“พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล” เขย่าโครงสร้างบริการภาครัฐ

“พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล” เขย่าโครงสร้างบริการภาครัฐ

การเป็นรัฐบาลดิจิทัล สิ่งสำคัญต้องให้ประชาชนได้สัมผัสถึงความเป็นดิจิทัล

พ.ร.บ.บริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 23 พ.ค.2562 นับเป็นการเปิดศักราชใหม่การบริการภาครัฐให้สะดวกขึ้นโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ ดีจีเอ เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกฎหมายฉบับนี้

ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการดีจีเอ กล่าวว่า กฎหมายนี้มีที่มาจากข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ที่มุ่งหวังให้เกิดการปฏิรูประบบข้อมูลภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลที่เปิดเผยและเชื่อมต่อกัน รวมทั้งเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มีเป้าหมายให้ระบบการทำงานและข้อมูลของภาครัฐเชื่อมโยงระหว่างกันได้มั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เปิดเผยและโปร่งใส ภายใต้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ

กลไกสำคัญของกฎหมายมี 8 หัวข้อ คือ 1.ให้ทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (แผนระดับชาติ) 2. ให้มีคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 3.ให้ดีจีเอสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายนี้ 4.มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐเป็นกรอบบริหาร 5.ให้หน่วยงานภาครัฐทำข้อมูลและบริการรูปแบบดิจิทัล 6.ให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐแบบดิจิทัล 7.ให้หน่วยงานรัฐแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง 8. สนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัลให้เกิดบริการสาธารณะเบ็ดเสร็จ

ดันบริการรัฐสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ

“เมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานรัฐ และประชาชนทั่วไป การทำงานภาครัฐจะเปลี่ยนไป สามารถเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันสะดวกขึ้น มีความโปร่งใส ปลอดภัยด้วยธรรมาภิบาลข้อมูล ประชาชนจะได้รับประโยชน์เพิ่ม คือ ได้รับการบริการจากภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว ลดใช้สำเนาเอกสาร ใช้บัตรประชาชนใบเดียวทำได้ทุกเรื่องเป็นรูปแบบ วัน สต็อป เซอร์วิส สามารถนำข้อมูลเปิดของหน่วยงานรัฐพัฒนานวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

"ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ คณะกรรมการฯชุดนี้ เป็นการรวมคณะกรรมการด้านดิจิทัลจากหลากหลายคณะ ทำให้เชื่อมโยงการทำงานในภาพรวมเพื่อให้การพัฒนาประเทศไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนงานราชการสามารถเตรียมการหรือเริ่มดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ได้ทันที เช่น นำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้การบริหารงานและให้บริการประชาชน ลดการใช้กระดาษหรือสำเนาเอกสาร จัดให้มีระบบการชำระเงินทางดิจิทัล" ศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ช่วงเริ่มต้น การดำเนินการบางเรื่อง จำเป็นต้องรอให้กำหนดรายละเอียดในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มาตรฐาน หลักเกณฑ์ตามกฎหมายก่อนจึงสามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบ ซึ่งดีจีเอจะระดมสมอง ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชน นำความคิดเห็นมาจัดทำร่างกรอบแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

"การเป็นรัฐบาลดิจิทัล สิ่งสำคัญต้องให้ประชาชนได้สัมผัสถึงความเป็นดิจิทัล หนึ่งในกลไกหลักพ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล คือ ต้องมีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง โดยกฎหมายกำหนดให้ในช่วง 2 ปีแรก ดีจีเอต้องจัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลและการดําเนินงาน ให้เห็นข้อมูลประชาชนเป็นภาพเดียวที่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ หรือวันสต็อปเซอร์วิส"

เพิ่มประสิทธิภาพเชื่อมโยงข้อมูล

ทั้งนี้จะครอบคลุมทั้งบริการภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาชน เช่น การพัฒนาระบบซิติเซ่น พอร์ทัล ในส่วนของอินฟอร์เมชั่นให้เป็นศูนย์กลางเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริการภาครัฐแล้ว ในปัจจุบันประชาชนสามารถประเมินความพึงพอใจหลังใช้บริการภาครัฐได้ผ่านแอพพลิเคชั่น ซิติเซ่นอินโฟร์ (CITIZENinfo) ได้ทันที เพื่อให้หน่วยงานรัฐพัฒนาและยกระดับบริการ พร้อมต่อยอดเหมือนเป็นกูเกิลภาครัฐที่ให้บริการข้อมูลด้านอื่น เพื่อการติดต่อกับภาครัฐได้

วิบูลย์ ภัทรพิบูล รองผู้อำนวยการ ดีจีเอ กล่าวว่า การให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนเรื่อง ข้อมูลเปิดภาครัฐ ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นเรื่องของข้อมูล จึงต้องเน้นเรื่องธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เป็นกรอบกำกับดูแล เพื่อให้ได้มาและการนำไปใช้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐถูกต้อง เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัยได้จริง

กฎหมายนี้กำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมทั้งข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย โดยมีคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายนี้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และหน่วยงานอิสระของรัฐ