เปิดกรอบลดขยะทางทะเลจี20

เปิดกรอบลดขยะทางทะเลจี20

ตามกรอบการทำงานฉบับนี้สมาชิกจี20 จะส่งเสริมการใช้มาตรการหลากหลายและความร่วมมือระหว่างประเทศส่งเสริมวิธีการอันครอบคลุมครบวงจรเพื่อป้องกันและลดปริมาณขยะที่จะลงสู่ทะเล

ภาพข่าวสิ่งแวดล้อมที่สะเทือนใจผู้คนในปีที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นภาพขยะพลาสติกเกลื่อนชายหาด สัตว์หลายตัวต้องเผชิญมรณกรรมจากพลาสติกที่กินเข้าไปเต็มท้อง สถานการณ์เช่นนี้ชี้ว่า ทะเลทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียว ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลไม่ใช่เรื่องที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะแก้ปัญหาเพียงลำพังได้ เรื่องนี้คือปัญหาระดับโลก ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ

ในโอกาสที่ญี่ปุ่นเป็นประธานกลุ่มประเทศจี 20 ในปีนี้ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ประกาศว่าต้องการให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำโลกในการลดขยะพลาสติกในทะเลรวมถึงการพัฒนาพลาสติกชีวภาพและนวัตกรรมอื่นๆและก่อนการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศจี20 จะมีขึ้นในวันที่ 28-29 มิ.ย.ที่นครโอซากา ทางตะวันตกของญี่ปุ่น บรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและสิ่งแวดล้อม จี20 ได้ประชุมกันที่เมืองคารุอิซาวะ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว หารือกันเรื่องการจัดการปัญหาขยะพลาสติกทางทะเลในระดับโลก ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบการดำเนินงานฉบับใหม่ว่าด้วยเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ก่อนการประชุมโยชิอากิ ฮาราดะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นเผยกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลหารือเรื่องแผนปฏิบัติการว่าด้วยปัญหาพลาสติกในทะเลกับบริษัทเอกชนกว่า 20 ราย ทุกบริษัทล้วนมีประสบการณ์และองค์ความรู้ รวมถึงตัวอย่างการปฏิบัติงานที่ประสบความสำเร็จ เผยแพร่เป็นแผ่นพับเล็กๆ ให้แต่ละประเทศได้อ้างอิง

“วัตถุประสงค์หลักของการประชุมคือการหาเป้าหมายร่วมกันระหว่างประเทศประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องขยะพลาสติก รวมถึงหารือเรื่องกรอบการทำงาน พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากแต่ละประเทศด้วยความเคารพ”

กรอบการทำงานฉบับใหม่ที่รัฐมนตรีจี20 เห็นชอบกันที่เมืองคารุอิซาวะ ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นไปตามแผนปฏิบัติการจี20 ว่าด้วยขยะทางทะเล ที่ผู้นำจี20 มีมติร่วมกันในการประชุมสุดยอด ณ เมืองฮัมบูร์กของเยอรมนีเมื่อปี 2560 กรอบการทำงานใหม่จึงช่วยเสริมให้แผนปฏิบัติการจี20 ว่าด้วยขยะทางทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ตามกรอบการทำงานฉบับนี้สมาชิกจี20 จะส่งเสริมการใช้มาตรการหลากหลายและความร่วมมือระหว่างประเทศส่งเสริมวิธีการอันครอบคลุมครบวงจรเพื่อป้องกันและลดปริมาณขยะที่จะลงสู่ทะเล แบ่งปันตัวอย่างการปฏิบัติการอันยอดเยี่ยม ส่งเสริมนวัตกรรม เพิ่มการตรวจตราอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และระเบียบวิธีเชิงวิเคราะห์

ในแง่ของการส่งเสริมแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์การใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีการจัดการขยะ การบำบัดน้ำเสีย ผลิตสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

แน่นอนว่าความร่วมมือนี้ไม่ได้มีเฉพาะในหมู่สมาชิกจี20 กรอบการทำงานระบุถึงความร่วมมือและเอื้ออำนาจให้กับประเทศนอกกลุ่ม รัฐบาลท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันวิชาการมาร่วมมือกัน และเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้มามีส่วนร่วมปฏิบัติ ประสานงานเป็นเครือข่ายมุ่งเน้นแก้ปัญหาขยะพลาสติกโลก

เมื่อพิจารณาสมาชิกจี20 ซึ่งประกอบด้วยอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐ เห็นได้ว่ามีทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ ปัญหาและวิธีการจัดการปัญหาของตนเอง แต่ที่ประชุมก็เห็นชอบกรอบการทำงานร่วมกัน

“ผมดีใจที่เราซึ่งรวมถึงประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ สามารถกำหนดกรอบการทำงานระหว่างประเทศกว้างๆ ได้” รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมแถลงหลังประชุม แต่กว่าจะได้กรอบการทำงานตัวนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเผยว่า ทุกประเทศเข้าใจดีว่าปัญหาขยะพลาสติกในทะเลเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะจัดการอย่างไร รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอกรอบการทำงานใหม่ที่สอดรับกับแผนปฏิบัติการในปี 2560 ทุกประเทศยอมรับในแนวคิดและจากความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน ญี่ปุ่นจึงไม่บังคับให้ประเทศอื่นๆ ให้ต้องทำตามแต่ใช้วิธีการกระตุ้นเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ"