“ทุนใหญ่" รุกรพ.ไฮเอนด์ จับเทรนด์-บริหารเสี่ยง

“ทุนใหญ่" รุกรพ.ไฮเอนด์ จับเทรนด์-บริหารเสี่ยง

แม้เศรษฐกิจจะชะลอ แต่กำลังซื้อเศรษฐีไม่เคยตก โดยเฉพาะในธุรกิจ“บริการสุขภาพ” ยวนใจ“บิ๊กทุนไทย”หลายตระกูลดัง ซุ่มลงทุนโรงพยาบาล“ไฮเอนด์”เกาะเทรนด์-เพิ่มพอร์ตรายได้ประจำบริหารเสี่ยง..!!

แทบจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอ ประเมินจากอัตราการเติบโต ระดับสูง ต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจ โรงพยาบาลเอกชนไทย โดยเฉพาะตลาดไฮเอนด์ !!

ความโดดเด่นดังกล่าวกลายเป็น แรงดึงดูด ให้เหล่าผู้เล่นรายเก่า-ใหม่ กระโดดเข้ามาแบ่งเค้กก้อนใหญ่ระดับแสนล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มทุนหนา ในหลายตระกูลดัง

ยิ่งรัฐบาลผลักดันร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย เป็นศูนย์กลางสุขภาพในระยะ 10 ปีจากนี้ ใน 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)

ตอกย้ำว่า ตลาดโรงพยาบาลเอกชนไทยยังมีช่องทางการเติบโตอีกมหาศาล” ทั้งเพื่อจับตลาดไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะต่างชาติที่หอบเงินมารักษาในเมืองไทย เติบโตเป็นตัวเลข สองหลัก อาทิ ชาวอาหรับ , จีน , กลุ่ม CLMV เป็นต้น

สอดคล้องกับเว็บไซต์ Numbeo ฐานข้อมูลค่าครองชีพและระบบสาธารณสุขโลก ที่ระบุว่า ไทยติดอันดับ 7 ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลกปี 2562 ทั้งยังเป็นประเทศเดียวของอาเซียนที่ติดอันดับ ทำให้มั่นใจได้ว่าไทยจะเป็นฮับด้านธุรกิจบริการสุขภาพของอาเซียนได้ไม่ยาก

ที่ผ่านมา ไทยยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศจุดหมายปลายทาง ที่ผู้คนอยากใช้ชีวิตหลังเกษียณมากที่สุด ยังมีในเรื่องของการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวในลักษณะเชิงสุขภาพ เป็นหนึ่งในนโยบาย Medical Hub ที่การท่องเที่ยวผลักดันเพื่อตอบโจทย์สไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสามารถสร้างความสุขและความเสมอภาคไปพร้อม ๆกัน อย่างที่ว่ากันว่า อายุแค่ไหนก็เที่ยวได้

สำทับด้วยตัวเลขผลประกอบการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 2 ราย ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ซึ่งมีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติพอร์ตใหม่ ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 มีตัวเลข กำไรสุทธิ เติบโต คือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS อยู่ที่ 8,552.50 ล้านบาท และ 3,047.73 ล้านบาท ด้าน รายได้ อยู่ที่ 28,693.00 ล้านบาท และ 20,410.90 ล้านบาท 

ขณะที่ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH  มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,081.70 ล้านบาท และ 1,081.40 ล้านบาท ด้านรายได้อยู่ที่ 4,733.02 ล้านบาท และ 4,693.80 ล้านบาท

อังกูร ฉันทนาวานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โรงพยาบาลลาดพร้าว หรือ LPH บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า แม้ว่าปัจจุบันยังไม่เห็นการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลของกลุ่มทุนใหญ่ที่ชัดเจน แต่คนในแวดวงโรงพยาบาล ยืนยันว่า กลุ่มทุนใหญ่หลายรายกำลังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฟอร์มทีมบุคลากรทั้งทีมแพทย์ พยาบาล และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

