'สหพัฒน์' พลิกธุรกิจแสนล้าน ขี่คลื่นดิจิทัลสู่ทศวรรษที่ 8

'สหพัฒน์' พลิกธุรกิจแสนล้าน ขี่คลื่นดิจิทัลสู่ทศวรรษที่ 8

สลัดภาพผู้ผลิตสินค้า สู่ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม บริการ ขุมทรัพย์ใหม่หนุนเติบโต ทรานส์ฟอร์มองค์กร เปิดทางคนรุ่นใหม่ ทำงานร่วมวัยเก๋าชูบิ๊กดาต้าแก้โจทย์ธุรกิจ ควบคู่ฝ่าสึนามิดิจิทัล เคลื่อนอาณาจักรแสนล้าน ย้ำเป็นอะไรก็ได้ต้องเป็นหนึ่ง

ตระกูล “โชควัฒนา” ที่ขับเคลื่อนอาณาจักรธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทยอย่าง “เครือสหพัฒน์” อาจไม่เข้าตานิตยสารระดับโลก จนถูกบรรจุชื่อในทำเนียบ “อภิมหาเศรษฐีไทย” แต่หากรู้จักองค์กรเก่าแก่ 77 ปี แห่งนี้จะรู้ว่ามีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในแต่ละปีร่วม “3 แสนล้านบาท”

\'สหพัฒน์\' พลิกธุรกิจแสนล้าน ขี่คลื่นดิจิทัลสู่ทศวรรษที่ 8

เท้าความถึงอาณาจักร “สหพัฒน์” มี “ดร.เทียม โชควัฒนา” เป็นผู้วางรากฐานธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ โดยเริ่มต้นจากการเปิดร้านค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ดในชื่อ “เฮียบเซ่งเชียง” เมื่อปี 2585 จากนั้นขยับขยายกิจการให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนมีบริษัทในเครือร่วม 300 บริษัท ทั้งก่อตั้งเอง และร่วมทุนกับ “พันธมิตร” (Strategic partners) นานาประเทศ โดยเฉพาะ “ญี่ปุ่น” มีความสนิทแนบชิดกันอย่างมาก ถือเป็น “จิ๊กซอว์” ที่ช่วยให้สหพัฒน์กลายเป็นองค์กรธุรกิจที่แข็งแกร่งอย่างยาวนานจวบจนทุกวันนี้

ปัจจุบันการขับเคลื่อนค่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์แห่งนี้ปรากฏภาพแม่ทัพใหญ่ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ในฐานะ “ประธานเครือสหพัฒน์” บุตรคนที่ 3 ของดร.เทียม จากทั้งหมด 8 คน แต่กระนั้น “บุณยสิทธิ์” ยังมีพี่น้องที่ร่วมหัวจมท้ายทำงานขนาบข้างกันทุกคนทั้ง บุณย์เอก-บุญปกรณ์-บุญชัย-บุญเกียรติ-ศิรินา-ณรงค์ โชควัฒนา

ขณะที่การปรากฏภาพต่อสาธารณะจะเห็น “3ทหารเสือ” คือ “บุณยสิทธิ์-บุญชัย-บุญเกียรติ” รับบทสำคัญบนเกมธุรกิจการค้า และระยะหลัง “ทายาทโชควัฒนา” ตลอดจนเพื่อนพ้องน้องพี่ ญาติสนิท มิตรสหาย “ตระกูลอื่น” ที่มีส่วนร่วมสร้างธุรกิจแต่ละกลุ่มยังเข้ามามีบทบาทในอาณาจักรมากขึ้น เช่น พะเนียงเวทย์, ธรรมโมนัย, ปวโรฬารวิทยา, วิลาสศักดานนท์, ธนสารศิลป์ และมนูญผล เป็นต้น ซึ่งหากนับนิ้วทายาทที่มีร่วม 30-40 ชีวิต แต่เข้ามาเรียนรู้งานและรับการถ่ายทอดเคล็ดลับวิชาการทำธุรกิจมีอยู่ประมาณ 17 ราย
เช่น ธรรมรัตน์ โชควัฒนา, ธีรดา อำพันวงษ์, ฐิติภูมิ โชควัฒนา บุตรชายคนโต บุตรสาวคนรอง และบุตรคนเล็กของบุณยสิทธิ์, เวทิต โชควัฒนา บุตรชายคนที่สองของ “บุณย์เอก” พี่ชายคนโตของบุณยสิทธิ์, พิภพ โชควัฒนา บุตรชายของ “บุญปกรณ์” พี่ชายคนรองของบุณยสิทธิ์, ประวรา เอครพานิช-ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา บุตรสาวและบุตรชายของ “ศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา”,พจนา-พจนีย์-พจน์-เพชร-พัน พะเนียงเวทย์, อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย และวิชัย กุลสมภพ เขยเล็กของบุณยสิทธิ์ เป็นต้น และคนในตระกูลจะมีนัด “กินโต๊ะแชร์” เป็นประจำ และเปลี่ยน “เจ้าภาพ” เลี้ยงข้าวกันทุกสัปดาห์

\'สหพัฒน์\' พลิกธุรกิจแสนล้าน ขี่คลื่นดิจิทัลสู่ทศวรรษที่ 8

ภาพการรับรู้(Perception)ที่มีต่อเครือสหพัฒน์ ในอดีตคือการอยู่ใน “ภาคการผลิต” มีโรงงานผลิตสินค้าจำนวนมาก ครอบคลุมธุรกิจอาทิตย์อัสดงอย่าง “สิ่งทอ” ที่เคยเป็นพอร์ตโฟลิโอที่ใหญ่มากของบริษัท ปัจจุบันได้โฟกัส “ดาวรุ่ง” ในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจบริการมากขึ้น

ส่วนบริษัทหัวหอกที่ยังคงรักษา “จุดแข็ง” ของเครือไว้มีมากมาย เช่น สหพัฒนพิบูล จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า ทำตลาดแบรนด์ดังของในเครือและนอกเครือครอบคลุมอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล และสินค้าในครัวเรือน ตั้งแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า น้ำแร่มองต์เฟลอร์ ชาเขียวพร้อมดื่มยูนิฟ ผงซักฟอกเปา ยาสีฟัน-แปรงฟันซิสเท็มมา ร่วมทุนกับลอว์สัน อิงค์ เจแปน เปิดร้านสะดวกซื้อ “ลอว์สัน 108” เป็นต้น

ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ลุยธุรกิจแฟชั่น ขายสินค้าแบรนด์ไทยควบคู่อินเตอร์แบรนด์ เช่น บีเอสซี, ลาคอสต์, กีลาโรช, แด็กซ์ฯ ไทยวาโก้ ผลิตและจำหน่ายชุดชั้นใน “วาโก้” เบอร์ 1 ในตลาดชุดชั้นในสตรี, ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 “มาม่า”, ไลอ้อน (ประเทศไทย) ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ยาสีฟัน-แปรงฟันแบรนด์ ซิสเทมม่า ซอลส์ ผงซักฟอกเปา วิปโฟมอาบน้ำโชกุบุสสึ ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กแบรนด์โคโดโมฯ, สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งส์ รับหน้าที่ลงทุนในธุรกิจ มี “โอกาส” เติบโตสูง เช่น อาหารและเครื่องดื่ม(ฟาร์มเฮ้าส์ มาม่าฯ) สินค้าอุปโภคบริโภค และพัฒนาสวนอุตสาหกรรม เป็นต้น

ในระยะหลัง บุณยสิทธิ์ เริ่มถอยมาอยู่เบื้องหลังมากขึ้น เพื่อเปิดทางให้บรรดาทายาทได้แสดงฝีไม้ลายมือก่อรับไม้ต่อเต็มตัว แต่เพราะเป็นคนมีวิชั่นว่า “เป็นอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นหนึ่ง” ทำให้เป็นเหมือนการทิ้งโจทย์ท้าทายแก่ทายาทไปในตัว แต่ผลงานอาจยังไม่เป็นดั่งใจนัก

“ที่ห่างไกลคือทุกอย่างต้องเป็น นัมเบอร์วัน สหพัฒน์ต้องนำอยู่เรื่อย แต่เพราะมันไม่เป็นที่ 1 ชั้นเลยอึดอัดใจอยู่นี่ไง วาโก้แม้จะเป็นที่ 1 ถ้าทำไม่ให้ดีกว่านี้ก็มีโอกาสเป็นที่ 2 ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ มาม่าเป็นที่ 1 แล้ว แต่สินค้าตัวอื่นยังไม่เป็นที่ 1 น่ะสิ” บุณยสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ”

ความเก่าแก่ และ “เก๋า” ประสบการณ์ในสังเวียนธุรกิจ กลับกันอาจเป็น pain point และ “จุดอ่อน” ให้องค์กรยักษ์ใหญ่มี “ความเสี่ยงได้ ช่วงรอยต่อเจเนอเรชั่น จึงเห็นการ Next Step ที่ถือเป็น Big Move ของเครือคือการ “ทรานส์ฟอร์ม” องค์กรให้พร้อมรับ “สึนามิ” เทคโนโลยี ดิจิทัลที่ “ดิสรัป” โลกธุรกิจ “เร็ว” และ “แรง”

สหพัฒน์ พนักงานมากกว่า 1 แสนชีวิต ดูแลสินค้ากว่า 1,000แบรนด์ จำนวนมากกว่า 3,000 รายการ(เอสเคยู) การทรานส์ฟอร์มจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องทำ ตั้งแต่ดึง “คนรุ่นใหม่” เข้ามาทำงานร่วมกับนักบริหารวัยเก๋ามากขึ้น โดยเฉพาะความเก่งกาจด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล ค้าขาย ทำตลาดออนไลน์ เข้าใจผู้บริโภคโลกโซเชียล ผสานกับคนยุคก่อนที่ผ่านร้อนหนาวมามาก ก่อร่างสร้างธุรกิจจากเล็กจนใหญ่โต ประสบการณ์ทำให้อ่านเกมขาดและยังเป็น “ภูมิคุ้นกัน” ความเสี่ยงในอนาคตได้ จะเป็น “แต้มต่อ” ในการสานอาณาจักร
“คนเก่าเก๋าประสบการณ์ แต่คนที่อายุเลย 60 ปี อาจต้องชิดซ้าย เพราะเข้าไม่ถึงบิ๊กดาต้า ต้องเปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามา เพราะเร็วและรู้โซเชียลมีเดียต่างๆ การรุกใช้บิ๊กดาต้า ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆมารองรับการค้าขาย ขยายช่องทางใหม่ๆ”

ยุคที่ Big Data เป็น Big Word ที่ช่วย “แก้ปัญหา” ยังมั่นใจว่า คนรุ่นใหม่จะใช้ขุมทรัพย์ข้อมูลที่เครือสหพัฒน์มี นำไปวิเคราะห์ อ่านใจผู้บริโภคเพื่อผลิตสินค้าป้อนกลุ่มเป้าหมายได้ “แม่นยำ” ยิ่งขึ้น และ Data ที่มี ยังเอื้อต่อการผลิตสินค้าใหม่ๆบุกตลาด เสริมทัพสินค้าเดิมอีกแรง

“ทุกวันนี้ออกสินค้าใหม่มาอย่าหวังว่าจะอยู่ได้นานๆ แบรนด์ต้องทำการตลาดหรือใส่ปุ๋ยต่อเนื่อง ถ้าไม่ทำตลาดเลยสินค้าจะไม่โตและโดนคู่แข่งแซงๆ”

