“สันติธาร เสถียรไทย” ดัน ซี (กรุ๊ป) ลุย 10 ยุทธศาสตร์ปั้นคนดิจิทัล

“สันติธาร เสถียรไทย” ดัน ซี (กรุ๊ป) ลุย 10 ยุทธศาสตร์ปั้นคนดิจิทัล

“สันติธาร เสถียรไทย” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ลูกไม้ใต้ต้นของ “สุรเกียรติ เสถียรไทย” ที่วันนี้กลายเป็นนักบริหารหนุ่มระดับ “คีย์แมน” กำหนดทิศทางกลยุทธ์ดิจิทัลในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ ของ ซี (กรุ๊ป) ฐานที่มั่นใหญ่ในสิงคโปร์

เขา คิือ ผู้กำหนดแนวนโยบายกลยุทธ์ ซี กรุ๊ปในภูมิภาคนี้ รวมถึงไทย ล่าสุดชู 10 ยุทธศาสตร์ปลุกเศรษฐกิจดิจิทัลในทุกประเทศที่ ซี ทำตลาดอยู่ หวังสร้าง “ดิจิทัล ทาเลนท์” ให้ได้ 10 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซี (Sea) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวัน เช่น การีนา ช้อปปี้ และแอร์เพย์ เปิดตัวยุทธศาสตร์ “10 in 10 Initiative” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพ ‘ดิจิทัล ทาเล้นท์’ ในตลาดแรงงานทุกระดับ รับการแข่งขันยุคเศรษฐกิจดิจิทัลท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัลตามให้ทันเทคโนโลยีจึงมีความจำเป็น

ดิจิทัลอาเซียนโตเร็วสุดในโลก

สันติธาร กล่าวว่า ยุทธศาสตร์นี้เน้นเป้าหมายสร้างองค์กร ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคมอย่างรอบด้าน ผ่านการพัฒนาทักษะที่สำคัญและจำเป็นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดย ซี (กรุ๊ป) เป็น 1 ใน 7 บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ที่มีพันธะสัญญาร่วมกับสภาเศรษฐกิจโลก หรือ เดอะ เวิลด์ อีโคโนมี ฟอรั่ม (WEF) ในการสร้างทักษะด้านดิจิทัลภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเริ่มยุทธศาสตร์นี้ มีเป้าหมายสร้าง ‘ดิจิทัล ทาเลนท์ ’ กว่า 10 ล้านคน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวันในระยะเวลา 10 ปี

ดิจิทัล อีโคโนมี เป็นนโยบายที่รัฐบาลทั่วโลกให้ความสนใจ กว่า 80% ของประเทศสมาชิกโออีซีดี หรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนมียุทธศาสตร์ดิจิทัล อีโคโนมีทั้งสิ้น ซึ่ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวันเป็นกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่รวดเร็วที่สุดในโลก

เขายกรายงานของ กูเกิลและเทมาเส็ก ที่คาดว่า ยอดมูลค่าสินค้ารวม ในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นเป็น 240 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 จาก 72 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2561 จากทั่วทุกภาคอุตสาหกรรม 75% ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นว่า การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นโอกาสที่ดี แต่มีเพียง 16% ที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจได้จริง

ไอดีซี บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีชั้นนำพบว่า ภาคเอกชน มีเพียงองค์กรราว 30% ที่สามารถก้าวไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลได้สมบูรณ์ ขณะที่ งานยุคดิจิทัลจะมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือสูงมากขึ้น

เร่งปรับ “ทักษะ”รับโจทย์ยุคใหม่

สันติธาร บอกว่า วันนี้เวลาพูดถึงการปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล มักพูดถึงแต่ด้านของ Hard Skill เช่น เขียนโค้ด ทำโปรแกรม แต่ในด้านของ Soft Skill เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะเชิงวิพากษ์ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำในยุคดิจิทัล ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ขณะที่ ทุกองค์กรต้องมีการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับบุคลากร เพิ่มความกว้าง ให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงพื้นฐานการใช้เทคโนโลยี เช่น การใช้แอพพลิเคชั่น การขายของออนไลน์ และเพิ่มความลึก ด้วยการจับมือกับมหาวิทยาลัย องค์กรภาครัฐต่างๆ เพื่อสอนทักษะใหม่ๆ ทั้งดาต้าอนาไลติก อีสปอร์ต พัฒนาหลักสูตรระยะสั้นในสถาบันการศึกษาให้ตรงความต้องการตลาดและความสนใจของผู้เรียน

ยุทธศาสตร์ “10 in 10 Initiative” จะทำผ่านธุรกิจในเครือ เช่น การีนา ช้อปปี้ แอร์เพย์ และผนึกกำลังกังองค์กรภายนอก เน้นพัฒนาทักษะดิจิทัลแห่งอนาคตให้คนรุ่นใหม่ ในตลาดแรงงานทุกระดับ พัฒนาทักษะเฉพาะด้าน เช่น การโค้ดดิ้ง พัฒนาเกม บริหารอีสปอร์ต การพัฒนา ‘Soft Skill’ ที่จำเป็น เช่น ความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานเป็นทีม เน้นกระจายความรู้และการเข้าถึงทักษะดิจิทัลอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำด้านทักษะและการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างสะพานเชื่อมโยงแต่ละภาคส่วนภายในอุตสาหกรรม เช่น ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และ ภาคนโยบาย เพื่อให้นักวิชาการและนักศึกษาได้นำความรู้ทางวิชาการมาประยุกต์ใช้ตอบโจทย์ทางธุรกิจจริงๆ

สำหรับโครงการที่ดำเนินภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ไปบ้างแล้ว เช่น โครงการ ‘Shopee Bootcamp’ ริเริ่มติดอาวุธทางความรู้ พัฒนาทักษะให้แก่ผู้ขายและผู้ประกอบการรายย่อย และ ‘Sea Scholarship’ โดยเป็นการสนับสนุนทุนการศึกษา เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่ตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล