เชลล์ปักธงธุรกิจ10ปี เบอร์1พลังงานสะอาด

เชลล์ปักธงธุรกิจ10ปี เบอร์1พลังงานสะอาด

ชี้3ปัจจัยดิสรัปท์ธุรกิจน้ำมัน ประชากรพุ่ง-ดิจิทัล-โซเชียลมีเดีย เดินหน้าลุยธุรกิจพลังงานสะอาด ตั้งเป้า 10 ปี ขึ้นเบอร์ 1 ธุรกิจพลังงานสะอาด นำร่องธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปในไทย

เด้งรับนโยบายรัฐหนุน “บี10-บี20” ศึกษาธุรกิจชาร์จรถไฟฟ้า หารือธนาคารสร้างแพลตฟอร์มชำระเงิน

การทำธุรกิจของเชลล์ในไทยกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 128 ปีการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นผู้ค้าน้ำมันค่ายต่างชาติลำดับต้นที่มาปักหลักธุรกิจพลังงาน ทั้งสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจโรงกลั่น ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

เชลล์ปักธงธุรกิจ10ปี เบอร์1พลังงานสะอาด

ต่อจากนี้เชลล์ยังวางเป้าหมายปักหลักลงทุนในไทยต่อ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งเชลล์ได้เปลี่ยนบทบาทจากบริษัทน้ำมันและแก๊ซ มาเป็นบริษัทพลังงานมาแล้ว 7 ปี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น

นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยที่จะมาดิสรัปท์ธุรกิจของเชลล์ในไทยและทั่วโลกมี 3 ประเด็น คือ 1.ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,800 ล้านคนในปี 2050 จะทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น และเกิดผลกระทบสภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้ ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่โดนผลกระทบโลกร้อน คือ น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น เช่น บางขุนเทียนโดยนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ไทยอาจปลูกข้าวน้อยลง 50% จากเคยเป็นประเทศส่งออกอาจต้องนำเข้าข้าว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น แสงอาทิตย์ ลมซึ่งเชลล์ที่ทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันต้องปรับเป็นธุรกิจค้าปลีกพลังงาน

หารือแบงก์สร้างระบบชำระเงิน

2.ปัจจัยดิจิทัลซึ่งเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงเครือข่าย รวมถึงการชำระเงินด้วยมือถือซึ่งธุรกิจเชลล์เกี่ยวข้องกับการใช้เงินสดจำนวนมาก ก็ต้องปรับตัว ซึ่งปีที่ผ่านมาเชลล์ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในไทย เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ผู้ให้บริการ e-wallet เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่รับมือสังคมไร้เงินสด ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ เชลล์อยู่ระหว่างร่วมพัฒนาระบบชำระเงินของตัวเอง ซึ่งครอบคลุมการสะสมแต้มที่มาแลกผลิตภัณฑ์หรือน้ำมันได้ โดยเฉพาะในสถานีบริการน้ำมัน เช่น ร้านเดลี่คาเฟ่ หากใช้แอพพลิเคชั่นไลน์จะลด 20% และต่อไปสมาชิกอาจไม่ต้องถือบัตรสมาชิก โดยจะใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือที่สะดวกขึ้น

3.ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสื่อสังคมออนไลน์เกิดการแพร่กระจายข่าวสารจริงและข้อมูลเท็จซึ่งสร้างความปั่นป่วนที่อาจทำให้นโยบายของรัฐ หรือชื่อเสียงบริษัทหนึ่งได้รับผลกระทบง่ายดาย ก็ต้องร่วมมือกับภาครัฐแก้ไข

เป้า10ปีลุยพลังงานสะอาด

นายอัษฎา กล่าวว่า ทั้ง 3 เรื่องนี้ เมื่อมาผสมผสานกันจะเป็นความท้าทายอันหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเชลล์ หรือบริษัทใด หรือประเทศไทย ต้องเจอ และต้องดูแลเรื่องพวกนี้ต่อไปในอนาคต ซึ่งทำให้เชลล์มองการลงทุนในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า จะเน้นปรับตัวสู่พลังงานสะอาด มีประสิทธิภาพและดีกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชลล์ในต่างประเทศก็มีแนวคิดว่าใน 10 ปี จะเป็นเบอร์ 1 ของธุรกิจพลังงานสะอาด โดยเป็นธุรกิจไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเชลล์จะผลักดันตัวเองไปทางนั้น

