'เออาร์อีเอ' ชี้เศรษฐกิจซบ ฉุดที่อยู่อาศัยปีนี้วูบ 21%

'เออาร์อีเอ' ชี้เศรษฐกิจซบ ฉุดที่อยู่อาศัยปีนี้วูบ 21%

“เออาร์อีเอ”คาดตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกทม.-ปริมณฑลปีนี้หดตัวแรง 21% เหตุเศรษฐกิจชะลอ หวังรัฐบาลใหม่ออกมาตรการกระตุ้นตลาด


นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัทเอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ เออาร์อีเอ คาดการณ์ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในเขต

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะหดตัวอย่างแรงประมาณ 21%
จากข้อมูลล่าสุดของศูนย์ข้อมูลฯ พบว่า ณ 5 เดือนล่าสุดของปี มีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นรวมจำนวน 86 โครงการ รวม 37,644 หน่วย รวมมูลค่า 148,964 ล้านบาท หรือเฉลี่ยหน่วยละ 3.957 ล้านบาท อย่างไรก็ตามปี 2561 มีหน่วยเปิดใหม่ 125,118 หน่วย มูลค่าการพัฒนา 565,811 ล้านบาท อาจกล่าวได้ว่าราคาหน่วยขายเฉลี่ยในปี 2561 สูงถึง 4.522 ล้านบาท


หากนำข้อมูล 5 เดือนแรกมาพิจารณาเบื้องต้นโดยคูณด้วย 12 หารด้วย 5 จะเห็นว่าจะมีโครงการเปิดตัวใหม่ในปี 2562 ประมาณ 90,346 หน่วย หดตัวกว่าปี 2561 ถึง 28% และมีมูลค่าการพัฒนาเพียง 357,514 ล้านบาท หรือหดตัวลงถึง 37% ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยก็ลดลงไป 9% การลดลงมากเช่นนี้เป็นเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลง แม้แต่โครงการราคาถูกๆก็ยังขายแทบไม่ออก


อย่างไรก็ตามโดยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1/2562 เป็นลักษณะเฉพาะที่มีโครงการราคาถูกเปิดตัวมามาก แต่หากเป็นในยามปกติ


นายโสภณ คาดว่าราคาต่อหน่วยน่าจะเป็นเงิน 4.1 ล้านบาท หากใช้ราคาเฉลี่ยที่ 4.1 ล้านบาท และหากประมาณกว่าจำนวนหน่วยขายในอีก 7 เดือนต่อมาน่าจะสูงกว่าใน 5 เดือนแรก อยู่ 15% ก็จะทำให้จำนวนหน่วยที่เปิดใหม่ในปี 2562 น่าจะเพิ่มเป็น 98,251 หน่วย ทำให้จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดใหม่น่าจะลดลง 21% จากปี 2561 และทำให้มูลค่าการพัฒนาเพิ่มเป็น 402,828 ล้านบาท หรือลดลงกว่าปี 2561 ถึง 29%


ดังนั้นศูนย์ข้อมูลฯ จึงคาดการณ์ว่า การเปิดตัวโครงการใหม่ๆของตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลน่าจะหดตัวกว่าปี 2562 ราว 21% ซึ่งก็ถือว่าเป็นการหดตัวที่มีนัยสำคัญ เพราะหากไม่หดตัวและยังเปิดกันมากมายเช่นปี 2561 ก็จะนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ได้ แต่ถ้าหดตัวลงบ้างก็จะไม่เกิดภาวะฟองสบู่ และทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง


สิ่งที่พึงระวังในปี 2562 ก็คือ การไม่เปิดตัวโครงการใหม่ๆ มากจนเกินไปในแต่ละทำเลเสี่ยง การออกหุ้นกู้ที่มีดอกเบี้ยสูงจนเกินไป อาจทำให้เกิดการผิดชำระหนี้ได้ หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ ซึ่งในแง่หนึ่งอาจเป็นข้อดีในการเพิ่มอุปสงค์ แต่ในอีกแง่หนึ่งประชาชนจะเดือดร้อน เพราะราคาที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้นมาก ส่วนราคาวัสดุก่อสร้างแทบไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำก็คงไม่ได้เพิ่มมากขึ้น คงเป็นแค่การหาเสียงของพรรคการเมืองบางพรรคเท่านั้น


หากเศรษฐกิจดีกว่านี้ ก็จะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยมีการเติบโตที่สูงกว่านี้ จึงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้หรือไม่