‘โยคะ’ ปรากฏการณ์สะท้านโลก

‘โยคะ’ ปรากฏการณ์สะท้านโลก

วันที่ 21 มิ.ย.กลายเป็นวันโยคะนานาชาติมาได้ 5 ปีแล้ว และปีนี้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ก็เป็นผู้นำทำโยคะหมู่เหมือนทุกปี ด้วยท่าสุริยะนมัสการและอื่นๆ ท่ามกลางผู้นิยมโยคะราว 30,000 คน

โมดี กำหนดให้วันที่ 21 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันครีษมายันหรือวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในซีกโลกเหนือเป็นวันโยคะแนวคิดของเขาได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์จากที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อปี 2557 วันโยคะนานาชาติจึงเริ่มต้นขึ้นในปี 2558 เป็นปีแรก งานไม่ได้จัดขึ้นแค่ในอินเดียแต่หลายประเทศทั่วโลกร่วมกันจัดกิจกรรมนี้

ตัวโมดีร่วมงานที่เมืองรันจีทางตอนเหนือของอินเดียไลฟ์สดทางอินเทอร์เน็ต และเขียนบทความลงบนเว็บไซต์เครือข่ายธุรกิจ “ลิงค์อิน” ยกย่องให้โยคะเป็นยาครอบจักรวาล รักษาได้ตั้งแต่ความเครียดไปจนถึงความเกลียดชัง

“ในโลกที่อุดมการณ์แห่งความเกลียดชัง อาจแบ่งแยกพี่น้องออกจากกันได้ โยคะจะเป็นพลังแห่งความสามัคคี ในยุคที่ความเจ็บป่วย โดยเฉพาะเจ็บป่วยจากความเครียดเพิ่มมากขึ้นทุกที โยคะกำลังช่วยบรรเทาความเครียดและสร้างความสุข” นายกรัฐมนตรีอินเดียบรรยายสรรพคุณ

ธีมงานวันโยคะนานาชาติปีนี้เป็นปฏิบัติการต้านโลกร้อน ที่โมดีกล่าวว่าโยคะสามารถสร้างความเป็นหนึ่ง “กับพืชและสัตว์ทั้งมวล ที่เราได้ร่วมเชยชมความงามแห่งโลกใบนี้”

สำหรับโมดีในวัย 68 ปี ที่ตอนนี้สำเริงสำราญกับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เขาโพสต์คลิปฝึกโยคะในท่วงท่าต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ

นอกจากกิจกรรมที่นำโดยนายกรัฐมนตรีแล้ว ทหารที่มุมไบฝึกท่าสุนัขแลลงและอื่นๆ บนเครื่องบิน ที่สนามกอล์ฟแห่งหนึ่งในเมืองไมซอร์ก็จัดฝึกโยคะหมู่เช่นกัน

โยคะเป็นศาสตร์อินเดียโบราณสำหรับฝึกฝนร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ รากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตหมายถึงประสานหรือเป็นหนึ่ง สัญลักษณ์แห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวระหว่างร่างกายและสติ

คำๆ นี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในมหากาพย์ฮินดูอันศักดิ์สิทธิ์เรื่อง “ภควัตคีตา” เขียนขึ้นราว 500-200 ปีก่อนคริสตกาล

ทารา ไมเคิล นักเขียนหนังสือชื่อ “โยคะ” ตีพิมพ์ในฝรั่งเศสเมืื่อปี 2523 ระบุว่าโยคะเกิดจากการรับรู้ถึงสภาพอันไม่น่าพึงพอใจของมนุษย์ จึงต้องฝึกโยคะเพื่อเป็นหนทางลดทอนความทุกข์ยากนั้น แต่การฝึกโยคะทุกวันนี้หนักไปทางการออกกำลังกายมากกว่า

โลกตะวันตกรู้จักโยคะช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ภายใต้การฟื้นฟูครั้งใหญ่ของสวามี วิเวกอนันดาที่ย้ำว่า โยคะมีเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์เข้ากันได้กับโลกตะวันตก หนังสือชื่อราชาโยคะของเขา ได้วางรากฐานโยคะสมัยใหม่ที่เป็นสากลเอาไว้ ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ตำรับตำราตะวันตกหลายเล่มเริ่มให้รายละเอียดท่วงท่าของโยคะที่เรียกว่า “อาสนะ”

โยคะได้รับความนิยมมากในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ประชาชนหลายล้านคนเผลอๆ อาจมากถึง 300 ล้านคนฝึกโยคะกันเป็นประจำ แม้ว่าในโลกตะวันตกจะเน้นการฝึกร่างกายมากกว่าจิตวิญญาณก็ตาม

นอกจากนี้  ยังมีโยคะแปลกๆ เช่น โฮกะ (โยคะบนหลังม้า) โนกะ (โยคะนู้ด) ด็อกกะ (โยคะกับสุนัข) และโยคะแฮร์รี พอตเตอร์ ที่จบลงด้วยท่า “ดัมเบิลดอร์แลลง”

จะว่าไปแล้วโลกสนใจอภิปรัชญาอินเดียแขนงนี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 -70 ทั้งยังได้เดอะบีเทิลส์และมหาฤาษีมเหศเป็นแรงหนุน

ผลการศึกษาพบว่า การฝึกโยคะช่วยลดความเครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ได้ผลมากกว่าการออกกำลังกายง่ายๆ แต่ให้ผลทางจิตบำบัดน้อย

นอกจากยูเอ็นยกให้ 21 มิ.ย.เป็นวันโยคะนานาชาติแล้ว เมืื่อปี 2559 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ยังจัดให้โยคะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ ที่มีอิทธิพลต่อสังคมอินเดีย ตั้งแต่สุขภาพ การแพทย์ ไปจนถึงการศึกษาและศิลปะ

“โยคะถูกออกแบบมาเพื่อช่วยปัจเจกให้ได้รู้จักตนเอง ผ่อนคลายความเจ็บปวดที่อาจเผชิญ และเปิดโอกาสให้ปลดปล่อย ไม่ว่าหนุ่มสาวหรือผู้สูงอายุ ไม่ว่าเพศ ชนชั้น หรือศาสนาใด ก็ฝึกโยคะได้โดยไม่มีการแบ่งแยก”ยูเนสโกทวีตข้อความสรรเสริญโยคะ