โดยคาดว่าภายในปี 3-5 ปีข้างหน้า จะมีการเปิดโรงพยาบาลเอกชนไทย ราว10 แห่ง” โดยในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ประมาณ 5 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด วัตถุประสงค์เพื่อรองรับคนไข้ระดับ ไฮเอนด์ ทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับการรักษาในไทยจำนวนมาก สอดคล้องกับโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ในตลาดหุ้น 2 ราย ที่มีสัดส่วนรายได้คนไข้ต่างชาติค่อนข้างสูง โดยยังคงมีผลการดำเนินงานโดดเด่น คือ กรุงเทพดุสิตเวชการ และ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ทั้งนี้กลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่ระหว่างขยายการลงทุนเข้ามาในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน อาทิ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง ของเศรษฐีหุ้น ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์  ที่ลงทุน 5,000 ล้านบาท สร้างโรงพยาบาลวิมุตติ ย่านสะพานควาย เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ โดยเฉพาะ กลุ่มคนไข้อาหรับ อย่าง ซาอุดิอาระเบีย ,โอมาน เป็นต้น

เนื่องจากปัจจุบันประชากรของซาอุดิอาระเบียสามารถเดินทางออกท่องเที่ยวนอกประเทศได้ง่ายขึ้น จากเดิมรัฐไม่สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มพฤกษาฯ ไปลงทุนโรงพยาบาลก็เพื่อรองรับคนไข้ชาวซาอุดิอาระเบียเป็นหลัก สะท้อนผ่านชาวซาอุดิอาระเบียเข้ามาเมืองไทยทางอ้อม (ไม่ผ่านสนามบินสุวรรณ) มากกว่าคนชาติอาหรับอื่นๆ ถึงเท่าตัว

ขณะที่กลุ่มของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ก็เตรียมก่อตั้งโรงพยาบาลอาร์เอสยูอินเตอร์เนชั่นแนล

เช่นเดียวกับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์” (CP) ธุรกิจล้านล้านของของเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ดำเนินธุรกิจหลากหลายตั้งแต่เกษตรครบวงจร โทรคมนาคม ยานยนต์ อสังหาฯ เป็นอีกกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีแผนที่รุกสู่ธุรกิจโรงพยาบาลคาดว่าจะลงทุนในพื้นที่พระราม 9 ซึ่งปัจจุบันกระบวนการอยู่ระหว่าง “การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA”  อังกูร เผย

นอกจากนี้ยังมี โรงพยาบาลธัญญเวช ลำลูกกา ขนาด 211 เตียง ตั้งอยู่บนถนนลำลูกกา ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ดำเนินการในนาม บริษัท ธัญญเวช จำกัด บริษัทในเครือ กลุ่มโรงพยาบาลสินแพทย์ ของ สิทธิ ภาณุพัฒนพงศ์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้น โรงพยาบาลรามคำแหง

ทั้งนี้กลุ่มโรงพยาบาลสินแพทย์ ในนามของบริษัท โรงพยาบาลสินแพทย์ บางนา จำกัด ยังได้เริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลสินแพทย์ บางนา ขนาด 264 เตียง เป็นอาคารสูง 6 ชั้น บนพื้นที่ 10 ไร่ บนถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แขวงหนองบอนเขตประเวศ กรุงเทพฯ

ขณะที่ กลุ่ม บมจ.เคพีเอ็น เฮลท์แคร์  ตั้งอยู่ในซอยนวลจันทร์ ถนนรัชดา-รามอินทรา แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ล่าสุดเพิ่งล้อมรั้วและคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเร็ว ๆ นี้  จากการสืบค้นโครงสร้างผู้ถือหุ้นพบว่า เคพีเอ็น เฮลท์แคร์ มีผู้ถือหุ้นเป็นบมจ.สหยูเนี่ยน 25% รองลงไปเป็น “ณพ ณรงค์เดช” 18% และ “ไกรวิน ศรีไกรวิน” อดีตผู้บริหาร โรงพยาบาลพญาไท 12% และกลุ่มสหพัฒน์ถือหุ้นผ่าน บมจ.สหพัฒนพิบูล , บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง และ บมจ.ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล รวม 10% 