เชลล์ปักธงธุรกิจ10ปี เบอร์1พลังงานสะอาด

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการทำธุรกิจอยู่ที่การวางแผนรับมือ “ดิสรัปท์” ซึ่งการเปลี่ยนผ่านธุรกิจพลังงานปัจจุบันไปสู่พลังงานสะอาด เชลล์ทั่วโลกมีแผนกพลังงานใหม่ (New Energy) ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาเพื่อลงทุนในพลังงานสะอาด เช่น บริษัทโซลาร์ที่ทำธุรกิจไฟฟ้าในหลายประเทศที่ได้ซื้อธุรกิจนี้เข้ามา

นำร่องโซลาร์รูฟในไทย

รวมทั้งล่าสุดเข้าไปซื้อ บริษัทคลีนเทค โซลาร์ โดยซื้อหุ้น 50% มีสำนักงานในสิงคโปร์ ทำโซลาร์รูฟท็อปในไทย 2 แห่ง ที่บริษัททาทาสตีล และระยอง โดยเชลล์จะช่วยบริษัทคลีนเทคฯ ขยายธุรกิจต่อไป ขณะเดียวกันเชลล์ทดลองติดโซลาร์รูฟท็อปที่อาคารสำนักงานใหญ่ รวมทั้งเชลล์มีหลังคาปั๊มน้ำมัน โรงงานและบริษัทคู่ค้าจำนวนมาก หากจะขยายธุรกิจด้านนี้ก็เป็นโอกาสในอนาคต

ทั้งนี้ การที่ไทยมุ่งส่งเสริมพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์เซลล์ โซลาร์ลอยน้ำ ควรมีการศึกษาภาษีคาร์บอนและการกำหนดราคาคาร์บอน เพราะการจะส่งเสริมพลังงานชนิดใดต้องดูให้ครบวงจร ซึ่งแผนพลังงานควรกำหนดเรื่องนี้เพื่อให้ไทยตั้งโจทย์การส่งเสริมพลังงานสะอาดได้ตามเป้าหมาย หรือตอบโจทย์ข้อตกลงการประชุมแก้ไขการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (คอป 21)

หนุนบี10เกรดหลักดีเซล

ส่วนการลงทุนไบโอฟูเอลมีการลงทุนในไทยและบราซิล ซึ่งน่าจะต่อยอดได้เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมไบโอดีเซล บี20 ซึ่งเชลล์พร้อมสนับสนุนเรื่องนี้ รวมถึงพิจารณาแนวทางการสร้างตลาดเอทานอลมากขึ้น โดยต้องดูให้ครบวงจร

เชลล์ พร้อมสนับสนุนรัฐในการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล เพราะไทยปลูกปาล์มได้เอง และการเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเชลล์ได้หารือกันภายในมา 2 ปีแล้ว ต้องการผลักดันไปสู่ บี10 บี 20 และบี 30 เหมือนอินโดนีเซียที่ใช้ บี 20 มาแล้ว 2 ปี ซึ่งการที่ไทยจะขยับไปสู่บี 10 นั้น เชลล์ต้องเตรียมความพร้อมถังเก็บน้ำมันให้เพียงพอที่จะรองรับน้ำมัน ซึ่งแต่ละปั๊มน้ำมันทั้ง บี10 บี 20 วี-เพาเวอร์ ดีเซล และเบนซินอีก 3 เกรด

1_56

“ต้องหารือว่าบี 10 เป็นเกรดหลักเมื่อใดเพราะการเปลี่ยนถังน้ำมันใช้เวลา 6-12 เดือน ต้องเตรียมตัวไม่ให้กระทบผู้บริโภค และต้องหารือบริษัทรถยนต์ด้วยเพราะเกี่ยวข้องกับการประกันรถ”

ทดลองนำร่องจำหน่ายบี20

ขณะที่ บี20 ปัจจุบันเชลล์ ทดลองจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์ภูมิรพี อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาขยายเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การที่เชลล์ให้น้ำหนักกับพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งมาที่เชื้อเพลิงชีวภาพถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่การจะเดินหน้าต่อจะต้องมีการเตรียมพร้อมทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตน้ำมัน บริษัทผลิตรถยนต์และการกำหนดราคาที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาความกังวลของผู้บริโภค เช่น ผลต่อทบต่อเครื่องยนต์ แต่ถือว่าทิศทางตลาดในอนาคตจะต้องการพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นแน่นอน
ศึกษาธุรกิจชาร์จรถไฟฟ้า

ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในยุโรปเข้าไปซื้อบริษัทธุรกิจชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 40,000 แห่ง ส่วนในไทยต้องดูจังหวะและประเภทการลงทุนที่เหมาะสม ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าใช้แบตเตอรีอย่างเดียวหรือใช้เชื้อเพลิงอื่นผสม โดยขณะนี้ทำได้ 2 แนวทาง คือ 1.รอให้ธุรกิจนี้เกิด 2.ช่วยผลักดันให้ธุรกิจนี้เกิดขึ้น

ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้มีแค่แบตเตอรี่อย่างเดียว แต่ยังมีทางเลือกอีก ซึ่งเชลล์มีการพิจารณาโอกาสทางธุรกิจของรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เอทานอลด้วย โดยเฉพาะในบราซิลที่เมื่อเอทานอลราคาถูกก็ใช้เอทานอล 100% เวลาน้ำมันถูกก็ใช้น้ำมัน ก็จะเป็นการแข่งขันทางด้านพลังงาน ดีกับผู้บริโภคและดีกับประเทศด้วย

รถยนต์ไฟฟ้าหลายเทคโนฯ

รวมถึงในอนาคตจะมีรถยนต์ไฟฟ้าไฮโดรเจนฟิวเซล ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ใช้กระแสไฟฟ้าที่เกิดจากปฏิกริยาเคมีระหว่างไฮโดรเจนและออกซิเจน

“ถามว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบบไหนดีกับไทย ยังมีเรื่องผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ โดยถ้าใช้แบตเตอรี่ทั่วประเทศแล้วการใช้น้ำมันลดลงจะมีผลต่อภาษีสรรพสามิต 200,000 ล้านบาท ก็ต้องหาวิธีจัดเก็บภาษีด้านอื่นทดแทน รวมทั้งถ้ารถยนต์ไฟฟ้าในไทยใช้เอทานอลได้ 100% การใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น เกษตรกรปลูกพืชพลังงานมาใช้ ทำให้ไม่ต้องนำเข้าถ่านหินหรือก๊าซ จะทำให้การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้นจะตอบโจทย์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนกว่า”

หนุนมาตรฐานน้ำมันยูโร5

อีกทั้ง เชลล์ สนับสนุนการปรับคุณภาพน้ำมันให้เป็นมาตรฐานยุโรป 5 (ยูโร 5) ซึ่งเชลล์ต้องเตรียมความพร้อมถังน้ำมัน และวางแผนต้นทุนว่าปั๊มจะเปลี่ยนถ่าย หรือ เปลี่ยนเกรดน้ำมันเมื่อไหร่ เพราะต้องมีเวลาเตรียมตัว แต่เกรดน้ำมันปัจจุบันถือว่ามากเกินไปทั้งเบนซินและดีเซลอย่างละ 3-4 ชนิด

ในขณะที่ปั๊มน้ำมันเชลล์ ไม่ได้ออกแบบรองรับเกรดน้ำมันหลายชนิด โดยปัจจุบันปั๊มเชลล์ มีเบนซิน 3 ชนิด ดีเซล 2 ชนิด จะเพิ่มบี 20 รวมเป็น 6 ชนิด

ส่วนธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ก็เป็น่อีกธุรกิจที่เชลล์ให้ความสนใจ แต่ยังคงต้องรอดูแนวทางการเปิดเสรีการนำเข้าแอลเอ็นจีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก่อนว่าจะมีรูปแบบอย่างไร

สร้างวัฒนธรรมองค์กรส่งไม้ต่อ

สำหรับแผนพัฒนาบุคลากรนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุดของเชลล์ ในการที่จะส่งไม้ต่อทางธุรกิจหลังจากนี้ โดยเริ่มจากการคัดเลือกพนักงงานที่เน้น “Mindset” และ “Impact” รวมถึงการปลูกฝังค่านิยมหลักเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต คุณธรรมและความซื่อตรง
“ถ้ามองว่า 100 กว่าปี เราอยู่ได้อย่างไรก็คือของ Core value วัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยวงจรความสำเร็จจะเป็นสูตรสำเร็จในการทำงาน พันฒนาตัวเอง เชลล์ มีสูตรสำเร็จที่จะสอนพนักงานให้ทำในสิ่งเหล่านี้ ก็จะเก่งขึ้น แล้วมนุษยสัมพันธ์ก็ดีด้วย”

รวมถึง มีการส่งพนักงานไปเรียนรู้งานจากต่างประเทศ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายและนำพัฒนาธุรกิจ รับมือกับการแข่งขันที่มากขึ้น จึงถือว่าพนักงานมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้