อุทธรณ์ยกคำร้อง 4 จำเลยคดีแชร์ยูฟัน ขอยื่น ศาลรธน. วินิจฉัยประกันตัว

อุทธรณ์ยกคำร้อง 4 จำเลยคดีแชร์ยูฟัน ขอยื่น ศาลรธน. วินิจฉัยประกันตัว

"4จำเลยร่วม" ไม่ได้ประกัน ยื่นอุทธรณ์อ้างกฎหมายให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจขัดหลัก รธน. ศาลอุทธรณ์ชี้เรื่องประกันไม่เข้าข่าย ส่วนคดีหลักผิด-ไม่ผิดฉ้อโกง ยังรอศาลอุทธรณ์พิจารณา

 

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์คดีแชร์ลูกโซ์ยูฟันสโตร์ รวม 7 สำนวน ในคดีหมายเลขดำที่ อ.2279/2558, อ.2836/2558, อ.1246/2559, อ.2081/2559, อ.2383/2559, อ.2915/2559 และ อ.3934/2559 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า แม่ข่ายยูฟันสโตร์ , นายเควิน ลัย (Kevin Lai) สัญชาติมาเลเซีย อดีต ผจก.ธนาคาร UDBP , นายหยาง หยวน เฉา (Yang Yuan Zhao) สัญชาติจีน อดีต รอง ผจก.ธนาคาร UDBP ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของ บริษัท UDBP แมนเนจเมนท์ จำกัด (ประเทศไทย) ที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาการเงินของ บจก.ยูฟันสโตร์ , นายนที ธีระโรจนพงษ์ นักเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศ , เครือข่ายแชร์ลูกโซ่ยูฟัน สโตร์ที่มีทั้งพนักงานบริษัทเอกชน-ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว และบริษัท ยูเทรดดิ้ง จำกัด บริษัทเครือข่ายยูฟันฯ

ทั้งหมดเป็นจำเลยที่ 1-43 ในความผิด 5 ข้อหาฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 , พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบขายตรง พ.ศ.2545 , ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 , ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 , 343 และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กรณีเมื่อ 25 ต.ค.56 – 18 มิ.ย.58 บจก.ยูฟัน สโตร์ ที่มีชาวมาเลเซียเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นที่ 1 มีพล.ต.อธิวัฒน์ สุ่นปานและคนไทยออีกคนถือหุ้นลำดับถัดมา ขณะที่การดำเนินธุรกิจของยูฟันฯ นั้นก็ได้ชักชวนบุคคลเข้าร่วมในเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ น้ำผลไม้-สมุนไพร-เครื่องสำอางผิวหน้า โดยทำให้หลงเชื่อว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย แต่ภายหลังได้หลอกลวงขายหน่วยลงทุนทางอิเล็กทรอนิกส์จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่เรียกว่ายูโทเคน (U–TOKEN) โดยอ้างว่าได้รับความนิยมและยอมรับในประเทศออสเตรเลีย-มาเลเซีย ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอัยการโจทก์ขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนเงินชดใช้แก่ผู้เสียหาย 2,451 คน รวมเป็นเงิน 356,211,209 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีด้วย

 

โดยวันนี้ ศาลเบิกตัวจำเลย 22 รายทั้งชาย หญิง ที่ต้องคำพิพากษาจำคุกสูงสุด 20-50 ปี จากเรือนจำมาฟังคำตัดสินชั้นอุทธรณ์ และก่อนหน้านี้ได้ออกหมายเรียกแจ้งให้จำเลย 21 รายที่ศาลยกฟ้องไปมาร่วมฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ ซึ่งวันนี้ก็มีกลุ่มญาติของจำเลยมาร่วมติดตามคำพิพากษาและให้กำลังใจจำเลยอีกกว่า 30 คน จนเกือบเต็มห้องพิจารณาคดี แต่เมื่อถึงเวลา 11.30 น. องค์คณะผู้พิพากษาฯ ได้แจ้งให้จำเลยที่มาศาลในวันนี้ทราบว่า คำพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ส่งมาในวันนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 17,36,37,40 ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่น่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ต.ค.60 และ 20 พ.ย.60 น.ส.อลิสา หรืออลิส จำเลยที่ 17,นายวัจน์ณฐภัทร์ จำเลยที่ 36, นายบุญธรรม จำเลยที่37,นายรัชชาพงษ์ จำเลยที่ 40 ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำร้องของจำเลยทั้ง 4 ที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง (บัญญัติว่าหากศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนนั้น ก็ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยฯ) วินิจฉัยกรณีที่ศาลใช้ดุลยพินิจไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เมื่อมีเหตุอันควรเชื่ออย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา(ป.วิอาญา) 108/1 บทบัญญัติของกฎหมายนั้นขัดต่อสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าในคดีอาญาผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าคดีจะมีคำพิพากษา โดยคำขอในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาฯ โดยการไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ

