กลุ่มสิทธิจี้ ‘อาเซียน’ หารือปมโรฮิงญา

กลุ่มสิทธิจี้ ‘อาเซียน’ หารือปมโรฮิงญา

กลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในสุดสัปดาห์นี้ หยิบยกเรื่องเมียนมาปฏิบัติไม่ดีต่อชาวโรฮิงญาขึ้นมาหารือ หลังจากรายงานของอาเซียนประเมินเมียนมาในแง่ดี

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของกลุ่มฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ แถลงวานนี้ (19 มิ.ย.)ว่า ที่ประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)วันที่ 22-23 มิ.ย.นี้ จะต้องทบทวนอย่างจริงจังถึงท่าทีที่มีต่อวิกฤติโรฮิงญาในเมียนมา

“เป็นเรื่องผิดปกติมากที่ผู้นำอาเซียนจะหารือเรื่องการส่งกลับประชากรที่ทนทุกข์ให้กลับไปอยู่ในเงื้อมมือของกองกำลังความมั่นคงที่เข่นฆ่าพวกเขา” นายอดัมส์ระบุ

ด้านนางอีวา ซุนดารี ส.ส.อินโดนีเซียที่เป็นสมาชิกรัฐสภาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขอให้อาเซียนยุติการให้ความชอบธรรมแก่กระบวนการส่งกลับชาวโรฮิงญา อาเซียนจะต้องเลิกทำเป็นมองไม่เห็นความโหดร้ายที่เมียนมามีต่อชาวโรฮิงญา ชาวโรฮิงญาจะไม่กลับบ้านอย่างสมัครใจหากสถานการณ์ในรัฐยะไข่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

กลุ่มสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเนื่องจากรายงานของทีมตอบสนองและประเมินเหตุฉุกเฉินของอาเซียนที่เอเอฟพีเห็นสำเนาเมื่อต้นเดือนนี้ ประเมินกระบวนการส่งกลับชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยในบังกลาเทศกลับเมียนมาในทางที่ดี โดยคาดการณ์ว่า กระบวนการส่งกลับโดยสมัครใจจะแล้วเสร็จภายในสองปี และไม่ใช้คำว่าโรฮิงญาเมื่อพูดถึงผู้ลี้ภัยเหล่านี้

กองทัพเมียนมา ยกกำลังขึ้นไปในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกสุดของประเทศตั้งแต่เดือนส.ค.2560 โดยอ้างว่าเพื่อกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธ ทำให้ชาวโรฮิงญาราว 7.4 แสนคนหนีข้ามพรมแดนเข้าไปในบังกลาเทศ

กระบวนการส่งกลับที่เมียนมาตลงกับบังกลาเทศไม่มีความคืบหน้าเพราะชาวโรฮิงญาไม่ยอมกลับเพราะห่วงความปลอดภัยในชีวิตและทางการเมียนมาไม่รับปากว่าจะให้สัญชาติหรือสิทธิพื้นฐานกับพวกเขา

นอกจากนั้น สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนว่าจะปรับลดความช่วยเหลือต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายพันคน หลังรัฐบาลเมียนมาปิดค่ายในรัฐยะไข่ ด้วยวิตกว่าการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของยูเอ็นเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการแบ่งแยกมากยิ่งขึ้น

ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นหลังยูเอ็นเผยแพร่รายงานเมื่อวันจันทร์ (17 มิ.ย.)ยอมรับถึงความล้มเหลวอย่างเป็นระบบของตนต่อสถานการณ์ที่พัฒนาไปสู่วิกฤติโรฮิงญา