ขณะที่การค้าขาย ไม่ยึดติดกับการผลิตแบบเดิมๆอีกต่อไป แต่แสวงหา “ขุมทรัพย์” ใหม่ จากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการมากขึ้น ทำให้หลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หลายบริษัทในเครือปรับโครงสร้างใหม่ เช่น สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งส์ จากขนเงินไปลงทุนสิ่งทอ ก็เข้าไปถือหุ้นในธุรกิจอาหารทั้งมาม่า ฟาร์มเฮ้าส์ มากขึ้น จนบริษัทมีมูลค่าตลาด(Market cap)เกือบ 4 หมื่นล้านบาท ติด Top 10 กลุ่มธุรกิจอาหาร เป็นต้น

ไม่หมดเท่านั้น เพราะธุรกิจบริการที่สหพัฒน์เล็ง ไม่ได้ลุยลำพัง แต่พึ่งพลังพันธมิตร เช่น ผนึกทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดตัว ร้านค้าอัจฉริยะแบบไม่มีพนักงาน ‘ฮิส แอนด์ เฮอร์ สมาร์ทชอป’ อวดโฉมในงานสหกรุ๊ป แฟร์ 2562 โดยร้านพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีเอไอ รองรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในอนาคตที่จะมีการซื้อขายสินค้าผ่านสมาร์ทโฟน รวมทั้งการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต รับไลเซ่นส์ โรงเรียนนานาชาติ คิงส์ คอลเลจ จากอังกฤษ มาเปิดในไทยด้วยงบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ผนึก LAZADA พัฒนาออนไลน์ชอปปิง ร่วมกับกลุ่มโคเมะเฮียว บุกตลาดแบรนด์เนมมือสอง จับมือโตคิว คอร์ปอเรชั่น บุกอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโรงแรม 4-5 ดาว คอนโดมิเนียม ร่วมกับซูรูฮะ ขยายธุรกิจค้าปลีกสเปเชียลตี้สโตร์, ลอว์สัน อิงค์ เจแปน รุกร้านสะดวกซื้อ และ SEINO HOLDINGS ชักธงรบโลจิสติกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเห็นว่า “ช่องทางขาย” จากหน้าร้านหรือออฟไลน์ สหพัฒน์ กระจายสู่ “ออนไลน์” มากขึ้น ทั้งwww.ethailandbest.com ทีวีชอปปิงหรือโฮมชอปปิง มีโฮมเดลิเวอรี่สั่งซื้อและส่งสินค้า 24 ชั่วโมงผ่าน http://www.sahapatdelivery.com/ (เฉพาะกทม.ปริมณฑล และชลบุรี) นับว่าเป็นการ “สลัดภาพ” ค้าขายแบบเดิมๆ สู่โมเดลใหม่ๆมากขึ้นจริงๆ

“เดิมมุ่งขายสินค่าเฉพาะช่องทางเดียวหน้าร้าน ต้อนนี้ต้องทำมัลติชาแนล ต้องรู้จักผู้บริโภคให้มาก คนไทยใช้เฟสบุ๊คมากสุดในโลก เทคโนโลยี 4G ทำให้การสื่อสารเร็ว ผู้บริโภคแค่มีมือถือจะทำอะไรก็ได้ทั้งซื้อสินค้า ซื้อความสุขได้ทันทีโดยไม่ต้องเข้าไปในศูนย์การค้า ร้านแผงลอยอีกต่อไป”

การทรานส์ฟอร์มครั้งนี้ บุณยสิทธิ์ มั่นใจว่าองค์กรเก่า 7 ทศวรรษ จะเป็น “ยักษ์ใหญ่เคลื่อนตัวเร็ว” ป้องกันการโดนการ “ล้ม” โดยธุรกิจขนาดเล็กที่สปีดเร็วได้ด้วย

“โลกธุรกิจจะเป็นยุคของเร็วกินช้า สมัยก่อนใหญ่กินเล็ก ตอนนี้ใหญ่ไป ถ้าช้าเสร็จเล็ก ถ้าเร็วชนะ! ขณะที่การทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล จะทำให้เรามีความคล่องตัว แต่การทรานส์ฟอร์มต้องทำไปเรื่อยๆ เพราะมีเรื่องให้ต้องทำค่อนข้างมาก”