วันนี้ศาลได้เบิกตัวจำเลยดังกล่าวมาฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ตรวจประชุมปรึกษาหาหรือกันแล้วเห็นว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง นั้น แสดงให้เห็นว่ากรณีที่จะเสนอความเห็นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเอง หรือคู่ความในคดีนั้นโต้แย้งเกี่ยวกับกฎหมายที่นำมาใช้บังคับในการพิจารณาพิพากษาคดี แต่กรณีคำร้องของจำเลยทั้ง 4 นั้น เป็นเรื่องของการโต้แย้งในกฎหมายเกี่ยวกับการให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี จึงไม่ใช่กรณีที่จะเข้าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะรับคำร้องของจำเลยทั้ง 4 ไว้เสนอศาลรัฐธรรมนูญ โดยเหตุแห่งการพิจารณาให้หรือไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ก็เป็นไปตามที่ ป.วิอาญา บัญญัติไว้ จึงให้ยกอุทธรณ์ในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสี่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาคดีหลักคดีนี้ ที่อัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ส่วนที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลย 21 คน และจำเลย 22 ราย ที่ยื่นอุทธรณ์นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ว่าจะมีคำพิพากษาอย่างไร

อย่างไรก็ดีสำหรับคดีแชร์ลูกโซ่ยูฟันนี้ จำเลยทั้ง 43 คน ให้การปฏิเสธ และสืบพยานต่อสู้คดี ซึ่งชั้นพิจารณาศาลได้สืบพยานโจทก์ 61 ปาก พยานจำเลย 59 ปาก โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 มี.ค.60 ว่า นายอภิชณัฏฐ์ จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ผู้บรรยายชักชวนให้ลงทุน บ.ยูฟันฯ ที่ไม่ได้จำหน่ายสินค้าขายตรงตามที่แจ้งไว้แต่ให้ลงทุนเงินยูโทเคน อ้างว่าได้รับความเชื่อถือนิยมในประเทศออสเตรเลีย-มาเลเซีย ซึ่งหากหาสมาชิกได้จะได้รับค่าตอบแทน 7-12 % ของเงินที่สมาชิกใหม่นำมาลงทุน ส่วนนายรัฐวิชญ์ ฐิติอรุณวัฒน์ จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้บรรยาย , น.ส.พีรญา หาญพรม จำเลยที่ 6 ภรรยาทำหน้าที่รับเงินสมาชิกลงทุน ซึ่งปรากฏหลักฐานการโอนเงินมากกว่า 2,000 รายการ มากกว่า 300 ล้านบาท

โดยมี ว่าที่ ร.ต.ฤทธิเดช วรงค์ จำเลยที่ 4 กก.บจก.ยูเทรดดิ้งบริษัทเครือข่ายยูฟันฯ , บจก.ยูเทรดดิ้ง จำเลยที่ 42 ร่วมทำหน้าที่รับโอนเงินการลงทุนยูโทเคนด้วย ขณะที่นายบุน เกียท ชู หรือนายชัยสงค์ วนัสบดีวงศ์ จำเลยที่ 11 เป็นผู้เปิดบัญชีรับโอนเงินและดูแลการเบิกถอนเงิน , นายเควิน ลัย (Kevin Lai) สัญชาติมาเลเซีย เป็น ผจก.ธนาคาร UDBP จำเลยที่ 12 , นายหยาง หยวน เฉา (Yang Yuan Zhao) สัญชาติจีน เป็น รอง ผจก.ธนาคาร UDBP ) จำเลยที่ 13 และเป็น กก.บจก.UDBP แมนเนจเมนท์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาการเงินของ บจก.ยูฟันสโตร์ การกระทำของจำเลยที่ 1 , 2 , 4 , 6 , 11 , 12 , 13 นั้นเป็นแม่ข่ายระดับสูงที่ใกล้ชิดกับผู้บริหาร บจก.ยูฟันฯ มีความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 กับฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ซึ่งเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักสุด ตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ ให้จำคุก 2,451 กระทง ๆ ละ 5 ปี รวม 12,255 ปี และฐานร่วมกันเข้าเป็นสมาชิกและมีส่วนร่วมกระทำการไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมของ บจก.ยูฟันฯ ที่เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 จำคุกอีกคนละ 10 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งเจ็ดคนใน 2 ข้อหาคนละ 12,265 ปี แต่เมื่อโทษรายกระทงนั้นสูงสุดถึง10 ปีแล้วจึงรวมโทษจำคุกจำเลยไว้คนละ 50 ปีตามกฎหมาย

ส่วน "บจก.ยูเทรดดิ้ง" จำเลยที่ 42 ที่ร่วมโฆษณา ประกาศ แนะนำและชักชวนให้ประชาชนทั่วไปนำเงินมาร่วมลงทุน ให้ลงโทษปรับตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงๆ ละ 500,000 บาท เป็นเงินทิ้งสิ้น 1,225,500,000 บาท กับให้ปรับตาม พ.ร.บ.องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ อีก 200,000 บาท รวมปรับบริษัท 2 ข้อหา เป็นเงินทั้งสิ้น 1,225,700,000 บาท นอกจากนี้ "นายโชติพัฒน์ วุฒิพันธุ์โภคิน" จำเลยที่ 7 ก็เป็นแม่ข่ายระดับสูงใกล้ชิดผู้บริหาร บ.ยูฟันฯ และร่วมกันเผยแพร่การบรรยายการลงทุนที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยการเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ให้จำคุกตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงๆ ละ 5 ปี รวม 12,255 ปี , ความผิด พ.ร.บ.องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ อีก 10 ปี และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย 2 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 12,267 ปี แต่เมื่อโทษรายกระทงนั้นสูงสุดถึง 10 ปีแล้วจึงรวมโทษจำคุกจำเลยไว้คนละ 50 ปีตามกฎหมาย

ส่วนกลุ่มโฆษณาเชิญชวน มี น.ส.อลิสาหรืออลิส โชติธนไชย จำเลยที่ 17 , นายอุดมชัย อิ่มรัตนรัก จำเลยที่ 19 , นายนที ธีระโรจนพงษ์ จำเลยที่ 27 ร่วมกันเผยแพร่การบรรยายการลงทุนที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยการเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และยังร่วมกับ น.ส.วิไลวรรณ ทรงสวรรณ จำเลยที่ 15 , นายเอกภพ ทรงสวรรณ จำเลยที่ 16 , น.ส.ว  จำเลยที่ 22 , นายสุจินต์ ชวิตรานุรักษ์ จำเลยที่ 23 จัดรายการ "เทคไซด์ บาย เกย์นที" ที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์บนระบบอินเตอร์เน็ต และเชิญแขกมาร่วมรายการพร้อมอธิบายการลงทุน โดยมี นายธนา วงศ์ขำ จำเลยที่ 29 , นายเรืองทรัพย์ หรือกษิเดช หรือกฤตภพ เศรษฐชัยกร จำเลยที่ 31 , นายวัจน์ณฐภัทร์ มงคลสุทธิกุล จำเลยที่ 36 , นายบุญธรรม หรือสุทธิวัฒน์ ธัมมาภิรักษ์กุล จำเลยที่ 37 , นายรัชชาพงษ์ บัวแก้ว จำเลยที่ 40 ร่วมกันโฆษณา ประกาศ แนะนำและชักชวนให้ประชาชนทั่วไปนำเงินมาร่วมลงทุนด้วย จึงให้จำคุก น.ส.อลิสา จำเลยที่ 17 , นายอุดมชัย จำเลยที่ 19 , นายนที จำเลยที่ 27 ตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ ให้จำคุกคนละ 2,451 กระทงๆละ 5 ปี และความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำคุกอีกคนละ 2 ปี รวมจำคุก 2 ข้อหาทั้งสิ้นคนละ 12,257 ปี แต่เมื่อโทษรายกระทงนั้นสูงสุดไม่เกิน 10 ปีแล้วจึงรวมโทษจำคุกจำเลยไว้คนละ 20 ปีตามกฎหมาย