ธุรกิจโรงพยาบาลจะดี หรือไม่ดีไม่รู้แต่เท่าที่เห็นทุนใหญ่ๆ เข้ามาในธุรกิจค่อนข้างเยอะ แต่ถือว่าดีกับประชาชนที่มีโรงพยาบาลดีๆ ให้เป็นทางเลือกมากขึ้น ส่วนเรื่องของหมอไม่น่าจะขาดแคลน เพราะว่าแต่ละปีมีแพทย์จบใหม่กว่า 3,000 คน”  อังกูร ย้ำความน่าสนใจของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน และยังระบุว่า

สำหรับตลาดคนไข้ “ระดับกลาง” มีผู้ประกอบการขยายการลงทุนบ้าง แต่ไม่มาก เหตุเพราะว่า มาร์จินต่ำ ประกอบกับตอนนี้ตลาดเริ่ม อิ่มตัว แล้ว !! ในส่วนที่เป็นคน

ไข้ไทย เพราะว่านอกจากจะมีโรงพยาบาลเอกชนแล้ว ปัจจุบันโรงพยาบาลของรัฐก็เข้ามาขยายการลงทุนเพื่อรองรับกลุ่มคนไข้ระดับกลางมากขึ้น

อย่างเช่น กรณีที่กลุ่มของโรงพยาบาลรามา ขยายการลงทุนสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ย่านบางนา เป็นต้น ดังนั้น คงจะไม่เห็นกลุ่มผู้ประกอบการเอกชนลงทุนเปิดโรงพยาบาลระดับกลางแห่งใหม่เท่าไหร่ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะลงทุน แต่ก็ยังมีโรงพยาบาลนวมินทร์ (แถวเกษตร-มวมินทร์ตรงตลาดรถไฟเก่า) ของ กลุ่มซีพีเอ็น (CPN) ที่เข้ามาลงทุนเชนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

ด้าน “อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล หรือ WMC ในเครือของ บมจ. บางกอก เชน ฮอสปิทอล หรือ BCH ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ปัจจุบันคนไข้ต่างชาติยังมีอัตราการเติบโตที่ดี ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการกับทางโรงพยาบาล ประกอบด้วย ชาวอาหรับ เมียนมา ออสเตรเลีย จีน เป็นหลัก

สำหรับเวิลด์เมดิคอลปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยคนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 22% โดยตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 40% และภายใน 2 ปีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยคนไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 60-80% ส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติปัจจุบันมีสัดส่วน 78%

นอกจากนี้ BCH ยังมีแผนจะเปิดโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง และ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปีหน้า และ ยังมองหาในประเทศอื่นๆเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ซึ่งปัจจุบันกำลังเจรจาที่จะไปเปิดโรงพยาบาลในเวียดนาม

สำหรับแผนดำเนินงานของโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,100 ล้านบาท มาจากการขยายธุรกิจทั้งศูนย์รักษาแผลเบาหวานที่เท้า และ ศูนย์ IVF (In–vitro Fertilization) สำหรับผู้ที่มีบุตรยาก ซึ่งจะเจาะกลุ่มลูกค้าจีนเป็นหลัก จะเปิดให้บริการในวันที่ 12 ส.ค. นี้ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะช่วยขยายฐานรายได้ให้เพิ่มขึ้นในอนาคต ตั้งเป้าผู้มาใช้บริการ 50 รายต่อเดือน ค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 4 แสนบาทต่อราย หรือ ทำให้มีรายได้เดือนละ 20-30 ล้านบาท

เราเป็นส่วนหนึ่งของ BCH ที่สร้างรายได้ให้มีการเติบโต โดยปีนี้รายได้จะมากกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน เพราะเรามีการขยายศูนย์รักษาทั้งเบาหวาน และผู้มีบุตรยาก ยังไม่รวมที่เรามีการปรับปรุง และ ขยายสถานที่เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยที่มีมากขึ้น ซึ่งใช้ปีนี้เราใช้งบลงทุนไป 30% ของรายได้ของเรา โดยเราเน้นลงทุนไปที่บุคลากรมากกว่าเครื่องมือทางการแพทย์

------------------

หุ้น Healthcare เข้าช่วงพักฟื้น..!!

บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มโรงพยาบาล เท่ากับตลาด ด้วย ข้อ 1.แนวโน้มไตรมาส 2 ปี 2562 คาดกำไรสุทธิชะลอตัวจากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดีนวกันปีก่อน เนื่องจากบันทึกรายการพิเศษที่เป็นลบ 2 รายการ คือ ผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีใหม่ เรื่อง พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน ที่เริ่มบังคับใช้ภายในไตรมาส 1 ปี 2560 ที่กำหนดเงินชดเชยการเลิกจ้างพนักงานที่มีอายุมากกว่า 20ปี จาก 300 วันเป็น 400 วัน ทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองเพิ่ม และเป็นช่วง low season ของธุรกิจ

ข้อ 2.ภาพรวมปี 2562 ยังเห็นกำไรเติบโต แต่โตในอัตราที่ลดลงจากปีก่อนจากฐานกำไรที่เริ่มสูงขึ้น ข้อ 3.ระยะกลางเราเริ่มเห็นการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากการขยายโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการรายเก่าและใหม่ ซึ่งเริ่มเห็นการดึงตัวบุคลากร และข้อ 4.มาตรการควบคุมราคายาหลัง กกร.ประกาศใช้เมื่อ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา แม้ยังไม่เห็นผลกระทบ แต่ก็มองเป็นลบต่อการปรับขึ้นราคาในอนาคต

อย่างไรก็ตาม คาดกำไรปกติภายใต้ Coverage ของ 5 บริษัทเติบโต 7% เทียบกับปีก่อน เป็น 12,313 ล้านบาท โดยคาดว่ากลุ่ม โรงพยาบาลขนาดเล็กมีแนวโน้มเติบโตดีกว่ากลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่

ทั้งนี้ มีมุมมองว่าอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชน มีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากการการขยายโรงพยาบาล ของทั้งกลุ่มเดิมและรายใหม่ ซึ่งในปี 2563 จะมีโรงพยาบาลเปิดใหม่ในเขต กรุงเทพและปริมณฑล ไม่ต่ำกว่า 2,000 เตียง อาทิ รพ. ทีพีพี เฮลท์แคร์ ขนาด 550 เตียง , รพ.อาร์เอสยู ขนาด 304 เตียง ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นถึงการดึงตัวบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างโรงพยาบาล และมองถึงความเสี่ยงถึงการณ์แข่งขันด้านราคาในอนาคต

ส่วนประเด็นการควบคุมราคายาและเวชภัณฑ์ หลังจากวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีการประกาศใช้มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับราคายา , เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 ปี แม้เรามองว่าผลกระทบต่อผู้ประกอบการจะไม่มาก เนื่องจากมีแจงราคายาตามคำสั่งและผู้ประกอบการจะปรับขึ้นค่าบริการในส่วนอื่นแทน แต่มองในเชิงผลกระทบต่อการปรับขึ้นราคาในอนาคตก็ทำได้ยากขึ้น

ดังนั้น ผลประกอบการในปี 2562 ยังเห็นการเติบโต แต่ในอัตราที่ลดลงจากปีก่อน ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลปรับลดลงสะท้อนข่าวลบเรื่องประเด็นคุมค่ายา และการลดเงินสนับสนุนโครงการประกันสังคมไปพอสมควร แนะนำ "ซื้อ หุ้นที่มีผลการดำเนินงาน Outperform (ดีกว่าคาด)