แผน‘เงินดิจิทัล’ เฟซบุ๊คเผชิญข้อกังขา ‘กำกับดูแล’

แผน‘เงินดิจิทัล’ เฟซบุ๊คเผชิญข้อกังขา ‘กำกับดูแล’

หลัง“เฟซบุ๊ค” บริษัทโซเชียลมีเดียของสหรัฐ ประกาศว่าจะออกเงินดิจิทัลในปีหน้าเพื่อขยายธุรกิจไปสู่อีคอมเมิร์ซและการชำระเงินระดับโลก บรรดานายธนาคารทั่วโลกกลับมองว่ายักษ์ใหญ่รายนี้อาจต้องรับมือกับคำถามมากมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลเงินดิจิทัลใหม่นี้

ในสัปดาห์นี้ เฟซบุ๊ค อิงค์ เผยแผนการที่จะออกเงินดิจิทัลเป็นของตัวเองชื่อ “ลิบรา” ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้มีปฏิกิริยาจากบรรดานักการเมืองและเจ้าหน้าที่กำกับดูแลด้านการเงินแทบจะทันที

บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังฝรั่งเศส เตือนหลังการประกาศของเฟซบุ๊คไม่กี่ชั่วโมงว่า เงินดิจิทัลหรือคริปโตของเฟซบุ๊คอาจกลายเป็นเงินตราสาธารณะแทนเงินที่ออกโดยรัฐ

ขณะที่นักการเมืองเยอรมันคนหนึ่งวิจารณ์บริษัทเฟซบุ๊คว่าทำตัวเป็น “ธนาคารเงา”

ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐ เรียกร้องให้ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีเข้าชี้แจงถึงแผนอันทะเยอทะยานในการสร้างเงินเสมือนจริง

ปัจจุบัน บรรดานายธนาคารจำนวนมากกำลังถกเถียงเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเฟซบุ๊ค

“ผมคิดว่ามียังอีกหลายปัจจัยที่เราต้องพิจารณาก่อนที่ข้อเสนอของเฟซบุ๊คจะกลายเป็นสิ่งที่เราต้องใช้ไปตลอด” ฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียกล่าวในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี (20 มิ.ย.) และว่า “มีประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลอีกมากมายที่จำเป็นต้องใส่ใจ และพวกเขา (เฟซบุ๊ค) ต้องทำให้แน่ใจว่ามีเหตุผลทางธุรกิจสนับสนุนหนักแน่นพอ”

ลิบราคืออะไร

เหรียญ (โทเคน) ของเฟซบุ๊คจะใช้รูปแบบของ “สเตเบิลคอยน์” หรือเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าใดและมีสินทรัพย์สนับสนุน เช่น เงินดอลลาร์ เพื่อเลี่ยงความผันผวนที่เกิดขึ้นกับเงินดิจิทัลส่วนใหญ่

ในกรณีเฟซบุ๊ค เงินดิจิทัลนี้ได้รับการสนับสนุนจากตะกร้าเงินฝากธนาคารและสินทรัพย์รัฐบาลระยะสั้น

ลิบราถูกควบคุมโดยกลุ่มบริษัทในวงกว้างตั้งแต่บริษัทการชำระเงินอย่าง “วีซ่า” และ “มาสเตอร์การ์ด” ไปจนถึงยักษ์เทคโนโลยีอย่าง “อีเบย์” และ “อูเบอร์” ทั้งนี้ เฟซบุ๊คตั้งเป้าที่จะออกเงินลิบราภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2563

บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้โครงการคริปโตของเฟซบุ๊คจะเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมดังกล่าวโดยอาจกระตุ้นให้เกิดการใช้เงินดิจิทัลกันมากขึ้น แต่เรื่องกฎเกณฑ์ควบคุมอาจเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการเดิมพันนี้

“ชัดเจนว่า ความเคลื่อนไหวลักษณะนี้เป็นสิ่งสำคัญมากในสายตาของฝ่ายที่กำกับดูแล” แซม วูดส์ รองผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์

ด้านมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า โครงการคริปโตของเฟซบุ๊คน่าจะเผชิญกับมาตรฐานขั้นสูงสุดของการกำกับดูแล