ส่วน น.ส.วิไลวรรณ จำเลยที่ 15 , นายเอกภพ จำเลยที่ 16 , น.ส.วรากร จำเลยที่ 22 , นายสุจินต์ จำเลยที่ 23 , นายธนา จำเลยที่ 29 , นายเรืองทรัพย์ จำเลยที่ 31 , นายวัจน์ณฐภัทร์ จำเลยที่ 36 , นายบุญธรรม จำเลยที่ 37 , นายรัชชาพงษ์ จำเลยที่ 40 ให้จำคุก ตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ รวม 2,451 กระทงๆ ละ 5 ปีจำคุกทั้งสิ้นคนละ 12,255 ปี แต่เมื่อโทษรายกระทงนั้นสูงสุดไม่เกิน 10 ปีแล้วจึงรวมโทษจำคุกจำเลยไว้คนละ 20 ปีตามกฎหมาย ขณะที่ น.ส.ณมนพรรณ์ ธาราบัณฑิต จำเลยที่ 5 เป็นผู้แนะนำและชักชวนสมาชิกให้มาลงทุน ก็ปรากฏหลักฐานการโอนเงินจากสมาชิก 1,161 รายการ มูลค่า 142 ล้านบาท ซึ่งหลังได้รับเงินแล้วจำเลยที่ 5 จะให้รหัสการลงทุนกับสมาชิก ให้จำคุก ตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ รวม 2,451 กระทงๆ ละ 5 ปีจำคุกทั้งสิ้นคนละ 12,255 ปี แต่เมื่อโทษรายกระทงนั้นสูงสุดไม่เกิน 10 ปีแล้วจึงรวมโทษจำคุกจำเลยไว้คนละ 20 ปีตามกฎหมาย และให้จำเลยทั้ง 22 ราย (จำเลยที่ 1, 2 , 4 , 5, 6 , 7, 11, 12 ,13 ,15, 16, 17, 19, 22, 23, 27, 29, 31, 36, 37, 40, 42) ร่วมกันคืนเงินที่กู้ยืมและฉ้อโกงไป รวมจำนวนทั้งสิ้น 356,211,209 บาท ให้กับผู้เสียหาย 2,451 คน ตามจำนวนที่แต่ละคนได้ถูกฉ้อโกงไป พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันที่ให้กู้ยืม หรือวันสุดท้ายที่ให้กู้ยืม หรือวันสุดท้ายของเดือนที่ให้กู้ยืม

สำหรับเงินสดที่เป็นทรัพย์สินของกลาง ก็ให้ริบไว้ด้วย ส่วนจำเลยอีก 21 ราย กลุ่มที่ถูกกล่าวหาร่วมชักชวนลงทุนและเปิดบัญชีรับโอนเงินนั้น ศาลชั้นต้นยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย เนื่องจากโจทก์ ไม่มีผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าเป็นผู้ชักชวนให้เข้าร่วมลงทุน เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่นมาพิสูจน์การกระทำความผิดของจำเลยกลุ่มนี้ หลักฐานอัยการโจทก์จึงยังมีข้อสงสัยตามสมควร ก็ให้ยกฟ้อง ประกอบด้วย นายไชธร ทองหล่อเลิศ จำเลยที่ 3 คนขับรถผู้บริหาร บ.ยูฟันฯ , น.ส.นิภาพร ละมี จำเลยที่ 8 , นายธีรวัจน์ พัชระสุยะใหญ่ จำเลยที่ 9 , น.ส.ณัฏฐ์วรัญช์ อุตมะแก้ว จำเลยที่ 10 , น.ส.หรรษา ธาราบัณฑิต จำเลยที่ 14 , นายณัฐวรรธน์ บุญภา จำเลยที่ 18 , น.ส.ธาราทิพย์ โตสันเทียะ จำเลยที่ 20 , นายธีร์รัฐ ประทีปรัตโนภาส จำเลยที่ 21 , นายเอกอุดม เก้าพิทักษ์ จำเลยที่ 24 , นายสมชาย สิริเลิศสุวรรณ จำเลยที่ 25 , นายภูวณัฏฐ์ ภคพรรษวัฎ จำเลยที่ 26 , นายณัฐพงษ์ โกศการิกา จำเลยที่ 28 , นายธนา วงศ์ขำ จำเลยที่ 29 , น.ส.ชวิศา จิตโตภาษ จำเลยที่ 30 , นายณัฐวุฒิ วงศ์วิวัฒนา จำเลยที่ 32 , นายกวิน วงศ์สงวน จำเลยที่ 33 , นายฐานันดร์ นราสวัสดิ์ จำเลยที่ 34 , นายพิพัฒน์ ฉัตรโชติกุล จำเลยที่ 35 , นายพรหมหฤษฎ์ สัมฤทธิ์ปัมทกุล จำเลยที่ 38 , นายศุภชัย ญาณวินิจฉัย จำเลยที่ 39 , นายศิริโชค สิริวรรณภา อดีตสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา จำเลยที่ 41 (ถูกกล่าวหารับโอนเงินจากบัญชี บจก.ยูฟัน พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด 30 ล้านบาท) , นายพีรพัฒน์ เรืองสวัสดิ์ จำเลยที่ 42 โดยจำเลยทั้ง 21 ราย ก็ได้ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำทันทีในวันที่ 22 มี.ค.60 หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว