ล็อกซเล่ย์ดัน ‘อีโวลูชั่น’ ชิงธงซิเคียวริตี้

ล็อกซเล่ย์ดัน ‘อีโวลูชั่น’ ชิงธงซิเคียวริตี้

“ล็อกซเล่ย์” แตกบริษัทลูกลุยหนักตลาดซิเคียวริตี้ วางตำแหน่งเป็นเซอร์วิส โพรไวเดอร์ด้านเทคโนโลยีความปลอดภัย ชูจุดต่างมีแพลตฟอร์มอัจฉริยะเป็นของตนเอง เสริมด้วยกลยุทธ์บันเดิลทำตลาดร่วมกับพันธมิตรบริษัทประกัน ธนาคารกสิกรไทย ให้บริการแบบครบวงจร

นายยุทธพร จิตตเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด หรือ LET กล่าวว่า เปิดตัว บริษัท ล็อกซเล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด หรือ LET อย่างเป็นทางการ โดยมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ถือหุ้นโดย บมจ.ล็อกซเล่ย์ 100%

ทั้งนี้ วางตำแหน่งเป็นเซอร์วิส โพรไวเดอร์ ด้านเทคโนโลยีความปลอดภัย แนวทางธุรกิจเน้นการให้บริการแบบรวมศูนย์ ทั้งการออกแบบ บูรณาการระบบสารสนเทศ(System Integration Service) ระบบเครือข่าย แอพพลิเคชั่น รวมถึงงานบริการบำรุงรักษาต่างๆ

ด้านจุดเด่น มีแพลตฟอร์มอัจฉริยะเป็นของตนเองชื่อว่า “บียอน แพลตฟอร์ม (Beyond Platform)” ซึ่งร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ บริษัท บราเซ็นท์ ประเทศสิงคโปร์ ในการพัฒนาผสานเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) กล้องโทรทัศน์วงจรปิด โดรน อากาศยานไร้คนขับ ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับต่างๆ ทั้งในระดับเมือง จังหวัด และภูมิภาค สามารถบริหารจัดการแบบศูนย์รวมผ่านห้องปฏิบัติการ

สำหรับบริการหลักๆ ประกอบด้วย 4 กลุ่มงานคือ  1.กลุ่มงานระบบเทคโนโลยีความมั่นคงเพื่อความปลอดภัยระดับเมืองและเขตชุมชนขนาดใหญ่(Public Safety) เน้นการออกแบบ ระบบการทำงานแบบรวมศูนย์ ผนวกกับเทคโนโลยีโปรแกรมวิเคราะห์ภาพเคลื่อนไหว สามารถทำงานได้รวดเร็ว เรียลไทม์ พร้อมคัดกรองและสรุปย่อเหตุการณ์ ให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว สำหรับพื้นที่สาธารณะ มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ

ขณะที่ 2. กลุ่มงานเทคโนโลยีไร้มนุษย์ควบคุมและระบบบริหารจัดการล้ำอนาคต (Beyond Platform & Unmanned Security) ซึ่งเป็นการออกแบบการบริหารจัดการศูนย์ควบคุมและสั่งการพร้อมเชื่อมโยงระบบตรวจจับต่างๆ จากระยะไกลเข้ามาวิเคราะห์และสั่งการต่อแบบอัตโนมัติ ผ่านเทคโนโลยีจักรกลภาคพื้น จักรกลภาคอากาศ เอไอ ไอโอที เทคโนโลยีบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ระยะไกล ฯลฯ กลุ่มเป้าหมายมีตั้งแต่ระดับองค์กร เช่น อาคารสำนักงานต่างๆ ร้านค้าปลีกที่มีสาขาจำนวนมาก หมู่บ้านจัดสรร ไปจนถึงกลุ่มลูกค้าทั่วไป

3.กลุ่มงานเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อระบบท่าอากาศยาน(Airport Technology) เน้นการออกแบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการระบบโดยสารภายในอากาศยานให้มีประสิทธิภาพ อาทิ ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า สัมภาระ ระบบริหารจัดการเช็คอินผู้โดยสาร ระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า เป็นต้น

4.กลุ่มงานเทคโนโลยีขั้นสูง (Special Technology) ออกแบบระบบเพื่อภารกิจแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่หน่วยงาน ความมั่นคงระดับชาติ อาทิ ระบบ GSM Interceptor ระบบ Jammer ระบบ Military Drone ระบบกล้อง Multi Sensor ระบบ Mesh Network รวมไปถึงระบบบิ๊กดาต้าที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเอไอให้แก่หน่วยงานความมั่นคง เพื่อระงับความเสียหายต่อเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

เขากล่าวว่า ตลาดซีเคียวริตี้จำเป็นต้องขายความเชื่อมั่นเป็นหลัก ดังนั้นนอกจากจุดแข็งด้านผลิตภัณฑ์ จะใช้กลยุทธ์การทำตลาดแบบบันเดิล ร่วมมือกับพันธมิตรขายแพ็คเกจร่วมกันในราคาที่แข่งขันได้ โดยบริษัทได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการด้านงานความมั่นคงและงานเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยร่วมกันแบบครบวงจร กับพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง บมจ.เมืองไทยประกันภัย พร้อมจับมือกับธนาคารกสิกรไทย อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในด้านการชำระค่าบริการ

บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า รายได้ปี 2563 จะอยู่ที่ 400 ล้านบาท เติบโตได้ปีละอย่างน้อย 10% ด้านสัดส่วนรายได้มาจากกลุ่มงานพับบลิกเซฟตี้ 40% บียอนแพลตฟอร์ม 25% ระบบท่าอากาศยาน 25% และเทคโนโลยีขั้นสูง 20% สัดส่วนรายได้จะมาจากลูกค้าภาครัฐเกิน 45%