'หมอเด็ก' ชงออกกม.ห้ามสูบบุหรี่ในห้องคอนโด-เอาผิดรถมีกลิ่นบุหรี่ตกค้าง

'หมอเด็ก' ชงออกกม.ห้ามสูบบุหรี่ในห้องคอนโด-เอาผิดรถมีกลิ่นบุหรี่ตกค้าง

"หมอเด็ก" ชงรัฐออกกฎหมาย ห้ามสูบบุหรี่ในห้องคอนโด-ทาวเฮาส์สกัดควันมือสาม จี้คอนโดแจ้งคนซื้ออนุญาตสูบบุหรี่หรือไม่ เป็นข้อมูลประกอบตัดสินใจ โดยเฉพาะครอบครัวมีหญิงท้อง-เด็กเล็ก

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.62 ในการการประชุมวิชาการบุหรีกับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 “Tobaco and Lung Health” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เพื่อรณรงค์สิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดจากควันบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ที่เป็นภัยต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของเด็กซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของสังคมไทยในอนาคต โดยศ. นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศจย. ได้ศึกษาพบว่า มีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ มากถึง 4,962,045 ครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่จึงได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยเฉลี่ยมากถึง 10,333,653 คน

ศ. นพ.รณชัย กล่าวอีกว่า มีผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับเด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบุบหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39% จากการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไทยทั่วประเทศ ในปี 2561 โดย ศจย คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบมีครอบครัวที่ถูกสำรวจถึง 49% มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ และพบมีความสัมพันธ์กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

รศ. นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ควันบุหรี่เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุดในบ้าน แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้สูบบุหรี่ในบ้าน หรือสูบในบ้านตอนไม่มีใครอยู่ ก็ยังคงมีสารพิษจากควันบุหรี่ ติดตามเสื้อผ้า ผนัง โซฟา เบาะหนังแท้ หนังเทียม รวมถึงในรถยนต์ เรียกว่า บุหรี่มือสามซึ่งศูนย์สร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาฯได้ทำการศึกษาวิจัยในศูนย์เด็กเล็กกรุงเทพมหานครด้วยการซักประวัติเด็กเล็กที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ จำนวน 122 ครัวเรือน โดยการตรวจสารโคตินินที่ในปัสสาวะเด็ก ซึ่งสารนี้เกิดจากการได้รับสารนิโคตินแบะทำปฏิกิริยาในร่างกายและขับออกมาเป็นสารโคตินินในปัสสาวะ พบว่า เด็ก 16 % ตรวจพบสารโคตินินในปัสสาวะประมาณสูง 2 นาโนกรัมต่อซีซี ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มที่มีประวัติสูบบุหรี่ในบ้าน จึงเป็นการแสดงถึงสารพิษตกค้างในตัวเด็กจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง และเมื่อให้สมาชิดในครอบครัวเข้าร่วมโปรแกรมเลิกบุหรี่พบว่า 1 ใน 3 เลิกได้สำเร็จและเด็กในกลุ่มนี้มีระดับโคตินินในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้นมีการศึกษาวิจัยในกลุ่มเด็กที่มารับบริการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนในแผนกผู้ป่วยนอก กุมารเวชศาสตร์ 75 รายที่มีคนสูบบุหรี่ในครอบครัว พบว่า 76 % ตรวจเจอสารโคตินินในปัสสาวะเด็ก ในจำนวนนี้ 43 % พบค่าสูงเกิน 2 นาโนกรัมต่อซีซี อีกทั้ง เด็กที่อาศัยอยู่ในที่พักที่เป็นยูนิตรวม เช่น คอนโดมีเนียม อพาร์ทเม้นท์ หรือทาวน์เฮาส์จะมีค่าสารพิษนี้สูงกว่าเด็กที่อยู่บ้านที่มีพื้นที่รอบถึง 2 เท่า และเด็กที่อยู่ในบ้านที่มีผู้มีประวัติสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน เด็กจะมีสารพิษนี้มากขึ้น 2 เท่า

รศ. นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นชัดเจนว่าเด็กเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายต่อชีวิตจากควันบุหรี่มือสองและมือสามจึงมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ครัวเรือนควรได้รับความรู้เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่มือสองและมือสามที่มีผลกระทบต่อเด็ก 2.สถานที่บริการสาธารณะ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น คลินิก หากทราบประวัติครอบครัวมีคนสูบบุหรี่และไม่ได้พยายามสร้างโปรแกรมหรือส่งต่อให้เลิกบุหรี่ จะต้องถือว่าเข้าข่ายไม่ปฎิบัติตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 29 ที่กำหนดให้ทุกคนมีหน้าที่แจ้งเมื่อเจอเด็กตกอยู่ในสภาพจําต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพ เพราะการสูบบุหรี่ในบ้านถือเป็นการกระทำความรุนแรงที่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562

3.ในส่วนของอาคารบ้านเรือนที่เป็นแบบยูนิตรวม เช่น คอนโด อพาร์ทเม้น ทาวน์เฮาส์ จะต้องมีการออกกฎหมายห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ภายในที่พักลักษณะเช่นนี้ที่รวมถึงภายในห้องหรือตัวบ้านด้วย ไม่เฉพาะแค่บริเวณทางเดินหรือพื้นที่ส่วนรวมเท่านั้น เพราะที่พักอาศัยเหล่านี้ถือว่ามีการใช้อากาศร่วมกัน ถ้าสูบในบ้าน 1 หลัง ก็ส่งผลต่อบ้านอีกหลังได้จากอากาศที่ล่องลอย หรือสูบในห้องคอนโดควันบุหรี่ก็ส่งผลต่อคนในห้องอื่นๆได้ด้วย หรือหากไม่มีการออกกฎหมายบังคับ อย่างน้อยจะต้องมีมาตรการประกาศให้ผู้บริโภคทราบว่าเป็นคอนโดฯที่อนุญาตให้มีการสูบบุหรี่ในห้องได้ เพื่อที่ครอบครัวที่มีหญิงตั้งครรภ์หรือเด็กเล็กจะได้ตัดสินใจได้ว่าจะซื้อคอนโดแห่งนั้นหรือไม่ เหมือนกับที่การประกาศว่าห้ามเลี้ยงสุนัขในคอนโด ซึ่งบุหรี่อันตรายต่อสุขภาพยิ่งกว่าควรจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบเช่นกัน และ4.รถโดยสารสาธารณะ เช่น รถตู้ หรือรถแท็กซี่ หากมีกลิ่นบุหรี่หลงเหลืออยู่ภายในรถถือว่ามีควันบุหรี่มือสาม เพราะฉะนั้นผู้โดยสารควรมีสิทธิร้องเรียนและรัฐควรออกกฎหมายในการควบคุมสิ่งเหล่านี้ด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

“ควันบุหรี่มือสามที่ติดอยู่ตามที่ต่างๆ หากนำไปทำความสะอาด ก็อาจจะชะล้างออกได้ แต่สำหรับสิ่งที่เป็นชิ้นใหญ่ที่ไม่สามารถเอาไปล้างทำความสะอาดได้ เช่น ฝาผนัง วอลล์เปเปอร์ หรือโซฟาทั้งตังก็จะมีบุหรี่มือสามหลงเหลืออยู่และอยู่เป็นเวลานาน” รศ. นพ.อดิศักดิ์กล่าว