้มทรูฯ เป็นผู้ดูแล ระบุต้องอ่านสัญญาให้ชัดดูความชัดเจนรอบด้าน ชี้ ทีโอทีไม่ได้หมดทางสู้เพราะไม่มีใครห้ามเช่าท่อของทีโอที เตรียมเปิดศึกตัดราคาจูงใจเอกชนมาใช้

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที และในฐานะนายกสสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าสมาคมโทรคมฯจะยื่นฟ้องและส่งหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อทบทวนโครงการโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินที่กทม.ได้ให้สิทธิบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกกำลังจะลงนามในสัญญากับ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับสัมปทานติดตั้งและทำการตลาดท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินทั้งหมดของกทม.มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท มีอายุสัมปทาน 30 ปีนั้น เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะขณะนี้สมาคมโทรคมฯยังไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว และเข้าใจว่ากระแสข่าวที่ออกมานั้นคงมาจากสมาชิกของสมาคมโทรคมฯบางราย ดังนั้น ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้จะมีการประชุมร่วมกันของสมาชิกโทรคมฯเพื่อกำหนดจุดยืนและท่าทีต่อไป

“ในส่วนตัวผมในฐานะนายกฯมองว่าสมาชิกเองและผู้ประกอบการเอกชนเองแทบจะไม่ได้รับผลกระทบหรือเสียประโยชน์ เพราะจะมีอีกรายเข้ามาทำตลาดเกิดการแข่งขันราคากัน เราซึ่งเป็นลูกค้าทีสิทธิเลือกทำเล ค่าเช่า ตามแต่ที่เราพอได้ ดังนั้น การจะยื่นฟ้องหรือขอให้ทบทวนยังไม่ใช่เรื่องจริงที่สมาคมโทรคมฯจะดำเนินกาา”

นายมนต์ชัย ยังกล่าวอีกว่า แต่ในฐานะกรรมการผู้การใหญ่ บมจ.ทีโอที ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการตามคำสั่งของคณะรัฐมนตรี(ครม.)และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยได้รับอนุมัติงบประมาณดำเนินการก่อสร้างระบบท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ในพื้นที่กรุงเทพ 2,450 กิโลเมตร รวมทั้งจัดทำแผน จัดระเบียบ และนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ด้วยการจัดตั้งคณะทํางาน ศึกษาและจัดทำโมเดลร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อที่จะหาโมเดลที่เหมาะสมรองรับเพราะในบางพื้นที่นั้นไม่จำเป็นจะต้องนำสายสื่อสารลงดิน

ดังนั้น ตนจึงมองว่า โมเดลของที่อยู่ของกทม.และกรุงเทพธนาคมไม่ถูกต้องนัก เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้รายใดรายหนึ่งเข้ามาบริหารท่อ และการยื่นซองเปิดประมูลดังกล่าวที่กลุ่มทรูฯเป็นผู้ชนะก็ไม่มีเอกชนรายอื่นที่ทราบเรื่องแล้วเข้าไปแข่งขัน

อีกทั้ง ตามมติครม. เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ที่ให้ดำเนินการโดยกสทช.มีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการทำโครงการ และการกำหนดราคาค่าเช่าท่อใต้ดิน ซึ่งต้องไม่แพงกว่าค่าบริการที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) คิดค่าบริการที่เดือนละ 9,600 บาทต่อคอร์กิโลเมตร

เขา อธิบายต่อว่า ดังนั้นในเมื่อประเทศไทยมีท่อร้อยสายครบในเขตกรุงเทพแล้วจึงไม่เข้าใจในการลงทุนซ้ำซ้อนที่กรุงเทพธนาคมไปว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาในการทำโครงการขุดเจาะและวางท่อ 3 บริษัท ได้แก่ กิจการร่วมค้า จีเคอี แอนด์ เอฟอีซี,กิจการร่วมค้า เอสซีแอล, เอสทีซี และฟอสส์ ,กิจการร่วมค้า เอดับบลิวดีเพื่อขุดสร้างท่อร้อยสายอีกทำไม

“ผมคิดว่าเอกชนรายนั้นอาจจะอ้างถึงคาปาซิตี้ในท่อว่าหากทุกรายในไทยเอาสายลงดินพื้นที่จะไม่พอ จึงต้องขุดวางท่อร้อยสายใหม่ก็เป็นได้ ทางกทม.จึงเปิดประมูลหาผู้ทำการตลาดและได้รับเงินไปเลย 25,000 ล้านบาทที่กลุ่มทรูฯเสนอเป็นค่าสัมปทาน 30 ปี ตรงนี้หากโครงการของเขาดำเนินการเสร็จก็ต้องมาดูความในสัญญาจะลงรายละเอียดเรื่องการทำตลาด การคิดค่าเช่าอย่างไร”

ทั้งนี้ ในส่วนตัวยังเชื่อมั่นใจศักยภาพของทีโอทีเพราะเรามีท่อร้อยสายครอบคลุมครบแล้วเสร็จแล้ว และหากทางกลุ่มทรูฯคิดค่าเช่ามาอย่างไร ก็พร้อมจะเปิดศึกแข่งขันด้านราคาเต็มที่ และก็ยังมองว่าในโครงการดังกล่าวไม่ได้จำกัดว่าเอกชนหรือผู้ให้บริการสายสื่อสารทุกรายต้องไปใช้ท่อร้อยสายเพียงท่อเดียว ดังนั้นตลาดจึงจะเกิดการสู้ราคากันอย่างคึกคัก

ทั้งนี้ กทม.จะเริ่มดำเนินการขุดเจาะและวางท่อร้อยสายประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการขุดวางท่อร้อยสายและนำสายสื่อสารลงใต้ดินให้ได้อย่างน้อยพื้นที่ละ 150 กิโลเมตร ภายในปี 2562 และเร่งดำเนินการทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายใน 2 ปี