นอกจากนั้น ธนาคารกลางอินโดนีเซียแสดงความเห็นเรื่องโทเคนของเฟซบุ๊คเมื่อวันพฤหัสบดีว่า แผนดังกล่าวของบริษัทควรมีการทบทวน

ความคาดหวังสูง

ขณะเดียวกัน เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวเมื่อวันพุธ (19 มิ.ย.) ว่า เขาได้พูดคุยกับเฟซบุ๊คเรื่องลิบราแล้ว เฟดจะคาดหวังไว้สูงสำหรับเงินดิจิทัลนี้ ทั้งในแง่มีความปลอดภัยเพียงใดและสอดคล้องกับกฎหมายทางการเงินหรือไม่

“ผมไม่สงสัยเลยว่าจะต้องมีการหารือเรื่องการกำกับดูแลหรือประเด็นขออนุมัติล่วงหน้าเกิดขึ้นอยู่หลังฉาก” แอนดี ไบรอันท์ หัวหน้าร่วมฝ่ายธุรกิจยุโรปของ บิทฟลายเออร์ส (bitFlyer) เว็บไซต์ซื้อขายคริปโตเผยกับซีเอ็นบีซีถึงการพบปะกันระหว่างเฟซบุ๊คกับพาวเวล

“แน่นอนว่าจะมีหลายเรื่องที่เราสามารถคาดได้ว่าเจ้าหน้าที่กำกับดูแลจะสอบถามเพื่อความชัดเจนเพิ่มเติม ซึ่งกระบวนการนั้นได้เริ่มต้นไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ทีมงานของเฟซบุ๊คจะเตรียมพร้อมเต็มที่สำหรับเรื่องนี้”

เงินดิจิทัลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกอย่าง “บิทคอยน์” ถูกสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะกำจัดสถาบันทางการเงินออกจากอุตสาหกรรม แต่บิทคอยน์เผชิญกับคำถามเรื่องการกำกับดูแลมากมาย โดยเฉพาะจากการถูกใช้ในธุรกรรมผิดกฎหมายและการซื้อขายเก็งกำไร

เจฟฟ์ สโลน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) โกลบอล เพย์เมนท์ส บริษัทด้านการชำระเงินของสหรัฐ กล่าวว่า การกำกับดูแลกฎเกณฑ์สำหรับลิบราของเฟซบุ๊คจะถือเป็นสัญญาณตอบรับ

“ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคคือการมีความเชื่อมั่นในระบบที่เราสามารถดำเนินการได้” สโลนเผยกับซีเอ็นบีซี และว่า “เราถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงยินดีรับกฎเกณฑ์ที่รัดกุมขึ้น และยอมรับการแข่งขันในสมรภูมิที่คู่แข่งของเราได้รับการควบคุมอย่างเท่าเทียมกัน”

สโลนเสริมว่า เนื่องจากเฟซบุ๊คกำลังทำงานกับผู้เล่นรายใหญ่อย่างวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด การมีพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในการรับมือกับการกำกับดูแลในปัจจุบันจึงมีประโยชน์อย่างมาก

ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊คตอบสนองความกังวลเกี่ยวกับการกำกับดูแลเงินดิจิทัลของตนว่า บริษัทกำลังเฝ้ารอที่จะชี้แจงและตอบคำถามของผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับแผนคริปโตดังกล่าว

นายเดวิด มาร์คัส อดีตผู้บริหารเพย์พาล ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการเงินดิจิทัลให้เฟซบุ๊ค กล่าวถึงที่มาของชื่อ ลิบรา ว่า มาจากวิธีการชั่งน้ำหนักในสมัยโรมัน เป็นสัญลักษณ์ราศีตุลย์ ที่หมายถึงความยุติธรรม เที่ยงตรง เนื่องจากเงิน ความยุติธรรม และเสรีภาพคือจุดมุ่งหมายของเรื่องนี้

เฟซบุ๊ค ตั้งเป้าจะมีหุ้นส่วนให้ได้ 100 ราย เมื่อเปิดตัวลิบราในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ซึ่งหุ้นส่วนแต่ละรายจะมีสิทธิออกเสียงในการตัดสินใจสำคัญ ๆ และต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์