สธ.จัดประชุมผู้บริหาร 'การใช้กัญชาทางการแพทย์'

สธ.จัดประชุมผู้บริหาร 'การใช้กัญชาทางการแพทย์'

กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมผู้บริหารเตรียมความพร้อมการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงอย่างปลอดภัย และได้ประโยชน์สูงสุด

วันนี้ (20 มิถุนายน 2562) ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประพนธ์  ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา “การใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข” แก่ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อมผู้บริหารให้มีความรู้ ความเข้าใจในการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ทั้งด้านนโยบาย การสั่ง/จ่ายสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ และสามารถนำไปจัดรูปแบบการบริการในสถานบริการสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงอย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด

นายแพทย์ประพนธ์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการใช้สารสกัดกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิผล สามารถเข้าถึงการรักษาอย่างเหมาะสม รวมทั้งจัดรูปแบบการใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาในสถานบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องมีการใช้อย่างสมเหตุสมผล ภายใต้การดูแลรักษาจากแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรกรมการแพทย์ เนื่องจากกัญชายังเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 แต่อนุญาตให้ใช้กัญชาเฉพาะทางการแพทย์ เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยและการศึกษาวิจัยในมนุษย์ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562

นายแพทย์ประพนธ์กล่าวต่อว่า การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ต้องดำเนินการตามกฎหมายกำหนด ซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการ โดยต้องมีหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชาในการรักษาโรคอย่างชัดเจน ส่วนการแพทย์แผนไทยควรเป็นไปตามตำรับยาแผนไทยที่กำหนดให้มีกัญชาเป็นส่วนประกอบแต่ละตำรับ และจะต้องมีการเฝ้าระวัง ควบคุม และติดตามผลกระทบที่เกิดอาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เช่น การเสพติดกัญชา การนำไปใช้เพื่อการสันทนาการ รวมทั้งวางแนวทางการรักษาเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากกัญชา ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริหารหน่วยบริการสุขภาพได้ทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบันของการใช้กัญชาทางการแพทย์ และมีแนวทางการนำไปพัฒนารูปแบบการจัดบริการการใช้กัญชาสำหรับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม และชัดเจนต่อไป